วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > พระบิดาแห่งพลังงานไทย พลิก “วิกฤตน้ำมัน”

พระบิดาแห่งพลังงานไทย พลิก “วิกฤตน้ำมัน”

 
 
แม้ราคาน้ำมันหลายเดือนที่ผ่านมาอยู่ในช่วงขาลง แต่ยอดการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้รถยนต์ของคนไทย ต้องสูญเสียเม็ดเงินนำเข้า ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปหลายแสนล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบในสัดส่วนมากกว่า 80% ของการจัดหาน้ำมัน หรือผลิตได้ในประเทศเพียง 17% ยิ่งตลาดน้ำมันโลกผันผวน เกิดวิกฤตราคาพุ่งพรวด นั่นหมายถึงการสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมหาศาล 
 
ทั้งหมดล้วนอยู่ในพระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งในหนังสือ “72 ปี แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง” เล่าว่า พระองค์ทรงรับสั่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 แล้วว่าค่ารถจะแพง แปลว่าน้ำมันจะแพง และรับสั่งให้ทดลองผลิตแอลกอฮอล์ทำน้ำมันเชื้อเพลิง ทำเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ ในสวนจิตรลดา
 
“ตอนนั้นทรงมีพระราชปรารภว่าเมืองไทยกำลังเห่อปลูกต้นยูคาลิปตัส ที่ไหนๆ ก็ปลูกหมด ยูคาลิปตัส 3 ปี จึงจะตัดได้ ท่านรับสั่งว่า ระหว่าง 3 ปีเขาจะเอาอะไรกิน แต่ถ้าเผื่อปลูกอ้อย ปลูกทุกปีขายได้ทุกปี เอาอ้อยมาทำแอลกอฮอล์ เอาแอลกอฮอล์มาผสมเบนซิน เราก็ทดลองผสมตั้งแต่ 10% ทั้งเบนซิน ทั้งน้ำมันดีเซล ใช้ได้ รถยนต์ของโครงการส่วนพระองค์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีโซลฮอล์”
 
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงเริ่มต้นจริงจังในปี 2528 โดยพระราชทานเงินทุนวิจัยเริ่มต้นจำนวน 925,500 บาท ทดลองตั้งแต่การปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุด และรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบด้วย 
 
โรงงานแอลกอฮอล์ ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี 2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91% ในอัตรา 2.8ลิตรต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และสร้างอาคารศึกษาวิจัยหลังใหม่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
 
โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมาจนสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มทดลองนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเติมเครื่องยนต์ ทว่า การใช้ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% มีน้ำผสมอยู่ด้วย ต้องนำไปกลั่นแยกน้ำเพื่อให้ได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ก่อนนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน
 
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจึงนำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ไปผ่านกระบวนการแยกน้ำที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้เอทานอล และนำกลับมาผสมกับน้ำมันเบนซินที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
 
ปี 2537 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอล เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 ในอัตราส่วน 1:9 ได้เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เติมรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
 
วันที่ 10 พฤษภาคม 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิง โดยโรงกลั่นใหม่นี้มีกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ได้ชั่วโมงละ 25 ลิตรในกระบวนการกลั่นจะได้น้ำกากส่าเป็นน้ำเสีย ซึ่งส่วนหนึ่งใช้รดกองปุ๋ยหมักของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์
 
ทั้งนี้ การผสมแอลกอฮอล์กับเบนซินของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในระยะแรกเป็นการนำน้ำมันและเอทานอลมาผสมในถังธรรมดา ใช้แรงงานคนเขย่าให้เข้ากัน ต่อมาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังมีสถานะเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในเวลานั้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหอผสมและสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์แก่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รวมทั้งมีภาคเอกชนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องแยกน้ำออกจากเอทานอล (Dehydration Unit) 2 แบบ คือ เครื่อง Molecular Sieve Dehydration Unit และเครื่อง Membrane Dehydration Unit
 
ถือได้ว่าสถานีบริการเชื้อเพลิงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นอกจากผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการแล้ว งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดายังเป็นแหล่งความรู้แก่ประชาชนที่สนใจอีกด้วย
 
ช่วงปี 2528-2530 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทดลองเปิดจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ แต่ทำได้ระยะหนึ่งต้องหยุดไป เพราะราคาน้ำมันเบนซินในเวลานั้นถูกกว่าราคาแอลกอฮอล์ 95% จึงไม่คุ้มค่ากับการนำมาจำหน่าย 
 
อย่างไรก็ตาม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดายังเดินหน้าศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างต่อเนื่อง และในเวลาต่อมาเกิดวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงน้อมนำผลการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงานทดแทนตามพระราชดำริมาต่อยอดขยายผลในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็ว
ปี 2544 บมจ.ปตท. ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเริ่มจำหน่าย ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต 
 
ขณะที่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% จากมันสำปะหลัง แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10%  ทดแทนสารเพิ่มออกเทน MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 และทดลองจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นครั้งแรก นำร่องในสถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง คือ สถานีบริการน้ำมันถนนติวานนท์ ถนนพหลโยธิน ถนนเจริญกรุงตัดใหม่ และถนนนวมินทร์ จนกระทั่งเปิดจำหน่ายทั่วประเทศผ่านสถานีบริการ มากกว่า 1,000 แห่ง รวมถึงนำเอทานอลมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นรายแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547
 
อีกด้านหนึ่ง  โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งจากการทดสอบพบว่า น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล และในวันที่ 9 เมษายน 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล”
 
เวลานั้น ปตท. และบางจากต่างต่อยอดการผลิตและเปิดจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ตั้งแต่ปี 2544 และได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ทั้งประโยชน์ที่เห็นชัดเจนจากการใช้น้ำมันราคาถูกลงกว่าเดิม ช่วยเหลือเกษตรกร เพราะใช้วัตถุดิบจากเกษตรกร ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงและยังช่วยลดมลพิษในอากาศด้วย รัฐบาลใช้เวลาประชาสัมพันธ์เพียงไม่กี่ปี น้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 
สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ธุรกิจพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนกลายเป็นกิจการที่มีอนาคต ทั้งในแง่ผลตอบแทนการลงทุนและการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หุ้นพลังงานถือเป็นหุ้นที่มีศักยภาพสูง รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579 หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) ของกระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มเป็น 30% หรือจะมีการใช้เอทานอลไม่น้อยกว่า 11.3 ล้านลิตร ภายในปี 2579
 
ล่าสุด กำลังผลิตเอทานอลรวมประเทศไทยอยู่ที่ 5 ล้านลิตร/วัน จาก 21 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ 9 โรง รวมกำลังผลิต 1.9 ล้านลิตร/วัน โรงงานที่ใช้น้ำอ้อย-กากน้ำตาล 1 โรง กำลังผลิต 230,000 ลิตร/วัน โรงงานที่ใช้มันสำปะหลังและกากน้ำตาล 4 โรง กำลังผลิต 850,000 ลิตร/วัน และโรงงานที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบรวม 7 โรง กำลังผลิต 1.4 ล้านลิตร/วัน  ซึ่งหมายถึงศักยภาพในอนาคตอีกจำนวนมาก 
 
เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งหมดล้วนเป็นพระวิสัยทัศน์ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างองค์รวม รอบด้าน ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ สามารถพลิกวิกฤตราคาน้ำมันและพลังงานสู่โอกาสในอนาคต  
 
ถือเป็น “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” อย่างแท้จริง