วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > SCG: บนยุทธศาสตร์คู่ขนาน รุกสู่ภูมิภาคและพัฒนา HVA

SCG: บนยุทธศาสตร์คู่ขนาน รุกสู่ภูมิภาคและพัฒนา HVA

 
“ปีนี้จะเป็นปีทองของอาเซียน ขณะที่นโยบายภาครัฐและการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตถึง 4%” กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) กล่าวอย่างมั่นใจในงานแถลงผลประกอบการประจำปีของบริษัทฯ
 
ความมั่นใจของกานต์ ตระกูลฮุน หัวเรือใหญ่ของ SCG ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่า ในปีที่ผ่านมา SCG สามารถสร้างรายได้จากการรุกคืบเข้าสู่ ASEAN ตามแผน Go Regional ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในระดับที่ทะลุ 1 แสนล้านบาทได้เป็นปีแรก และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อไปในอนาคต
 
โดยในปีที่ผ่านมา SCG มีรายได้จากแผนธุรกิจในอาเซียน 100,912 ล้านบาทโดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจฐานการผลิตในภูมิภาค 44,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปี 2556 ในขณะที่รายได้ในการส่งออกไปอาเซียน 56,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อย 21 จากปี 2556 
 
กรณีดังกล่าวในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความสำเร็จในกลยุทธ์การตลาด และความสามารถในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคอาเซียน
 
ด้วยเหตุที่ SCG เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ย่างก้าวของ SCG จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ทิศทาง หากแต่ตั้งอยู่บนแผนพัฒนาธุรกิจที่มีการวางรากฐานและกระบวนการในการดำเนินธุรกิจอย่างมีขั้นตอน ซึ่งยุทธศาสตร์ Go Regional ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เป็นแผนธุรกิจที่มีการกำหนดไว้ยาวนานตั้งแต่เมื่อครั้งกานต์ ตระกูลฮุน เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แห่ง SCG อย่างเป็นทางการในปี 2549
 
ในครั้งนั้นเขาระบุว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งเครือฯ ยังมีอยู่เพียง 2 ประการนี้ ได้แก่ 1. Go Regional เพื่อสร้าง growth และ 2. Higher Value Added ที่ต้องมี Integration ในวัฒนธรรมองค์กรและการลงทุนด้านศักยภาพของคน แต่ที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในปี 2558 ซึ่งตลอด 9 ปีที่ผ่านมา อาจดูเหมือน SCG ขยับไปได้อย่างช้าๆ
 
“ภายในปี พ.ศ.2558 SCG จะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในปี พ.ศ.2558 SCG จะเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่อาเซียน” เป็นประหนึ่งหมุดหมายที่หนุนนำ SCG มาสู่บริบทในวันนี้
 
อย่างไรก็ดี ผลประกอบการปี 2557 ของ SCG ระบุว่า มีรายได้จากการขายในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้ง SCG ซิเมนต์, เอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจี เปเปอร์ รวม 4.87แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อน และมีกำไรรวม 3.36  แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน 
 
ผลกำไรที่เติบโตลดลงร้อยละ 8 แม้จะมียอดการขายเพิ่มขึ้น ได้รับการอธิบายว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานของธุรกิจ PVC ลดลง และมีขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (stock loss) ที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่สี่ ปี 2557 อันเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน จำนวน 2,960 ล้านบาท
 
ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักกว่าร้อยละ 50 ของ SCG มาจากกลุ่มเคมีคอลล์ ซึ่งการปรับตัวของราคาเคมีภัณฑ์ ที่ลดลง ประกอบกับการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (stock loss) ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของราคาน้ำมันได้ฉุดรายได้ของกลุ่มเคมีคอลส์ให้ลดต่ำลงด้วย
 
“แผนการลงทุน 5 ปีจนถึง ปี 2561 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาทนั้น จะอยู่ภายใต้  2 กลยุทธ์หลัก คือ Go Regional ที่เน้นการลงทุนในอาเซียน และการส่งเสริมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม Higher Value Added ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งสอดรับกับโครงการลงทุนของ SCG ที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตามแผน”
 
รูปธรรมในการ Go Regional ของ SCG เพื่อผลิตสินค้ารองรับความต้องการของตลาด อยู่ที่การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในอาเซียนโดย SCG ได้ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซียและกัมพูชา ขณะที่โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมาร์และ สปป. ลาว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ รวมถึงโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนามมีความคืบหน้าตามแผน ซึ่งโครงการลงทุนเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดและรองรับความต้องการของลูกค้าในอาเซียน นอกเหนือจากการส่งสินค้าไทยออกไปอาเซียนด้วย
 
ทั้งนี้ แผนลงทุน 5 ปีดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันให้สินทรัพย์รวมของ SCG มีมูลค่ารวมมากกว่า 6 แสนล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31ธันวาคม 2557 มีมูลค่า 465,823 ล้านบาท
 
ในขณะที่การ Go Regional ของ SCG ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ มีแนวโน้มที่จะผลิดอกออกผลไปด้วยดี อีกด้านหนึ่งของแผนกลยุทธ์ที่ดำเนินคู่ขนานไป ว่าด้วยการให้ความสำคัญของสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม Higher Value Added (HVA) โดยเฉพาะในกลุ่มเคมิคอลส์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วน 50:50 ของรายได้รวมของ SCG ก็มีทิศทางที่น่าสนใจไม่น้อย
 
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ระบุว่าในปีที่ผ่านมา SCG มียอดขายสินค้า HVA รวม 169,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของยอดขายและคิดเป็นร้อยละ 35 ของยอดขายรวมทั้งหมด ขณะที่ตราสินค้า-บริการ ภายใต้แบรนด์  SCG eco value มียอดขาย150,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ของยอดขายรวม
 
ผลสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากวิสัยทัศน์ ของ SCG ในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องมาตลอดรวมระยะเวลา 10 ปี ซึ่งได้ปรากฏออกมาให้เห็นได้จากผลตอบแทนในรอบปีที่ผ่านมา SCG สามารถนำเสนอสินค้านวัตกรรม นำไปสู่ผลประกอบการที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการขายสินค้าพื้นๆ ทั่วไป ในตลาด ท่ามกลางคู่แข่งที่ต้องแข่งขันกันเรื่องราคาเป็นสำคัญ
 
หากมองย้อนไปเมื่อปี 2004 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป้าหมายการขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของสินค้า HVA ทำให้ SCG มุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากนักวิจัยประมาณ 100 คนในปี 2004 ด้วยงบงานวิจัย 40 ล้านบาท และมียอดขายในปีแรกประมาณ 7,000  ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน SCG มีนักวิจัยถึง 1,300 คน พร้อมงบงานวิจัยและพัฒนา เป็นจำนวนเงินถึง 4,800 ล้านบาทกับยอดขายกว่า 160,000 ล้านบาท
 
นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยสินค้า HVA มียอดขาย 1 ใน 3 ของรายได้ของเครือฯ และนับเป็นการสร้าง Value Added ให้กับ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของ SCG อย่างแท้จริง
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ว่าด้วยการเป็น “One of the most admired sustainable business leader in ASEAN with top class professionals” หรือองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรม และเป็นแบบอย่างบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ประกาศไว้เป็นเป้าหมายขององค์กรในช่วงก่อนหน้านี้
 
ดูเหมือนว่า SCG ในช่วงขวบปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 2 องค์กรที่มีเกียรติประวัติยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของไทยแห่งนี้ กำลังก้าวเดินไปสู่บริบทที่กว้างขวางขึ้น โดยมี ASEAN และ AEC เป็นสังเวียนธุรกิจที่เปิดกว้างสำหรับการเติบโตในอนาคต
 
แต่ผลของการพัฒนาที่ว่านี้ จะสามารถสร้างแรงขับดันอย่างยั่งยืนไม่สิ้นสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ผลประกอบการของ SCG นับจากนี้ คงเป็นประจักษ์พยานได้ดีกว่าถ้อยแถลงใดๆ