วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ปฏิรูปการศึกษาไทย จะสัมฤทธิ์หรือล้มเหลวซ้ำซาก

ปฏิรูปการศึกษาไทย จะสัมฤทธิ์หรือล้มเหลวซ้ำซาก

“การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบด้วยความสำคัญของนักเรียน” คำกล่าวของดร.ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ ที่เคยกล่าวไว้ บ่งบอกถึงความสำคัญของผู้เรียนเป็นหลัก การศึกษานับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ส่วนอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน

การพัฒนาคนสามารถทำได้หลายๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของไอทีครองเมืองนี้
 
การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจและเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ คำที่กล่าวไว้ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ เพราะคนเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนที่จะถึงวัยเด็ก เรียนระดับประถม  มัธยม และอุดมศึกษา ทั้งที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด
 
จากยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 11 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2555–2558) และยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของแผนพัฒนาฉบับในปัจจุบัน ก็คือการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ที่มีเป้าหมายให้จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 12 ปี
 
เวลาเกือบ 15 ปีแล้ว ตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ โดยมี พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 เป็นหลักสำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ ปัจจุบันอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2 ของการปฏิรูป (2552-2561) ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม ทั้งจากคะแนนสอบวัดผลมาตรฐานกลาง (โอเนต) ที่เด็กไทยได้ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นวิชาสากล ที่เป็นตัวชี้วัดศักยภาพเด็กไทยในระดับนานาชาติ
 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ได้เปิดเผยผลการศึกษาระบบการศึกษาไทย ภายหลังการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาอีกหลายประการ ทั้งในระดับหลักสูตร บุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น
 
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เคยกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาชำแหละโครงสร้างการศึกษาไทย  “ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ…หากคุณไม่เริ่มตั้งคำถาม” เมื่อปีที่แล้วว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบเดียวที่ใช้กับเด็กเยาวชนทั้งประเทศ เปรียบได้กับรองเท้าเบอร์เดียวที่หวังจะให้ทุกคนสวมใส่ โดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างตามบริบทสังคม
 
ขณะที่กระบวนการสอนยังติดอยู่กับกรอบ ไม่ยืดหยุ่น ทั้งหลักสูตร วิธีสอน และการวัดผล จึงถือเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะทำให้มีเด็กและเยาวชนที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจนกลายเป็นปัญหาสังคมฉุดรั้งให้ความพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ”  ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสะท้อนของภาพที่เป็นจริง
“เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก” เป็นคำพูดที่ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก ในขณะที่อีกหลายประเทศในเอเชียก็มีค่านิยมในการศึกษาเป็นไปในทางเดียวกัน คือให้เวลากับชั่วโมงเรียนค่อนข้างมาก ทั้งในโรงเรียนและการไปกวดวิชากับติวเตอร์ภายนอก โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศให้ได้
 
World Economic Forum ได้ออกรายงานประจำปีการเปรียบเทียบขีดความสามารถในการแข่งขันได้ของประเทศต่างๆ ที่เลือกมาศึกษารวม 144 ประเทศ รายงานนี้ ชื่อว่า “Global Competitive Report 2014-2015” โดยสรุปปรากฏว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20
 
แต่ในทางกลับกัน ตัวชี้วัดด้านการศึกษา ปี 2557 คุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่ อันดับ 7 ของอาเซียน (ปี 2556 อยู่อันดับ 6) และคุณภาพของระบบอุดมศึกษา อยู่ที่อันดับ 8 และทั้งการศึกษาพื้นฐานและอุดมศึกษาของไทยอยู่อันดับต่ำกว่าลาว ขณะที่อุดมศึกษาไทยอยู่ต่ำกว่าทั้งลาวและกัมพูชา แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (GDP per Capital) ไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียนก็ตาม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ยากจนสามารถจัดการศึกษาได้ดีกว่า (จากตารางเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน)
 
ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณทุ่มในระบบการศึกษาอย่างมหาศาล  ด้วยงบการศึกษาที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท/ปีสูงมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับค่าจ้างบุคลากร ดังนั้นทำให้ผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนมีน้อย เป็นการลงทุนมาก แต่ได้ผลน้อย เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้อย่างตรงจุด
 
ปัญหาครูไม่พัฒนาตัวเอง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ปัญหาการเมืองที่ลากยาวมานาน และรวมถึงการผันผวนและความไม่นิ่งของการเปลี่ยนรัฐบาลและปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะต่างรัฐบาลหรือรัฐบาลเดียวกัน ทำให้ความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาชะงักงันและไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระบบการศึกษาไทย “ถอยหลัง” ลงเรื่อยๆ 
 
อีกทั้งหลักสูตรและตำราเรียนของไทยยังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ซึ่งมีผลทำให้การเรียนการสอน ตลอดจนการสอบ ยังคงเน้นการจดจำเนื้อหามากกว่าการเรียนเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง
 
สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นมูลเหตุหนึ่ง ที่ว่าทำไมการศึกษาไทยถึงล้มเหลว…
 
ในขณะที่เปิดศักราชใหม่ 2558 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องรับงานหนัก โดยเฉพาะงาน “ปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปที่ใหญ่กว่าที่เคยทำมา เพราะต้องทำควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้ในการปกครองประเทศ ส่งผลให้การปฏิรูปศึกษาถูกพูดถึงในมุมมองใหม่และกว้างขึ้น นั้นคือ “ปฏิรูปเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ” 
 
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ประกาศร่างโรดแมป ปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2562 หลังหารือร่วมกับฝ่ายสังคมและจิตวิทยา คสช. สาระสำคัญ 6 ประเด็นของโรดแมป คือ การปฏิรูปครู, รื้อระบบบริหารบุคคล, กระจายโอกาสทางการศึกษา ปฏิรูประบบบริหารจัดการ, พัฒนาระบบผลิตกำลังคน ตามความต้องการแรงงานของประเทศ, ปฏิรูประบบการเรียนรู้, พัฒนาแหล่งเรียนรู้ใหม่ และปรับระบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
 
และงานชิ้นใหญ่ที่เรียกว่า งานช้าง ที่จะเกิดกับการศึกษาของปี 2558-2559 นี้ ซึ่งเป็นแผนการเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม 9 เรื่องได้แก่ 1. ปรับหลักสูตรปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ลดเวลาเรียนที่ซ้ำซ้อน ลดปัญหากวดวิชา 2. ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศจูงใจสร้างค่านิยม ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนเรียนอาชีวะ 3. ปรับโครงสร้าง ศธ. ให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ โดยให้ส่วนกลางดูแลนโยบาย และแผนมาตรฐานการติดตามประเมินผล โดยให้สถานศึกษาบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น
 
นอกจากนี้จะขอให้มีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ. เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัว 4. พัฒนาครูดี ครูเก่ง 5. กระบวนการได้มาของผู้แทนและองค์กรครูต่างๆ 6. ระบบการเข้าศึกษาต่อต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย  7. ส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล 8. ปรับระบบอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรมมากขึ้น และ 9. จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของประเทศ 
 
การปฏิรูปการศึกษานี้จะประสบผลสำเร็จเช่นไร ภายใต้แผนเร่งด่วนภายในหนึ่งปี จะสามารถสางปมปัญหาและยกระดับการศึกษาขึ้นได้หรือไม่ อีกทั้งการเตรียมตัวเเข้าสู่ AEC ในปลายปีนี้ จะออกมาในรูปแบบใด คงต้องรอดู