วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > “ทีซีซีแลนด์” เร่งปักหมุด นับถอยหลังยึดอาเซียน

“ทีซีซีแลนด์” เร่งปักหมุด นับถอยหลังยึดอาเซียน

 
“ทีซีซีแลนด์” ก้าวสู่ยุทธศาสตร์ขั้นที่ 2 ตามแผนขยายเครือข่ายสร้าง “ลิงค์เกจ” ยึดตลาดอาเซียน หลังจากเมื่อ 4 ปีก่อน เจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดตัว “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์” คอมมูนิตี้มอลล์ตัวแรกของกลุ่มและโครงการไลฟ์สไตล์ริมน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าและตลาดเฉพาะทางในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีสาขากระจายอยู่ในทุกประเทศของภูมิภาค 
 
ล่าสุด อาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มศูนย์การค้า หรือ Retail Developer ซึ่งปรับโครงสร้างแยกเป็น 2 บริษัท ด้านหนึ่งให้บริษัท ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ที่มีโสมพัฒน์ ไตรโสรัส นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกุมบังเหียนหลัก เดินหน้าปักหมุดศูนย์การค้า 5 แบรนด์หลัก ประกอบด้วย เอเชียทีค เกตเวย์ เซ็นเตอร์พอยท์ พันธุ์ทิพย์ และบ๊อกซ์สเปซ กระจายตามจุดหลักๆ ของประเทศ 
 
อีกด้านหนึ่งมีบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ซึ่งปณต สิริวัฒนภักดี นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารลุยนโยบายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบ Mix Used โดยประเดิมเปิดตัวศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา สตรีทมอลล์แนวคิดใหม่ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นโครงการแรก และรับนโยบายเจริญ เตรียมผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ “มิกซ์ยูส” อีก 3 โครงการ 
 
ได้แก่ ที่ดินตลาดสามย่านเดิม หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดถนนพญาไท (ตรงข้ามจามจุรีสแควร์) เนื้อที่กว่า 13 ไร่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ, ที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 19 ไร่ และที่ดินติดถนนพระราม 4 ใกล้ซอยเทพประทาน เนื้อที่ 35 ไร่ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
 
ทั้งนี้ ในส่วนบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ โสมพัฒน์วางแผนระยะ 5 ปีนับจากนี้ จะขยายเอเชียทีคอีก 6 แห่ง เน้นทำเลหัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยว ทั้งการพัฒนาเอเชียทีค เฟส 2 บนที่ดิน 16 ไร่ ติดกับเฟสแรก เป็นโครงการมิกซ์ยูส มีค้าปลีก โรงแรม 300-400 ห้อง และศูนย์ประชุมสัมมนา พร้อมอาคารจอดรถ 1,200 คัน คาดแล้วเสร็จปลายปี 2559 จากนั้นจะพัฒนาโครงการเอเชียทีค ไพรม์ 16 ไร่ ที่หัวหินและพัทยา ที่เหลืออีก 4 แห่ง กำลังดูทำเลทองในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ตและสมุย 
 
ขณะที่โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เฟส 3 ฝั่งเจริญนคร พื้นที่ 30 ไร่ รูปแบบมิกซ์ยูส มีค้าปลีก โรงแรม 2 โรง ศูนย์การประชุม และสร้างเคเบิลคาร์เชื่อมโครงการริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และเฟส 4 ในเนื้อที่อีก 30 ไร่ ฝั่งตรงข้ามโครงการในเฟสแรก อยู่ระหว่างการออกแบบด้านศูนย์การค้าเกตเวย์จะขยายอีก 2 แห่งในกรุงเทพฯ บ๊อกซ์สเปซ 3-4 แห่ง และเร่งปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ทั้ง 4 สาขา ซึ่งเปิดให้บริการมานานหลายสิบปี 
         
โสมพัฒน์กล่าวว่า  ศูนย์การค้าทั้ง 5 แบรนด์ มีมูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 30,000-40,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า 
 
ขณะเดียวกัน รายได้รวมปี 2559 ที่ตั้งไว้ 2,500-3,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 8,000-10,000 ล้านบาท หรือคิดอัตราเติบโตเฉลี่ย 15-20% ซึ่งจะมาจากการขยายโครงการต่อเนื่องตลอด 5 ปี และปรับโฉมโครงการเก่าที่มีความแข็งแกร่งอยู่มานานในตลาด อย่าง “พันธุ์ทิพย์” ซึ่งมีถึง 4 สาขา คือ ประตูน้ำ บางกะปิ งามวงศ์วาน และเชียงใหม่
 
ต้องยอมรับว่าพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำถือเป็นห้างเก่าแก่ เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2527 เจอการแข่งขัน วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องปรับพื้นที่หลายรอบ เดิมบริหารงานโดย บริษัท ทิพยพัฒน์อาเขต จำกัด เครือบริษัท ที.ซี.ซี.แลนด์รีเทล จำกัด เริ่มจากรูปแบบศูนย์การค้าทั่วไป มีร้านค้า ภัตตาคารและโรงภาพยนตร์  
 
เมื่อถึงยุคห้างสรรพสินค้าผุดขึ้นราวดอกเห็ด พันธุ์ทิพย์ประตูน้ำเจอทั้งสงครามคู่แข่งและพิษเศรษฐกิจ จำนวนลูกค้าใช้บริการลดลงเรื่อยๆ  ร้านค้าในศูนย์ทยอยปิดตัวจนต้องเปิดให้ห้างเอ็กเซลเข้ามาเช่าพื้นที่และใช้กลยุทธ์เพิ่มร้านค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ศูนย์เช่าพระเครื่อง ร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง แต่ไม่ได้ผล ก่อนปรับปรุงเป็นห้างไอทีซิตี้ และตั้งแต่ปี 2541 เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่เป็นศูนย์รวมร้านค้าคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศไทย
 
ปี 2559 ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ประกาศปรับภาพลักษณ์ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการปรับใหญ่ในรอบหลายสิบปี ใช้งบรวม 400 ล้านบาท อัพเกรดขึ้นเป็น “ศูนย์การค้าเทค-ไลฟ์มอลล์” โดยดึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นจุดขายหลักและจัดโซนนิ่งใหม่ เน้นจำหน่ายและโชว์นวัตกรรมสินค้าไอที คอมพิวเตอร์ พื้นที่บริการด้านไอที และร้านอาหาร รวมทั้งมีแผนทำงานร่วมกับแบรนด์สินค้าไอทีมากขึ้น จากเดิมบริหารจัดการพื้นที่เช่าอย่างเดียว เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายในห้าง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 หมื่นคนต่อวัน
 
ที่สำคัญ มีจุดขายใหม่ ซึ่งโสมพัฒน์หมายมั่นปั้นเป็นต้นแบบพลิกโฉม “พันธุ์ทิพย์” อีก 3 สาขา คือ การดึงพันธมิตรชั้นนำในวงการเทคโนโลยีเปิดพื้นที่พิเศษ เช่น อินเทล เปิดตัว “Intel E-Sport Arena” พื้นที่ 600 ตารางเมตร ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่คุณสมบัติแรงใช้ซีพียูรุ่นล่าสุด 60 เครื่อง รองรับเทรนด์การเติบโตของตลาดเกมมิ่งแนวอีสปอร์ต, บริษัท ซินเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด เปิดตัวโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ “Syn HUB” เพื่อเป็นพื้นที่ทำงานรองรับการเติบโตของธุรกิจใหม่ “สตาร์ทอัพ” แบบครบวงจรที่แรก พร้อมบริการทีมให้คำปรึกษา
 
แหล่งข่าวในกลุ่มทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ระบุว่า แผน 5 ปี ทั้งการขยายโครงการและปรับภาพลักษณ์ศูนย์เก่าเป็นการเตรียมพร้อม เพื่อขยายแบรนด์สู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนตามวิสัยทัศน์ของเจริญ โดยต้องการสร้างความแข็งแกร่ง สร้างเครือข่ายในไทยและสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับ ในฐานะ Retail Developer ชั้นนำ 
 
ณ วันนี้ เจริญกำลังเริ่มนับถอยหลังเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดอาเซียนอย่างมั่นใจที่สุด