วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > On Globalization > Four Four Bravo และ 3 ทศวรรษที่สูญหาย ของ Jaffna

Four Four Bravo และ 3 ทศวรรษที่สูญหาย ของ Jaffna

Column: AYUBOWAN

 

หากกล่าวถึงหัวเมืองสำคัญที่อุดมด้วยสีสันและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศรีลังกา เชื่อว่า 1 ในหัวเมืองเหล่านั้นต้องจารึกชื่อของ Jaffna ไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนที่เดินทางของนักสำรวจความเป็นมาและเป็นไปของผืนแผ่นดิน Serendib แห่งนี้

 

เพราะอดีตกาลของ Jaffna สามารถสืบย้อนหลังกลับไปได้ไกลถึงกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อกว่า 4,000 ปีล่วงมาแล้ว เรียกได้ว่าพบหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในคาบสมุทร Jaffna นี้ก่อนที่ตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองของศรีลังกาจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก และหอสมุดแห่งเมือง Jaffna ก็คงเป็นแหล่งที่เก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลทั้งอดีตกาลอันจำเริญ และประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่ขมขื่นไว้ให้ได้ค้นหาอย่างรอบด้าน

 

ความเป็นไปของ Jaffna เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ไม่เฉพาะต่อพัฒนาการในศรีลังกาเท่านั้น หากยังมีรากฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงไปสู่อินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่อย่างยากจะแยกออก โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ราชอาณาจักร Jaffna หรือ Jaffna Kingdom (1215-1624) เกิดขึ้นจากการถอยร่นและรุกรานเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกองกำลังที่นำโดย Kalinga Magha จากอินเดีย ก่อนที่จะสถาปนาราชวงศ์ Aryacakravarti ที่มีรากฐานยึดโยงกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวทมิฬ และจักรวรรดิโบราณของชาวทมิฬ 3 ราชวงศ์ทั้ง Chola, Chera และ Pandyan รวมถึงศูนย์กลางใน Tamil Nadu รัฐทางตอนใต้ของอินเดียด้วย

 

เมื่อกองกำลังมุสลิมรุกเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียตอนใต้ ซึ่งทำให้อาณาจักร Pandyan ของชาวทมิฬบนแผ่นดินใหญ่อินเดียอ่อนกำลังลง ราชวงศ์ Aryacakravarti ทางตอนเหนือของศรีลังกาจึงสถาปนาอาณาจักร Jaffna ขึ้นมาเป็นเอกเทศ และมุ่งหมายที่จะขยายอิทธิพลครอบครองดินแดนทั้งหมดบนพื้นที่เกาะศรีลังกาในเวลาต่อมา

 

ประวัติการณ์ของอาณาจักร Jaffna บนหนทางแห่งความเป็นไปของศรีลังกา ในด้านหนึ่งจึงเกิดขึ้นควบคู่กับการอพยพของชนพื้นเมืองชาวสิงหลเพื่อหลีกหนีอำนาจการปกครองของอาณาจักรที่เกิดขึ้นจากผู้รุกรานภายนอกลงสู่พื้นที่ทางตอนใต้ และชายฝั่งทะเลตะวันตก โดยมีบางส่วนอพยพหลบหนีขึ้นสู่พื้นที่ป่าเขาทางตอนกลางของประเทศ

 

ก่อนที่อาณาจักร Kotte ของชาวสิงหลซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ Sri Jayawardenepura Kotte ใกล้กับที่ตั้งของโคลัมโบและมีสถานะเป็นเมืองศูนย์ราชการของศรีลังกาในปัจจุบันจะเข้าสยบอำนาจของอาณาจักร Jaffna ลงไปในปี 1450 เพื่อรวบรวมอาณาจักรศรีลังกาให้อยู่ภายใต้การปกครองของชาวสิงหลอีกครั้ง และเป็นส่วนหนึ่งในปมประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ที่รอคอยการปะทุแตกในกาลต่อมา

 

เพราะพลันที่ศรีลังกาได้รับเอกราชพร้อมกับการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยลักษณะสัญชาติและการเป็นพลเมือง ซึ่งมีลักษณะเลือกปฏิบัติและกีดกันไม่ให้ชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬอินเดียได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง ทำให้ชาวทมิฬจำนวนกว่า 7 แสนคน อยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการเป็นบุคคลไร้สัญชาติไปโดยปริยาย

 

ร่องรอยแห่งปัญหาทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลของ Solomon West Ridgeway Dias (S.W.R.D.) Bandaranaike ที่ได้รับเลือกตั้งในปี 1956 ประกาศตัวเป็นผู้พิทักษ์และปกป้องวัฒนธรรมของชาวสิงหล ด้วยการออกกฎหมาย “สิงหลเท่านั้น” (Sinhala Only Act) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวทมิฬ เพราะถือเป็นการกีดกันและตัดโอกาสชาวทมิฬ ก่อนที่ความไม่พึงพอใจจะถูกยกระดับให้กลายเป็นเหตุจลาจลอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

 

ความพยายามที่จะปลดปล่อยและแยกตัวเป็นเอกราชของชาวทมิฬในศรีลังกาเริ่มปรากฏชัดในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเอกสารเกี่ยวกับการสถาปนารัฐ “ทมิฬอีแลม” เริ่มแพร่หลายในวงกว้างก่อนที่จะขึ้นสู่จุดแตกหักทางกำลังเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1983 จากเหตุการณ์ที่กองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) เริ่มปฏิบัติการซุ่มโจมตีกองทัพรัฐบาลในคาบสมุทร Jaffna ซึ่งถือเป็นประหนึ่งวันเสียงปืนแตกในแบบของศรีลังกากันเลยทีเดียว

 

ชุดลาดตระเวนของกองทัพศรีลังกาจำนวน 15 นาย ภายใต้รหัสเรียกขาน Four Four Bravo ถูกสังหารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและบางส่วนเสียชีวิตระหว่างส่งตัวไปสถานพยาบาล สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหลอย่างมาก ก่อนที่จะนำไปสู่เหตุจลาจลที่มีชาวทมิฬเป็นเป้าของการโจมตีทั่วประเทศ (anti Tamil pogrom) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการเรียกขานว่า Black July ในเวลาต่อมา กลายเป็นอีกหนึ่งรอยปริร้าวระหว่างสิงหลและทมิฬที่ซึมลึกลงไปในจิตใจ โดยชาวทมิฬจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเดินทางอพยพไปอยู่ต่างประเทศภายหลังเหตุการณ์นี้

 

Jaffna ถูกดึงให้กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งที่ต้องดำรงอยู่ภายใต้เงามืดแห่งสงครามกลางเมือง มาตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษไปโดยปริยาย ซึ่งมิได้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้คนภายในศรีลังกาเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ทำให้อินเดียในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาคและเพื่อนบ้านของศรีลังกาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในที่สุด

 

นอกจากผู้คนในรัฐ Tamil Nadu ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับชาวทมิฬในศรีลังกา จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬ ทั้งในมิติของการเป็นที่พักพิง การฝึกกองกำลัง และสนับสนุนด้านการเงินให้กับกองกำลังติดอาวุธ ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ อินเดียพยายามแทรกแซงกิจการภายในของศรีลังกามาตั้งแต่ยุคของอินทิรา คานธี (19 November 1917–31 October 1984) ด้วยการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทมิฬ ผ่านกลไกของ Research and Analysis Wing (RAW) มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ1980

 

ยุทธการ Operation Poomalai ซึ่งกองทัพอากาศอินเดียส่งอาหาร ยารักษาโรคและยุทธปัจจัยให้กับกองกำลัง LTTE ที่เมือง Jaffna เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1987 ในช่วงเวลาที่รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่าใกล้จะเผด็จศึก LTTE ได้สำเร็จ กลายเป็นหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าอินเดียให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในศรีลังกา ก่อนที่จะติดตามมาด้วยการเจรจาและลงนามใน Indo-Sri Lanka Peace Accord ที่โคลัมโบเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม1987 หรือ 4 ปีให้หลังจากกรณี Black July ในปี 1983

 

ข้อตกลง Indo-Sri Lanka Peace Accord ซึ่งลงนามโดย Rajiv Gandhi นายกรัฐมนตรีอินเดียและ Junius Richard Jayewardene ประธานาธิบดีศรีลังกา นำไปสู่การส่งกองกำลังอินเดียเข้าสู่พื้นที่ความขัดแย้งใน Jaffna และควบคุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของศรีลังกาไว้ ในนามของกองกำลังรักษาสันติภาพ (Indian Peace Keeping Force: IPKF) ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจในหมู่ชาวศรีลังกาโดยเฉพาะชาวสิงหลอย่างมาก

 

กองกำลังรักษาสันติภาพจากอินเดียกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่ม LTTE ในเวลาต่อมาหลังจากที่กลุ่มทมิฬกลุ่มอื่นๆ ทยอยถอยออกจากสงครามด้วยการยอมวางอาวุธและแสวงหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ แต่ LTTE ยังคงปักหลักต่อสู้บนหนทางปืนและยึด Jaffna ไว้เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวต่อไป

 

ในเดือนตุลาคม 1987 ภายใต้รหัสเรียกขาน Operation Pawan หรือ “ยุทธการสายลม” ในภาษาฮินดี กองกำลังอินเดียได้เข้าปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นของ LTTE ใน Jaffna อย่างรุนแรง โดยหวังว่าจะสามารถทำลายความเข้มแข็งของ LTTE และสามารถยึดครอง Jaffna แต่การณ์กลับมิได้เป็นไปตามประสงค์และ Operation Pawan กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวก่อนที่ IPKF จะถอนตัวออกจากศรีลังกาในปี 1990 พร้อมกับร่องรอยความปริร้าวทางการเมืองภายในอินเดียเองด้วย

 

เพราะการตัดสินใจส่งกองกำลัง IPKF เข้าปฏิบัติการในศรีลังกาของ Rajiv Gandhi กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เขาสูญเสียคะแนนนิยมและต้องพ้นจากตำแหน่งในปี 1989 ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารในปี 1991 ระหว่างรณรงค์หาเสียงที่ Sriperumbudur ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง Chennai เมืองหลวงของรัฐ Tamil Nadu ด้วยระเบิดพลีชีพจากสมาชิกหญิงของ LTTE โดยเหตุการณ์นี้กลายเป็นพล็อตและฉากหลังของภาพยนตร์ “Madras Café” ในปี 2013 ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้ชื่อ “Jaffna” ด้วยซ้ำ และเป็นภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์จากชาวทมิฬในยุคหลังสงครามกลางเมืองนี้ไม่น้อยเลย

 

แม้สงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กันด้วยอาวุธและฆ่าผลาญชีวิตผู้คนของศรีลังกาจะยุติลงไปแล้ว นับตั้งแต่เมื่อปี 2009 พร้อมกับการตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะในนาม Lessons Learnt and Reconciliation Commission (LLRC) เพื่อศึกษาและพิจารณาแนวทางในการเสริมสร้างความปรองดองและสันติภาพให้เกิดขึ้น

 

แต่ฉากชีวิตของ Jaffna ที่เคยรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าและสถานีการค้า ซึ่งถูกทำให้ต้องจ่อมจมอยู่บนเศษซากของสงคราม ดูจะเพิ่งเริ่มต้นและยังต้องก้าวเดินบนหนทางไกล ก่อนที่จะพลิกฟื้นกลับมาสร้างนิยามความหมายครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นกับคาบสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือของศรีลังกานี้อีกครั้ง

 

 

เครดิตภาพ : Tamilnet.com