วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ปลูกที่ดิน ปลูกที่ใจ น่านนคร ความหวังป่าต้นน้ำท่ามกลางระบบทุนนิยมเสรี

ปลูกที่ดิน ปลูกที่ใจ น่านนคร ความหวังป่าต้นน้ำท่ามกลางระบบทุนนิยมเสรี

 
 
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมากระแสข่าวเรื่องเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน ถูกเผยแพร่และส่งต่ออย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดน แน่นอนว่าภาพที่ถูกแชร์ออกไปนำมาซึ่งความคิดเห็นในเชิงลบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะผู้บริหารของจังหวัด
 
ทั้งในแง่มุมของการละเลยหรือไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการวิจารณ์ถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดน่านที่นิยมเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่  อย่างไรก็ดี กระแสวิจารณ์ส่งถึงพ่อเมืองอย่างสุวัฒน์ พรมสุวรรณ อย่างรวดเร็ว
 
สุวัฒน์ พรมสุวรรณ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 เห็นได้ชัดว่าปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ในจังหวัดนั้นยืดเยื้อและกินเวลามานานกว่า 10 ปี กระนั้นในฐานะผู้นำของจังหวัดทำให้ผู้ว่าฯ น่านตัดสินใจตอบโต้และโพสต์ท้าทายบรรดานักเลงคีย์บอร์ด ทั้งยังเชิญชวนให้มาร่วมกันปลูกป่าซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์มากกว่าจะนั่งเคาะแป้นคีย์บอร์ดเพื่อวิจารณ์กันเพียงสนุก
 
ผลของการท้าทายจากผู้ว่าฯ และการตระหนักถึงปัญหาป่าไม้ส่งผลให้เกิดกระแสตอบรับอย่างทันท่วงที เมื่อบุคคลจากหลากหลายแวดวงร่วมแสดงออกถึงเจตจำนง อุดมการณ์ ความตั้งใจที่จะปลูกป่า กระทั่งเกิดการรวมตัวกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน จนเกิดเป็นกิจกรรมขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 นับเป็นวันดีเดย์ของการแสดงออกถึงพลังแห่งการอนุรักษ์ ซึ่งมีหมุดหมายอยู่ที่การพลิกฟื้นผืนป่าที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ให้เขียวชอุ่มสมกับที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญของไทย ที่ไม่เพียงแต่ช่วยหล่อเลี้ยงประชาชน เกษตรกรในจังหวัดน่านและจังหวัดที่แม่น้ำน่านไหลผ่านเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดสำคัญของไทย ที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำน่านมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ 
 
ปัญหาเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านทำให้เกษตรกรที่ทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัวด้วยการปลูกข้าวโพดถูกตีตราเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย ซึ่งเดิมทีเกษตรกรในจังหวัดนิยมทำไร่เลื่อนลอย โดยจะหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกไปตามฤดูกาล กระทั่งการมาถึงของกลุ่มนายทุนที่มาพร้อมข้อเสนอ เชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้มาง่ายและรวดเร็ว
 
แน่นอนว่าความง่ายสำหรับการดำเนินธุรกิจนี้อยู่ที่ กลุ่มนายทุนไม่ต้องลงแรงหว่านล้อมมากมายนักเพียงสร้างเคสตัวอย่างให้เห็นขึ้นมาเป็นรูปธรรม ความแพร่หลายของไร่ข้าวโพดที่สามารถสร้างรายได้ได้เร็วกว่าการปลูกพืชอื่นๆ จะกระจายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเหล่าเกษตรกรยังขาดความเข้าใจต่อปัญหาที่ตามมาอย่างแท้จริง และหลงเข้าไปอยู่ในวังวนของระบบทุนนิยมเสรีอย่างง่ายดาย 
 
แม้จะมีบางมุมที่มองว่าปัญหาการปลูกไร่ข้าวโพดที่แพร่หลายนั้น ไม่ได้เกิดจากการเข้ามาของกลุ่มนายทุนสินค้าเกษตร แต่เป็นเพราะชาวบ้านเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเอง โดยที่ไม่มีใครส่งเสริมหรือสนับสนุน อีกทั้งธนาคารภาครัฐยังมีนโยบายอนุมัติวงเงินกู้เพื่อการเพาะปลูกข้าวโพด ระบบการสนับสนุนทั้งหมดในจังหวัดน่านที่ทำให้ชาวบ้านแผ้วถางป่าเพื่อเพาะปลูกข้าวโพดแบบทวีคูณ
 
จากที่เคยเพียงพอเพียงแค่ปัจจัยสี่ที่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างสมถะและพอเพียง ถูกคลื่นแห่งความต้องการที่จะเท่าเทียมในสังคมกลืนกินจนยากที่จะต้านได้ กระทั่งอุปทานมากกว่าอุปสงค์ผลกระทบที่ตามมาเสมือนโดมิโนล้ม ราคาพืชผลตกต่ำ เงินทุนไม่พอหมุนเวียน ปัญหาหนี้สิน แม้ว่าทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนจะพอเข้าใจถึงกับดักของระบบที่วางเอาไว้อย่างแนบเนียน แต่ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะหลุดพ้นจากกับดักทุนนิยมดังกล่าว
 
กระนั้นปัญหาของการขยายตัวของการทำไร่ข้าวโพดอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อป่าไม้โดยรวมถึง ความต้องการที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งพื้นที่ของจังหวัดน่านแบ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ 85 เปอร์เซ็นต์ ที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย 15 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของพื้นที่ป่านั้น เป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนี้ไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ถือครอง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่บางส่วนต้องเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าและทำการเกษตรอย่างผิดกฎหมาย
 
นโยบายของภาครัฐเกือบทุกรัฐบาลต่อการปกป้องรักษาป่าคือ ป้องกันการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าไม้ ซึ่งนั่นเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติเพียงด้านเดียว แต่จะดีกว่าหากภาครัฐเข้าใจถึงธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่ที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกับป่ามาช้านาน ต่อมาเมื่อกฎหมายเปลี่ยนทำให้เกษตรกรกลายเป็นผู้บุกรุกทำไร่อย่างผิดกฎหมาย การจะแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ “ต้องไม่แยกคนกับป่าและกฎหมายออกจากกัน เพราะหากจะแก้กฎหมายด้วยการแยกคนออกจากป่า สุดท้ายจะเหลือแต่กฎหมายกับเขาหัวโล้น” สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าฯ จ.น่าน อธิบาย
 
อย่างไรก็ตาม ความคิดความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดน่านดูจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือการสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เมื่อคนเคยอยู่ร่วมกับป่ามาหลายร้อยปี ถึงตอนนี้แม้ว่าจังหวัดน่านจะสูญเสียป่าไปกว่าหนึ่งล้านไร่ก็ตาม แต่จากกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ที่กำลังดำเนินไปตามครรลองน่าจะทำให้ป่าเพิ่มขึ้น ความสุขของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ว่าฯ มองว่าหากทำให้ป่าไม้เป็นเสมือนเอทีเอ็ม ที่ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าแบบค่อยๆ ดึงออกมาใช้ทีละน้อย และปล่อยให้เงินต้นสร้างดอกออกผลอีกครั้ง 
 
นอกเหนือไปจากการที่รัฐควรเข้ามาดูเรื่องกฎหมายที่เหมาะสมกับประชาชนในท้องถิ่นแล้ว การปลูกป่าคืออีกหนึ่งวิธีแก้ที่ตรงจุดที่สุด กระนั้นการปลูกป่าเพื่อหวังผลแห่งความสมบูรณ์และยั่งยืน คงไม่ใช่เพียงจัดกิจกรรมระดมทุนหรือระดมแรงเท่านั้น หากแต่ต้องมองลึกไปถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ในการที่จะเลือกกล้าไม้และชนิดของพืชพันธุ์ที่แข็งแรงเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ทั้งยังต้องเป็นต้นไม้ที่จะให้คุณประโยชน์ทั้งต่อชีวิตประชาชนและสรรพสัตว์
 
โครงการสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น ของวิทยาลัยชุมชนน่าน และโครงการ “ปลูกเลย” ของกลุ่มปลูกเลย ดูจะเป็นกลุ่มที่มีแนวทางไม่ต่างกันนัก เมื่อวัตถุประสงค์ของโครงการคือการพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีแนวความคิดให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน 
 
อีกทั้งยังส่งเสริมและสร้างความตระหนักและจิตสำนึกทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การดำเนินกิจกรรม และการปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้าและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
โครงการสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น ของวิทยาลัยชุมชนน่านมีขั้นตอนการดำเนินการสอดคล้องและสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาประเทศ โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม
 
อย่างไรก็ตาม การศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนน่านพบว่า ปัญหาหลักที่ป่าถูกทำลายมี 3 สาเหตุคือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีในการเกษตร และการเข้าใจผิดเรื่องการยึดที่คืนหากเป็นไม้ยืนต้น และพื้นที่ที่ถูกทำลายมากที่สุด คือที่ดินทำกิน ดังนั้นหากพัฒนาพื้นที่ทำกินให้เป็นป่า โดยใช้หลักคิดการจัดการคนกับป่า ใช้วิธีการศาสตร์พระราชา คือ ต้นน้ำ-ป่าไม้ กลางน้ำ-การเกษตร และปลายน้ำ-ประมง
 
นั่นคือ พื้นที่ต้นน้ำ หมายถึงบริเวณพื้นที่บนสุดของภูเขา ให้ผู้เข้าร่วมโครงการเก็บรักษา หรือปลูกป่าประเภทไม้ใช้สอยตามความต้องการเพื่อกันพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์
 
พื้นที่กลางน้ำ หมายถึงพื้นที่สำหรับทำการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ตามบริบทชุมชน
 
พื้นที่ปลายน้ำ หมายถึงพื้นที่ส่วนที่ติดกับลำห้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยจะให้ผู้เข้าร่วมโครงการปลูกพืชหรือต้นไม้ที่สามารถเก็บกินเก็บใช้ หรือใช้ประโยชน์ได้ในบริเวณดังกล่าว โดยมีระยะห่างจากลำห้วย 10 เมตร 
 
นอกจากยุทธศาสตร์การปลูกป่าตามแนวทางของศาสตร์พระราชาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของการดูแลต้นกล้าไม้ โดยในเบื้องต้นวิทยาลัยชุมชนน่านจัดตั้งกองทุนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์สนับสนุนเกษตรกรในการดูแลต้นไม้ 
 
กระนั้นเกษตรกรที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโดยแบ่งที่ดินทำกินบางส่วนมาร่วมปลูกป่ายังให้ความเห็นที่น่าคิดต่อว่า “ภาครัฐควรแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เพราะเกษตรกรส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อปลูกพืชบนที่ดินดังกล่าวแต่ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งปัญหานี้ทำให้เกษตรกรต้องวนกลับไปสู่ระบบเดิม คือการกู้ยืมเงินเพื่อทำไร่ พืชผลราคาตก เงินรายได้ไม่พอจ่ายคืนธนาคาร บางคนต้องเป็นหนี้นอกระบบ หรือบุกรุกผืนป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำไร่ ภาครัฐควรมองและแก้ปัญหาจากรากหญ้า” ณัชพล พรมคำ เกษตรกรบ้านป่าแลวอธิบาย
 
ในห้วงเวลาที่ไทยกำลังดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในระบบมหภาค ประชาชนชาวรากหญ้า เกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักที่หล่อเลี้ยงคนไทยเริ่มมีการพัฒนาและมองหาช่องทางในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากขึ้น 
 
เมื่อมีแนวความคิดในการทำเกษตรแนวใหม่ผสมผสานปลูกพืชหลากชนิดในแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดปลูกกาแฟใต้ร่มเงาของพืชพันธุ์อื่นๆ และการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ กระนั้นปัญหาที่เกษตรกรตระหนักและเข้าใจดีคือ ผืนดินสะสมสารเคมีไว้จากการทำไร่ข้าวโพด ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้ดินปรับสภาพคืนสู่สภาวะปลอดสารเคมี ผลผลิตที่ได้จึงจะสามารถส่งไปเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์
 
การเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรในพื้นที่จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันผลผลิตเข้าสู่ตลาดและได้ราคาอย่างเป็นธรรม กระนั้นหอการค้าจังหวัดน่านเอง มีแนวทางนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยการจัดตั้งโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานแก่เกษตรกรหรือผู้ผลิตโดยตรง
 
โดยขั้นต้นเริ่มดำเนินงานโดยเริ่มต้นที่อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอแม่จริม และอำเภอเมืองน่าน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในด้านการเพิ่มทางเลือกในการระบายสินค้าที่มีคุณภาพของเกษตรกรในท้องถิ่น ที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ดี การแปรรูปที่ดี สินค้ามีคุณภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ สินค้าพืชผักปลอดสารพิษ ให้มีแหล่งจำหน่ายเพื่อพบปะกันโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้ซื้อในเขตชุมชนเมืองที่มีกำลังซื้อสูง 
 
อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ซึ่งต่างดูแลกันและกันได้อย่างดี คือโครงการของบริษัท กรีนเนทเอสอี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า “มีวนา” โดยให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของต้นไม่ใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของป่าต้นน้ำสำคัญ เช่นต้นน้ำแม่ลาว แม่สรวย แม่กรณ์ บนพื้นที่จังหวัดเชียงราย
 
ซึ่งมีจุดประสงค์ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแบบแผ้วถางป่า มาเป็นการปลูกกาแฟออร์แกนิค เพื่อรักษาความยั่งยืนของป่าต้นน้ำ และยังประโยชน์ให้กับคนในชุมชนซึ่งเป็นคนต้นน้ำอีกด้วย 
 
การสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกรในพื้นที่ ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับหน่วยงานราชการของไทยหากจะดำเนินการอย่างจริงจัง และสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่กระนั้นภาครัฐต้องเข้าใจปัญหาของเหล่าเกษตรกรที่สะสมมานานหลายรุ่น ทั้งในเรื่องของกับดักระบบทุนนิยมเสรี เรื่องของปากท้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรได้รับการดูแลและแก้ไขเป็นอันดับแรก 
 
ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการผลักดันประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ป่าที่เพียงอาศัยที่ดินทำกิน ให้ออกไปเผชิญกับความล่มสลายของระบบที่เอื้อแต่ประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว
 
อีกประการที่สำคัญคือ แม้ว่ากิจกรรมการปลูกป่าจะสร้างให้เห็นแต่ผลดี กระนั้นสิ่งที่อาจจะหลงลืมไปคือความต่อเนื่องของโครงการ เพราะคนที่เข้าร่วมกิจกรรมการปลูกป่าไม่ได้มีเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น หากแต่ยังมีคนในพื้นที่ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปลูกป่าไม่ควรสิ้นสุดแค่การขึ้นไปปลูกต้นกล้าแล้วจบ ความยั่งยืนที่เกษตรกรรากหญ้าต้องการนั่นต่างหาก ที่จะทำให้ผลของการกระทำที่อุดมไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดีปรากฏเป็นภาพชัดขึ้น 
 
เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รายได้หลักของประเทศคือการส่งออกสินค้าเกษตร หากเกษตรกรไทยยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างแข็งแกร่ง สามารถปกป้องตัวเองให้พ้นจากกับดักทุนนิยมเสรีได้ ป่ากับคนจะอยู่ด้วยกันอย่างสมดุลอีกครั้ง