วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > แฟชั่นทรงพลัง T-shirt  พลิกเสื้อชั้นในยุคอียิปต์

แฟชั่นทรงพลัง T-shirt  พลิกเสื้อชั้นในยุคอียิปต์

เล่ากันว่า T-shirt หรือ tee shirt เสื้อยืดธรรมดา ธรรมดา แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและวิวัฒนาการเรื่อยมาจากเสื้อชั้นในยุคอียิปต์โบราณ

จนกระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอเมริกันสังเกตทหารยุโรปนิยมใส่เสื้อชั้นในจากผ้าฝ้ายบางเบาแบบชิ้นเดียวปกปิดทั้งร่างกายส่วนบนและล่าง เรียกว่าชุดยูเนียน ขณะที่ตัวเองเหงื่อชุ่มกับชุดชั้นในจากขนสัตว์

ต่อมา กองทัพเรือสหรัฐฯ นำชุดชั้นในมาตรฐานมาดีไซน์เป็นเสื้อแขนสั้นคอกลมไม่มีกระดุม ใช้ผ้าฝ้าย ซึ่งสะดวกสบายขึ้นและเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกัน เรียกชื่อว่า ทีเชิ้ต (T-shirt) มาจากรูปร่างของเสื้อที่มีลักษณะเป็นตัว “T” และในกองทัพเรียกว่า “training shirt” สวมใส่เรื่อยมา

ปี ค.ศ. 1932 บริษัท Jockey ได้ผลิตเสื้อซับเหงื่อให้ทีม ยูเอสซี ฟุตบอล ถือเป็นทีเชิ้ตยุคใหม่และกลายเป็นเสื้อมาตรฐานทั่วไปในกองทัพสหรัฐอเมริกา รวมถึงนาวิกโยธิน เพราะแม้ทีเชิ้ตในยุคนั้นยังถือเป็นเสื้อชั้นใน แต่ทหารส่วนใหญ่มักใส่เสื้อทีเชิ้ตกับกางเกงขายาวไปสถานที่ต่างๆ จนผู้คนต่างยอมรับแฟชั่นสไตล์นี้ โดยเฉพาะเมื่อนิตยสารไลฟ์ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 ขึ้นหน้าปกนายทหารใส่เสื้อทีเชิ้ตและเขียนข้อความว่า Air Corps Gunnery School

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี ค.ศ. 1948 ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี โธมัส อี. ดีวเวย์ (Thomas E. Dewey) ของพรรครีพับลิกัน ผลิตเสื้อยืดพร้อมสกรีนข้อความ Dew It for Dewey ในแคมเปญโฆษณาของตัวเอง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกที่ใช้ทีเชิ้ตเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการเมืองและได้รับการบันทึกว่าเป็นเสื้อยืดสกรีนตัวหนังสือตัวแรก โดยปัจจุบันเก็บไว้ที่สถาบันสมิทโซเนียน (The Smithsonian Institution) ของอเมริกา

นับตั้งแต่นั้นเสื้อยืดกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการเมืองมากมาย เช่น ปี ค.ศ. 1968 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสวมใส่เสื้อ Anti War ประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ปี ค.ศ. 1971 กลุ่ม Black Panther Party และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสำหรับคนผิวสีสวมใส่เสื้อยืดเพื่อประท้วงและแสดงจุดยืนทางการเมือง โดยสกรีนลายใบหน้าของผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bobby Seale ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

อีกจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1950 เมื่อดารานักแสดงชื่อดัง Marlon Brando สวมใส่เสื้อยืดสีขาวในภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปีนั้น

2 ปีต่อมา 3 ดาราดัง คือ จอห์น เวย์น มาร์ลอน แบรนโด และเจมส์ ดีน ใส่เสื้อยืดสกรีนข้อความ I Like Ike เพื่อสนับสนุน Dwight D. Eisenhower ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 34 ผ่านสื่อทีวี

ขณะเดียวกัน ทั้งมาร์ลอน แบรนโดและเจมส์ ดีน มักสวมเสื้อยืดออกสื่อต่างๆ จนเกิดแฟชั่นเสื้อยืดลายกราฟิก มีรูปภาพ สโลแกน และโลโก้ ซึ่งมีส่วนทำให้เสื้อยืดกลายเป็นแฟชั่นแสดงความเป็นตัวตน นำเสนอแนวคิดต่างๆ รวมถึงการเรียกร้องของมวลชนประเด็นต่างๆ ด้วย

หลายคนยกให้เจมส์ ดีน เป็นผู้ปลุก “วัฒนธรรมเสื้อยืด” จากคำพูดของเขาที่ว่า “ไม่ต้องใส่สูทผูกไทให้หรูหรา แค่ใส่ เสื้อยืดตัวเดียวก็เจ๋งแล้ว !”

ช่วงปี ค.ศ. 1960 และ 1970 เสื้อยืดได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่อต้านและกระแสฮิปปี้ เทคนิคการมัดย้อมและการปรับแต่งแบบ DIY ได้รับความนิยม สะท้อนถึงอุดมคติที่เป็นอิสระแห่งยุคสมัย

ช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 เสื้อยืดยังกลายเป็นผืนผ้าใบสำหรับโลโก้แบรนด์และสินค้าส่งเสริมการขาย การเพิ่มขึ้นของสินค้าแนวร็อกและกีฬาทำให้สถานะของเสื้อยืดกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

วงดนตรีต่างๆ สกรีนชื่อวง และภาพสมาชิกลงเสื้อยืดเพื่อทำเป็นของที่ระลึกให้แฟนเพลงสะสม โดยเฉพาะวงร็อกระดับตำนาน THE ROLLING STONES บวกกับช่วงท้ายยุค 60s-90s ที่เสื้อยืดกลายเป็น “สตรีทคัลเจอร์” ผ่านการสกรีนงานป๊อปอาร์ต โควทคำพูด ภาพคนดัง รวมถึงภาพของบุคคลที่มีความชัดเจนในความคิด ตัวตน และอุดมคติทางการเมือง  เสื้อยืดจึงกลายเป็นหนึ่งสัญญะในการเรียกร้อง และแสดงตัวตน

แน่นอนว่า เสื้อยืดได้ก้าวข้ามต้นกำเนิดอันเรียบง่ายกลายเป็นสินค้าหลักในแฟชั่นชั้นสูงและเสื้อผ้าแนวสตรีท มีแบรนด์ดีไซเนอร์รวมเสื้อยืดไว้ในคอลเลกชันของตน ซึ่งมักประกอบด้วยวัสดุและดีไซน์ระดับพรีเมียม แบรนด์สตรีทแวร์ยังคงขยายขอบเขตการออกแบบเสื้อยืดอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวและความร่วมมือในรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น

ในเมืองไทย แฟชั่นเสื้อยืดได้รับความนิยมหลังวัฒนธรรมตะวันตกแผ่ขยายเข้ามาและกลายเป็นสื่อสะท้อนภาพสังคมแง่มุมต่างๆ ทั้งการออกแบบ เทรนด์ต่างๆ สินค้าทางการตลาด รวมถึงการสกรีนข้อความเรียกร้องเชิงสังคมหลากหลายประเด็นเช่นเดียวกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ มีนักสะสมเสื้อยืด พันธวิศ ลวเรืองโชค ลงทุนเปิด MUSEUM OF TEEs THAILAND : MOTT พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกในไทยในพื้นที่ย่านลาดปลาเค้า เพื่อเปิดประสบการณ์การเสพศิลปะแบบใหม่ผ่าน “เสื้อยืด” ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักล้าน

ขณะเดียวกันมีผู้ผลิตเสื้อยืดแบรนด์ไทยเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นต้องนึกถึงแบรนด์ NO PROBLEM เปิดตัวในปี 1988 หรือราว 36 ปีที่แล้ว โดยเปิดร้านสาขาแรกในห้างมาบุญครอง หรือเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ในทุกวันนี้ และปัจจุบันยังมีแบรนด์ใหม่ๆ อีกจำนวนมาก ตลาดมีฐานลูกค้ากว้างครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับแบรนด์จะเลือกเจาะลูกค้าระดับไหน เพราะคงไม่มีใครไม่เคยใส่เสื้อยืดอย่างแน่นอน.