วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > สหพัฒน์ ลุยสถาบันยุทธศาสตร์ ปั้น “ทายาทธุรกิจ” แก้ปัญหา “คน”

สหพัฒน์ ลุยสถาบันยุทธศาสตร์ ปั้น “ทายาทธุรกิจ” แก้ปัญหา “คน”

 
 
ตระกูล “โชควัฒนา” กลายเป็นหนึ่งใน 21 คนไทยที่ถูกกระแสข่าวเชื่อมโยงเป็นลูกค้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการลงทุนในปานามา “มอสแซค ฟอนเซกา” จากเอกสาร “ปานามาเปเปอร์” ซึ่งบอกกล่าวการฟอกเงินกว่า 11.5 ล้านฉบับ กลุ่มลูกค้ามีทั้งผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ นักธุรกิจ กลุ่มเศรษฐี คนดังในวงการบันเทิงและกีฬา 
 
ล่าสุด บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ออกมาปฏิเสธและยืนยันหนักแน่นไม่มีเอี่ยวแน่นอน
 
คำถามเกิดขึ้นทันที พร้อมๆ กับการไล่ตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
 
ต้องยอมรับว่า เครือสหพัฒน์ชูภาพลักษณ์ความเป็นองค์กรธุรกิจแห่งความซื่อสัตย์มาตลอด ผู้บริหารประกาศเจตนารมณ์กับสื่อทุกครั้งว่าจะไม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอบายมุข และที่น่าสนใจก็คือ เครือสหพัฒน์เพิ่งจัดตั้ง “สถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก (Institute of Strategic and Appreciative Business) หรือ I-SAB” โดยหมายมั่นปั้นให้เป็นสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมตามแนวทางของผู้ก่อตั้งอย่าง ดร. เทียม โชควัฒนา ซึ่งมีปรัชญาคุณธรรมถึง 100 ข้อ คำคิดและทัศนคติที่ดีในการบริหาร 
 
บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ก่อตั้งสถาบัน I-SAB กล่าวกับ “ผู้จัดการ360 องศา” ว่า บริษัทจัดโครงการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยสหพัฒน์จับมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตั้งสถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก มุ่งสร้างคนดีให้เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจด้วยจริยธรรม เริ่มเปิดสอนให้ทายาทธุรกิจที่เป็นคู่ค้าของสหพัฒน์และในอนาคตจะเปิดสอนให้ผู้สนใจทั่วไป
 
นอกจากนี้ จัดโครงการ SPC Smart Generation เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรของสหพัฒน์พัฒนาตนเองพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยจัดสอบวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย ความรอบรู้ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาวะผู้นำ และทัศนคติ เมื่อสอบผ่านวิชาใดจะปรับอัตราเงินเดือนให้พนักงานคนนั้นวิชาละ 1,500 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ 
 
จริงๆ แล้ว สถาบัน I-SAB เริ่มต้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ต้องการในช่วงการรับสมัครพนักงานใหม่ จึงมีการอบรมและพัฒนาต่อเนื่องเป็นหลักสูตรอบรมความรู้และนวัตกรรมด้านธุรกิจการค้าปลีก รวมถึงศาสตร์ด้านการค้าอื่นๆ ที่ทันสมัย โดยมีบุญเกียรตินั่งตำแหน่งประธานบริหารโครงการ 
 
ส่วนทีมบริหารโครงการมาจากกลุ่มผู้บริหารในบริษัท ไอ.ซี.ซี.ฯ และบริษัท สหพัฒนพิบูลฯ ร่วมพัฒนาหลักสูตรกับทีมนักวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร 
 
ปัจจุบันเปิดสอน 3 หลักสูตรระยะสั้น ได้แก่ หลักสูตรปรัชญากลยุทธ์ธุรกิจเชิงบูรณาการ (The CEO) หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารกลยุทธ์สู่ความสำเร็จขององค์กร (The Master) และหลักสูตรสุดยอดพนักงานบริการรุ่นใหม่ (The Rookie) ใช้เวลา 5 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานของงานบริการและปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมอง การอัพเดตความรู้ใหม่ๆ ในโลกของธุรกิจการให้บริการจากวิชาต่างๆ เช่น กระบวนการจัดการในโมเดิร์นเทรด วิชาเจาะลึกพฤติกรรมลูกค้าสมัยใหม่ กลยุทธ์และเทคนิคการให้บริการ เพื่อรับการเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี)
 
ทั้งนี้ สหพัฒน์อยากพัฒนา I-SAB เหมือนสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แต่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เน้นคนในองค์กรและเริ่มขยายสู่การเปิดหลักสูตรสำหรับบุคคลภายนอก 
 
หากเปรียบเทียบกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งซีพีใช้เวลาปลุกปั้นนานกว่า 12 ปีแล้ว เริ่มจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซื้อกิจการมาจากโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ และตั้งบริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ เป็น “โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ” จัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี คือ สร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ เรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดหลักสูตร ก่อนยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” 
 
เวลานั้นธนินท์ เจียรวนนท์ประธานเครือซีพี มองเห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะเป้าหมายของซีพีต้องการขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นหลายพันสาขา จึงเกิดแนวคิดการผลิตบุคลากร ทั้งเปิดโรงเรียน สร้างหลักสูตรที่เป็นระบบรองรับร้านสะดวกซื้อและหาพนักงานป้อนสาขาที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอบโจทย์ได้ตรงจุดและยังสอดรับกับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการหารองรับหลังจบการศึกษาด้วย 
 
วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ได้รับการตอบรับอย่างมาก มีนักเรียนแห่สมัครเรียน ปูทางให้เครือซีพีต่อยอดเปิด “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” ในปี 2550 โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่เน้นการศึกษาและวิจัยทางด้านธุรกิจค้าปลีก ซึ่งนักศึกษาต้องฝึกเตรียมเข้าทำงานควบคู่กับการเรียนและได้รับค่าตอบแทน รวมทั้งมีโอกาสเข้าทำงานกับสถานประกอบการในกลุ่มซีพี ออลล์ และสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทั้งหมดถือเป็นจุดขายสำคัญ
 
ปัจจุบันสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ Panyapiwat Institute of Management (PIM) เปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 9 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และวิทยาลัยนานาชาติ
 
หลักสูตรการศึกษามีตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก หลักสูตรระยะสั้น โปรแกรมภาษาอังกฤษและโปรแกรมภาษาจีน 
 
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เคยระบุว่า PIM ไม่เพียงช่วยประหยัดเวลาการฝึกคน ยังทำให้เด็กเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรซีพีได้อย่างดี เพราะอย่างน้อยทุกคนต้องได้เรียน “หลักสูตรเรียนรู้วัฒนองค์กรซีพีแบบเร่งรัด” ผ่านร้าน 7-11 นอกจากนี้ ระยะเวลา 4 ปี ยังนานพอที่จะหล่อหลอมจนผู้เรียนเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กรด้วย และบริษัทยังมีแนวโน้มจะได้เครือข่ายเพิ่มขึ้น เพราะมีบัณฑิตและนักศึกษาไม่น้อยที่สนใจจะเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับซีพีในฐานะแฟรนไชซีในอนาคต 
 
กระบวนการผลิตคนของซีพีจึงมีทั้ง PIM ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรระดับผู้บริหารและผู้จัดการป้อนเข้าสู่กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ส่วนวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ผลิตบุคลากรระดับพนักงานระดับปฏิบัติการเข้าร้าน 7-11 ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการค่อนข้างสูงตามเป้าหมายการขยายสาขาครบ 1 หมื่นสาขา
 
จุดขายของซีพี คือรายได้และงาน ส่วน I-SAB ของสหพัฒน์ นอกจากความรู้ ความเก่งแล้วต้องมี “คุณธรรม” ด้วย ขณะที่สหพัฒน์กำลังลุยแนวรบค้าปลีกทั้งร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 ร้านซูรูฮะ คอมมูนิตี้มอลล์ “เจพาร์ค” และเป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ที่พร้อมจะขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์
 
ก้าวย่างการรุกยุทธศาสตร์สร้าง “ทายาทธุรกิจ” จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง