วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > TUF กระหายเติบโต

TUF กระหายเติบโต

บมจ.ทียูเอฟ เป็นองค์กรเริ่มต้นจากธุรกิจเอสเอ็มอีเล็กๆ ขยายไปเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถไปยึดพื้นที่ในตลาดโลกได้สำเร็จ จนทำให้บริษัทหาญกล้าวางเป้าหมายว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า จะต้องมีรายได้ทะลุกว่า 2 แสนล้านบาท

กว่า 35 ปี บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) โลดแล่นอยู่ในธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลที่มีรายได้หลักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากต่างประเทศ ทำให้วันนี้บริษัทอยู่ในระดับ TOP 5 ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 20-25 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลก

การขึ้นไปอยู่ใน TOP 5 ตลาดโลกอาจเกินความคาดหมาย หากย้อนเวลาไปสู่รุ่นก่อตั้ง ไกรสร จันศิริ วัย 77 ปี ประธานกรรมการ บมจ.ทียูเอฟ เพราะธุรกิจในช่วงเริ่มต้นเริ่มจากธุรกิจเล็กๆ เป็นผู้ผลิตกุ้งสดแช่แข็งส่งออกไปฮ่องกงและมีลูกค้าต่างประเทศ รายหนึ่งกล่าวว่า “จากนี้ไปธุรกิจอาหารจะมีความสำคัญ”

หลังจากนั้นธุรกิจของบริษัทเริ่มขยายรับจ้างผลิตอาหารทะเลแช่แข็งทุกชนิด กุ้ง ปลา หอย ปลาหมึก ในขณะนั้นมีโรงงานผลิตอยู่ 2 แห่ง คือ บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร และบริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด ส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้นตามลำดับ

ไกรสรและน้องชายพร้อมกับเพื่อนๆ อีก 2-3 คน ได้สานธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีโอกาสเข้าไปร่วมทุนธุรกิจปลาทูน่ากับกลุ่มนักธุรกิจรัสเซีย ซึ่งมีความชำนาญ อาหารทะเลแช่แข็ง ทำให้บริษัทมีกำไรในตอนนั้น 10 ล้านบาท จึงสร้างความมั่นใจต่อผู้บริหารและพนักงานว่าสามารถผลิตอาหารแช่แข็งได้

เกือบ 20 ปี บริษัทมีบทบาทเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original equipment manufac-turer: OEM) โดยติดแบรนด์ให้กับลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศในอาเซียนบางส่วน ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มโตอย่างก้าวกระโดดและทวีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อนำบริษัททียูเอฟเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2537

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงการมีตลาดอยู่ในสหรัฐ อเมริกาและยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ ทำให้มุมมองธุรกิจเริ่มเปลี่ยน ไปจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต บริษัทเริ่มสนใจจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง จึงเริ่มสร้างแบรนด์ภายในประเทศ เช่น ซีเล็คทูน่า และปลาฟิชโช่

ในส่วนธุรกิจต่างประเทศ บริษัทฯ เข้าซื้อบริษัท Van Camp Sea-foods ผู้ผลิตปลาทูน่าและปลาแซลมอน ธุรกิจในสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของแบรนด์ Chicken of the sea ซึ่งบริษัทได้ซื้อในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นจังหวะที่ดีของบริษัทฯ เนื่อง จากไม่ประสบปัญหาด้านการเงิน ในทางตรงกันข้ามกลับมีรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะสินค้าส่วนใหญ่ส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก และซื้อ-ขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

การเข้าบริหารแบรนด์ chicken of the sea โดยร่วมทุน กับพันธมิตรอิตาลี ถือหุ้นรายละ 50 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นผู้ถือ หุ้นอิตาลีขายหุ้นให้ จึงเป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทเริ่มมีความมั่นใจในการบริหารธุรกิจในต่างประเทศและมีเป้าหมาย ที่จะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ มาครอบครอง

โอกาสของ บมจ.ทียูเอฟเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2551 เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และลุกลามไปยังยุโรป ส่งผลกระทบให้บริษัท เอ็มดับบลิวแบรนด์ส ผู้ผลิตปลาทูน่าชั้นนำของประเทศฝรั่งเศสต้องประกาศขายกิจการในปี 2553

บริษัททียูเอฟเป็นหนึ่งที่เข้าร่วมประมูลและประมูลชนะในราคา 680 ล้านยูโร หรือ 28,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนที่สูงที่สุด ในประวัติศาสตร์การลงทุนของกลุ่มทียูเอฟ

อย่างไรก็ดีก่อนการประมูลทียูเอฟได้เตรียมงบประมาณไว้ 720 ล้านบาท แต่ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจและค่าเงินผันผวนจึงทำให้ บริษัทประหยัดงบลงทุนไปถึง 4,000 ล้านบาท

ความสำเร็จในการซื้อบริษัท เอ็มดับบลิวแบรนด์ส เมื่อปี 2553 เป็นความพยายามครั้งที่สองเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ เพราะหากย้อนหลังไป 4 ปี บริษัทเคยเข้าร่วมแข่งประมูลซื้อเอ็มดับบลิว แบรนด์ส แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกองทุนที่มีเงินทุนหนากว่า

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริษัท บมจ.ทียูเอฟเปิดเผยกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า การซื้อบริษัท เอ็มดับบลิวแบรนด์สเป็น จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการเข้าไปรุกตลาดโลก จากก่อนหน้านั้นบริษัทมีบทบาทเป็นเพียงผู้ผลิต (OEM) ให้เท่านั้น

การเข้าซื้อกิจการบริษัท เอ็มดับบลิวแบรนด์ส ธุรกิจปลาทูน่า ทำให้บริษัทสามารถยึดตลาดยุโรปได้มากขึ้น เพราะแบรนด์ ที่ผลิตภายใต้บริษัทแห่งนี้ได้รับความนิยมจากลูกค้ายุโรปอยู่แล้ว เช่น John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier, Mareblu

ไม่เพียงแต่จะได้ครอบครองแบรนด์ชั้นนำเท่านั้น แต่ยังได้เป็นเจ้าของโรงงานอีก 4 แห่ง 1. โรงงาน Ets Pual Paulet ประเทศฝรั่งเศส ผลิตอาหารทะเลพร้อมรับประทาน 2. โรงงาน European Seafood Investment Portugal ประเทศโปรตุเกส ผลิตปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล 3. โรงงาน Pioneer Food Company ประเทศกานา ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง และปลาทูน่าสุก และ 4. โรงงาน Indian Ocean Tuna ประเทศชีเซลส์ ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง และเป็นเจ้าของกองเรืออีก 9 ลำ

การมีโรงงานในยุโรปทำให้ได้รับยกเว้นภาษี 20% เมื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศยุโรปด้วยกันเอง การทุ่มทุนในครั้งนี้ทำให้บริษัทวางเป้าหมายว่าจะมีรายได้ 8,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในอีก 8 ปี (ปี 2563) หรือประมาณ 240,000 ล้าน บาท โดยเริ่มไต่ระดับจาก 4,000 ล้านเหรียญในปี 2556 และปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านเหรียญ และการปรับเป้าหมายรายได้ของบริษัทจะเห็นว่า aggressive มากขึ้น ประการสำคัญรายได้ของบริษัทได้ปรับจากเงินบาทไปเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

การขยายบทบาทจากผู้ผลิตโออีเอ็มไปเป็นเจ้าของแบรนด์ อาหารทะเลแช่แข็ง โดยเฉพาะในแบรนด์ปลาทูน่า ได้แสดงให้เห็น ว่าการบริหารจัดการในรูปแบบครบวงจรตั้งแต่วางแผน ขยายตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้สะท้อนออกมาให้เห็นแผนธุรกิจและรายได้โดยรวมของบริษัทว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ธีรพงศ์ยังยืนยันว่าธุรกิจของกลุ่มทียูเอฟจะเติบโตในรูปแบบขนานกันไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโออีเอ็มหรือธุรกิจสร้างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ละทิ้งโอกาสใดๆ

ปัจจุบันบริษัททียูเอฟมีธุรกิจครอบคลุม 4 ทวีปทั่วโลก ทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา โดยมีแหล่งวัตถุดิบจาก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมีโรงงานทั้งในประเทศและกระจายอยู่ทั่วโลกราว 10 แห่ง

ธุรกิจหลักประกอบด้วย 6 กลุ่ม คือ ปลาทูน่า กุ้งแช่แข็ง อาหารแมว ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอนและ อาหารซีฟู้ดพร้อมรับประทาน

ปัจจุบันมีการผลิตต่อปีแบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ดังนี้ ปลาทูน่า 568,000 ตัน กุ้งแช่แข็ง 75,000 ตัน อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 57,000 ตัน และปลาหมึกแห้ง 15,000 ตัน

ส่วนรายได้หลักมาจากปลาทูน่า 48 เปอร์เซ็นต์ กุ้งแช่แข็ง 19 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 7% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 6% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 5% อาหารกุ้ง 5% ปลาแซลมอนแช่แข็ง 5% ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 4%

รายได้หลักของ บมจ.ทียูเอฟกว่า 90% เป็นรายได้มาจากต่างประเทศและตลาดจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 36% ยุโรป 32% ญี่ปุ่น 10% ไทย 10% แอฟริกา 3% โอเชียเนีย 3% เอเชีย 2% ตะวันออกกลาง 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%

แม้ว่ารายได้หลักของบริษัทจะมาจากปลาทูน่าเป็นอันดับหนึ่ง และมีสัดส่วนถึง 48% แต่ธุรกิจกุ้งแช่แข็ง บมจ.ทียูเอฟก็ขยายเพิ่มขึ้น โดยร่วมทุนกับ บมจ.แพ็คฟูด ผู้ผลิตและจำหน่าย กุ้งแช่แข็งในประเทศไทยที่มีประสบการณ์มากว่า 40 ปี บริษัทเข้าถือหุ้นจำนวน 12 ล้านหุ้น ในราคา 50 บาทต่อหุ้น มูลค่า 600 ล้านบาท และถือหุ้นต่ำกว่า 40%

การร่วมทุนกับ บมจ.แพ็คฟูดทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่ง การตลาดผลิตกุ้งแช่แข็งในประเทศไทยถึง 20% ประการสำคัญโรงงานดังกล่าวจะช่วยเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกาและยุโรป

จะเห็นว่าการขยายธุรกิจของ บมจ.ทียูเอฟจะมี 2 รูปแบบ หลัก คือ เข้าซื้อกิจการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ และร่วมทุนธุรกิจ ส่วนใหญ่นโยบายเข้าซื้อกิจการร้อยเปอร์เซ็นต์จะเลือกธุรกิจที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เช่น ปลาทูน่า หรือกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ ธีรพงศ์ รวมไปถึงไกรสร ผู้เป็นบิดา ที่มองว่าตราบใดที่อาหารยังเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ ธุรกิจอาหารก็ย่อมเติบโตเคียงคู่กันไปอย่างแน่นอน และธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทั่วโลก ทั้งหมด แต่ยังมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างศึกษา อาทิ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก

โดยเฉพาะตลาดอาเซียนภายใต้กรอบเปิดการค้าเสรี (Asean Economic Community: AEC) บริษัทเริ่มให้ทีมงานเข้าไปศึกษาโอกาสตลาดอย่างจริงจังและได้ส่งบริษัท ธีร์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทในเครือเป็นผู้ดูแล พร้อมกับแบ่งทีมงานออกเป็น 2 กลุ่ม ประเทศที่ร่วมมือกับอาเซียนตั้งแต่เริ่มต้น 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และประเทศเกิดใหม่ 4 ประเทศ คือ พม่า เวียดนาม ลาว และเขมร

บริษัทมีเป้าหมายใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกไปทำตลาดในอาเซียน และเลือกแบรนด์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น ปลาทูน่าซีเล็ค ปลาฟิชโช่ เนื่องจากวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร คล้ายคลึงกัน และต้องการสินค้าราคาไม่แพง

แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทจะมีโรงงานอยู่ในเวียดนาม แต่ก็ใช้เป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกปลาทูน่าไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ประเทศพม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากการเมืองภายในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ทำให้นักลงทุนจากทุกมุมของโลกเข้าไปมองหาโอกาส รวมถึงทียูเอฟที่สนใจน่านน้ำทะเลพม่า เพราะมองว่าเหมาะเป็นแหล่งวัตถุดิบ

การมองหาโอกาสใหม่ๆ ถูกกำหนดในแผนความ สำเร็จ (success plan) ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 6 ปี เพื่อให้ผู้บริหาร ทุกระดับชั้นมองเห็นทิศทางธุรกิจขององค์กร

เป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรทำให้บริษัทเริ่มกำหนดบทบาทตัวเองเป็น “พ่อครัวของโลก” หมายถึงเป็นองค์กร ที่มีฐานการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง และจากฐานดังกล่าวจะพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกำหนดทิศทางชัดเจนว่าจะผลิตอาหารพร้อมรับประทาน เนื่องจากมองว่าแนวโน้มการบริโภค อาหารทั่วโลกผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอาหารพร้อมปรุงและรับประทานได้ทันทีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอยู่แล้ว แต่นับจากนี้จะให้ความสำคัญมากขึ้น

แนวคิดพ่อครัวของโลกได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี เป็นการ คิดค้น ปรุงอาหารอร่อย ปลอดภัย ซึ่งภายในบริษัทจะมีทีมพ่อครัวเพื่อปรุงอาหาร และมีการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อให้อาหารตรงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลก

ความเจริญเติบโตของบมจ.ทียูเอฟ ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศโดยตรง หรือมีปัญหาการบริหารจัดการอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่นกรณีวิกฤติต้มยำกุ้ง บริษัทไม่ได้กู้เงินสกุลดอลลาร์ เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย แม้ว่าบริษัทที่ปรึกษาจะแนะนำให้กู้เงินเป็นดอลลาร์ก็ตาม เนื่องจากมองว่าเป็นความเสี่ยงของธุรกิจและไม่ใช่การลงทุนในธุรกิจหลัก

นอกจากนี้บริษัทยังได้เรียนรู้จากบริษัทอื่นๆ ที่ต้องล้มละลายจากการนำเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก

“การจัดการบริหารความเสี่ยงเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการบริหาร หากรู้ว่าอนาคตมีความเสี่ยง แต่รับความเสี่ยงได้ ก็ให้เดินหน้า แต่หากรับไม่ได้ ก็ไม่ควรทำ” ธีรพงศ์กล่าวและเป็น การถ่ายทอดมาจากรุ่นบิดา

แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงนอกจากจะมีวินัยด้านการบริหารจัดการแล้ว วินัยด้านการเงินเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้น บมจ.ทียูเอฟจะควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้สูงไม่เกินหนึ่งเท่า แม้ปัจจุบันหลังบริษัทเข้าไปซื้อบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส ทำให้มีหนี้ต่อทุนสูง 1.6 เท่า

แต่ภายใน 3 ปี บริษัทมีแผนชัดเจนจะลดต่ำกว่า 1 เท่า หรือเหลือเพียง 0.7 โดยใช้วิธีเพิ่มทุน ส่วนกฎเกณฑ์การลงทุนของบริษัทจะควบคุมอัตราหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 1 หาก เกินกว่า นี้บริษัทจะไม่ลงทุนใหม่ เพราะไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่มและไม่รอจน เสี่ยงมาก

หลักการกระจายความเสี่ยงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจของบริษัทกระจายอยู่ทั่วโลก นโยบายการบริหารความเสี่ยง ของบริษัทและบริษัทในเครือทุกแห่งจะต้องดูแลรับผิดชอบโครงสร้างหนี้ของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในเครือประมาณ 24 แห่ง

กรณีบริษัทในต่างประเทศปิดกิจการด้วยการบริหารงานผิดพลาด ก่อหนี้จำนวนมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ บริษัทจะปิดเพียงบริษัทเดียว ซึ่งจะไม่กระทบต่อศูนย์กลางธุรกิจในประเทศไทย โดยมองว่านโยบายการบริหารโครงสร้างหนี้ที่แยกออกจากกันชัดเจนจะทำให้ธุรกิจปลอดภัย และเป็นรูปแบบการลงทุนในอนาคตต่อไป

การบริหารจัดการธุรกิจ บมจ.ทียูเอฟภายใต้โมเดลธุรกิจที่ยืนอยู่ในตลาดโลกมีการแข่งขันรุนแรงและกดดันสูง ทำให้องค์กร แห่งนี้มองตลาดโดยไม่เจาะจงที่ภูมิภาคใดเป็นหลัก นับเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยไม่พึ่งพิงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง และทำให้ บริษัทสามารถเติบโตแบบยั่งยืน

ยิ่งบริษัทฯ ประกาศเป้าหมายว่าอีก 8 ปีข้างหน้า รายได้กว่า 2 แสนล้านบาท เป็นความกระหายที่ปรารถนาจะเติบโตอย่าง ก้าวกระโดด นับเป็นความท้าทายขององค์กรนี้ไม่น้อย