วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > มาม่า ปลากระป๋อง เมนูบ้านๆ สะท้อนยุคของแพง

มาม่า ปลากระป๋อง เมนูบ้านๆ สะท้อนยุคของแพง

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องกลายเป็นอีกดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ในฐานะเมนูยามยากช่วงปลายเดือนของคนรายได้น้อยและอยู่ในครัวคนไทยมานานหลายสิบปี นั่นทำให้การขึ้นราคาสินค้าทั้งสองตัว สะท้อนยุค “ข้าวยากหมากแพง” และวิกฤตเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มสูง ท่ามกลางผลกระทบหลายด้าน ทั้งพิษน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือนพุ่งพรวด

หากย้อนกลับไปช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคแห่ขึ้นราคาขายส่งตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มปลากระป๋องปรับเพิ่มถึง 4 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งมาม่า ไวไว ยำยำ และอีกหลายยี่ห้อ ประกาศขึ้นราคาซองละ 1 บาท หลังได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ทุกวันนี้ เมนูบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใส่ปลากระป๋องที่หลายคนมักทำกินช่วงปลายเดือนไม่ใช่อาหารราคาถูกเหมือนอดีต บะหมี่ซองละ 8-15 บาท ปลากระป๋อง กระป๋องละ 15-20 บาท หรือ 1 มื้อ 1 คน ไม่ต่ำกว่า 30-35 บาท หากสั่งเมนูต้มยำปลากระป๋องตามร้านอาหาร ขั้นต่ำ 50 บาทต่อจาน

ขณะเดียวกันบรรดาผู้ผลิตอาหารกระป๋องต่างเร่งขยายฐานลูกค้ารุกกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งสร้างภาพลักษณ์และคิดค้นเมนูหลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าและโครงสร้างราคาใหม่ แต่ยังคงกลุ่มอาหารกระป๋องรุ่นคลาสสิกรองรับกลุ่มผู้บริโภคระดับแมส เพราะยังเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่

ด้านกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาสินค้า หลังไฟเขียวให้สินค้าปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคา ระบุว่า หากดูตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายนที่ประกาศออกมาล่าสุดอยู่ที่ 6.41% ชะลอตัวลงจากเดือนสิงหาคม 2565 ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร

แต่ยอมรับว่า ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากการทยอยปรับราคาตามต้นทุนในช่วงก่อนหน้า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ บุหรี่ เบียร์ สุรา กลุ่มอาหารสด กลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ อาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยผลสำรวจ EIC Consumer Survey 2022 พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคยุคข้าวยากหมากแพง พบว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย หรือรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนผู้ที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นสูงที่สุด

ส่วนช่วง 6 เดือนข้างหน้าหรือครึ่งปีหลัง ผู้บริโภค 43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย ส่งผลให้ต้องเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาเงินออมลดลง และปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีสภาพคล่องรองรับค่อนข้างน้อยและมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้บริโภคถึง 64% กำลังเผชิญปัญหาด้านใดด้านหนึ่งใน 3 ด้าน และราว 42% กำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ด้านพร้อมกัน สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง คนกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหามักมีสภาพคล่องทางการเงินที่จำกัด โดยกลุ่มที่มีปัญหารอบด้านส่วนมากมีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนกลุ่มที่ไม่เผชิญปัญหาที่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเหลือเกิน 1 ปี

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อหารือมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากมาตรการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมให้ลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและประชาชนจะสิ้นสุดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า และปัญหาหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินของรัฐเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

เหตุผลสำคัญ คือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงใกล้ทะลุ 90% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการมาแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งในหลายจังหวัดยังไม่ลดลงและกำลังพ่นพิษลามถึงผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าว พืชไร่ ผักต่างๆ ผลไม้ รวมถึงปศุสัตว์ อย่างเช่น ต้นหอมพุ่งสูงชนิดทุบสถิติแพงสุดในรอบ 10 ปี ราคา 200-220 บาทต่อกิโลกรัม และก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ภาพรวมความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท ทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณฟื้นฟูเร่งด่วน

ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2565 จะขยายตัวในกรอบ 3-3.5% มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7-8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6-6.5%

แต่ กกร. เป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าถูกปรับลดลงต่อเนื่อง ด้วยความเสี่ยงสูงหลายด้านและยังเผชิญต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าไฟ ค่าแรง และสินค้านำเข้าแพงขึ้น

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของทุกภาคส่วนว่า ปี 2566 ค่าไฟฟ้าจะทรงตัวระดับสูงต่อไป เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติผันแปรตามราคาน้ำมันและประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าถึง 20% หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีมีแนวโน้มแพงมาก เช่น หากราคาก๊าซแอลเอ็นจีอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบเป็นหน่วยค่าไฟฟ้าของไทยจะสูงถึงกว่า 13.30 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น แม้หลายฝ่ายทั้งกระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทยยังเชื่อมั่นว่า แนวโน้มราคาสินค้าในปี 2566 ไม่น่าพุ่งสูงเท่าปีนี้ แต่ปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากหน่วยงานรัฐตั้งรับไม่ดีอาจเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตลามเศรษฐกิจไทยไม่สามารถฟื้นตัวตามคาด เกิดผลกระทบเป็นโดมิโนขึ้นอีก.