วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Life > ทิปส์กินดีอยู่ดี

ทิปส์กินดีอยู่ดี

 
Column: Well – Being
 
นิตยสาร GoodHealth นำเสนอเคล็ดลับการดูแลสุขภาพอันหลากหลายและน่าสนใจดังนี้
 
หลากวิธีลดความดันโลหิต
วิธีลดความดันโลหิตอย่างรวดเร็ว ทำได้โดยฟังดนตรีคลาสสิกเป็นเวลา 25 นาที จะทำให้ค่าความดันโลหิตของคุณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลที่เกิดขึ้นชั่วคราวนี้ เป็นเพราะดนตรีมีท่วงทำนองที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ และมีความสอดคล้องกลมกลืน ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายได้ผ่อนคลาย
 
วิธีลดความดันโลหิตในระยะยาว ทำได้โดยบริโภคแมกนีเซียมในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 300 มิลลิกรัม วันละครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ความดันโลหิตของคุณจะลดลงอย่างน่าพอใจ เพราะแมกนีเซียมมีสรรพคุณช่วยป้องกันหลอดเลือดหดตัว
 
หายหวัดได้ใน 3 วัน
ทันทีที่เริ่มรู้สึกมีอาการหวัด หากอมยาอมสังกะสีหรือซิงค์ จะช่วยให้หายจากหวัดได้เร็วขึ้น 3 วัน เพราะยาอมทำหน้าที่พาสังกะสีลงไปที่บริเวณลำคอโดยตรง ซึ่งเป็นที่เจริญเติบโตของไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดนั่นเอง ส่วนสังกะสีมีสรรพคุณช่วยป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส 
 
อบเชยช่วยเพิ่มความจำ
แนะนำให้บริโภคอบเชยมากขึ้น เพราะเป็นเครื่องเทศที่ช่วยปรับสมดุลของระดับโปรตีนในสมองส่วนที่ควบคุมความจำ ทำให้สมองทำหน้าที่เก็บและฟื้นความจำได้ง่ายขึ้น
 
ร่างกายมีกลไกในการเผาผลาญอบเชยให้อยู่ในสภาพสารเคมีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง
 
ลดอาหาร = ลดภาวะอักเสบในร่างกาย
หากคุณลดอาหารลงร้อยละ 10 ของปริมาณที่บริโภคตามมาตรฐานคือมื้อละ 8,000 กิโลจูล นั่นคือบริโภคลดลง 800 กิโลจูล จะช่วยลดระดับการอักเสบเรื้อรังในร่างกายได้มาก ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวาน
 
สาเหตุอาจเป็นเพราะเมื่อจำกัดปริมาณพลังงานที่บริโภคเข้าไป มีผลทำให้ระดับไขมันในร่างกายและฮอร์โมนความหิวลดลงตามไปด้วย จึงแนะนำให้เตรียมหรือซื้ออาหารไว้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่มีแรงกระตุ้นจากความหิว ซึ่งเท่ากับว่าคุณได้บริโภคอาหารน้อยลงราวร้อยละ 10 ต่อมื้อด้วย
 
ข้าวบาร์เลย –ธัญพืชมหัศจรรย์
ข้าวบาร์เลย์ได้ชื่อว่าเป็นธัญพืชสุดมหัศจรรย์ เพราะช่วยทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น ช่วยควบคุมความอยากอาหาร และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
 
กากใยในข้าวบาร์เลย์ที่มีลักษณะผสมผสาน จะเป็นผลดีต่อร่างกายในทันทีที่บริโภคเข้าไป เพราะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงแนะนำให้เติมข้าวบาร์เลย์ลงในซุป หรือสลัด หรือบริโภคแทนข้าว
 
ออกกำลังกายลดเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
ผลการวิจัยระบุว่า คุณสามารถลดความเสี่ยงจากโรคอัลไซเมอร์ได้ถึงร้อยละ 50 ด้วยการขยันออกกำลังกาย หรือให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ปั่นจักรยาน เต้นรำ หรือทำสวน เพราะยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไร จะยิ่งเพิ่มเนื้อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น
 
บลูเบอร์รีป้องกันอัลไซเมอร์
บริโภคบลูเบอร์รีวันละหนึ่งถ้วย ช่วยป้องกันสมองของคุณจากการเสื่อมถอยเพราะอายุที่มากขึ้นและโรคอัลไซเมอร์ได้
 
ผลการวิจัยระบุว่า สารฟลาโวนอยด์ในบลูเบอร์รีที่เรียกว่า “แอนโธไซยานินส์” อาจมีผลช่วยทำให้สมองของผู้ที่กำลังประสบปัญหาความบกพร่องด้านความจำอยู่แล้วทำงานได้ดีขึ้น
 
ทริคช่วยเสริมความจำใหม่ๆ
คุณมีวิธีทำให้สมองจดจำข้อมูลใหม่ๆ ได้ ด้วยการออกกำลังกายภายหลังจากที่ได้ยินหรืออ่านข้อมูลที่ต้องจดจำมาแล้ว 4 ชั่วโมง และในอีกสองวันหลังจากนั้น คุณจะสามารถฟื้นความจำเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านั้นได้ดีขึ้นมาก
 
เพราะการออกกำลังกายหลังจากได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ช่วยเพิ่มระดับของสารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้รวบรวมความจำได้ดีขึ้น
 
กินกากใยมากขึ้นช่วยลดความอ่อนล้า
อาหารที่อุดมด้วยกากใยมีความสัมพันธ์กับระดับพลังงานในร่างกายอย่างชัดเจน คุณสามารถเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า และลดความอ่อนล้าได้ราวร้อยละ 10 เมื่อบริโภคกากใยได้เพียงพอในแต่ละวัน
 
กากใยช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และช่วยทำให้คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้น ซึ่งทั้งสองกรณีช่วยรักษาระดับพลังงานในร่างกายได้เป็นอย่างดี
 
ปริมาณกากใยที่ร่างกายจำเป็นต้องบริโภคให้เพียงพอคือวันละ 25 กรัมเป็นอย่างน้อย