วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อีกก้าวของการสนับสนุนวงการศิลปะ

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อีกก้าวของการสนับสนุนวงการศิลปะ

เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรในบทบาทของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาและผู้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ ทั้งประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง กอบกาญจน์ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสนับสนุนวงการศิลปะของเมืองไทย ทั้งโดยความชื่นชอบส่วนตัวและการสนับสนุนผ่านโครงการศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ของโตชิบา ไทยแลนด์ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2532

สำหรับบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2512 โดย ดร. กร และท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และในปี 2532 ซึ่งเป็นปีที่ 20 ในไทย โตชิบา ไทยแลนด์ จึงได้ริเริ่มจัดการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคม โดยใช้ “ศิลปะ” เป็นเครื่องมือ

“โตชิบาในประเทศไทยอยู่มาปีนี้จะเข้าปีที่ 55 ปณิธานของโตชิบาคือ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” เราไม่ได้แค่ทำธุรกิจเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะทำธุรกิจอย่างไรให้สังคมดีขึ้นได้ เพราะชีวิตหมายถึงคนทุกภาคส่วน และเป็นหน้าที่เราที่ต้องคำนึงถึงคนทุกคน แม้ว่าเขาจะไม่ได้ซื้อสินค้าของโตชิบาก็ตาม ซึ่งเราคิดว่า ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะศิลปะสามารถพัฒนาคนได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าคือฮาร์ดแวร์มันไม่มีจิตวิญญาณ แต่ศิลปะคือซอฟต์แวร์ และโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบความเป็นศิลปะอยู่แล้วด้วย” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เกริ่นถึงที่มาของการประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ก่อนที่จะขยายความให้เห็นการเดินทางตลอด 35 ปีของโครงการ

โดยเธอเชื่อว่า “ศิลปะ” คือสิ่งที่สามารถพัฒนาคนได้ เพราะกระตุ้นให้คนได้คิดและรู้สึก ผ่านทางสื่อที่ศิลปินนำเสนอ และการให้โอกาสศิลปินคือการทำให้เขาได้ค้นพบความสามารถของตัวเอง นั่นทำให้โตชิบาตัดสินใจจัดการประกวดศิลปกรรมขึ้นครั้งแรกในปี 2532 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในสมัยนั้นเวทีประกวดถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ศิลปินได้แจ้งเกิด

“เราเริ่มต้นโดยการไปคุยกับอาจารย์ศิลปากร อย่าง อ.ถาวร โกอุดมวิทย์ อ.ปรีชา เถาทอง อ.พิษณุ ศุภนิมิตร อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก เรียกว่าเป็น 4 บัดดี้แห่งศิลปากรเลยทีเดียว ณ วันนั้น อาจารย์ท่านก็บอกว่าการประกวดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเวทีให้ศิลปินได้ถูกค้นพบ เป็นที่รู้จัก และเป็นเวทีให้เขาได้ฝึกปรือตัวเอง โตชิบาเลยจัดการประกวดและทำมาอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับธีมในการประกวดคือ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ไม่จำกัดประเภทศิลปะ เทคนิคและขนาด ไม่ว่าจะเป็นสื่อผสม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพวาดสีน้ำมัน สีน้ำ หรือฟิล์ม ถือเป็นการประกวดศิลปะที่เปิดกว้าง ซึ่งได้รับการตอบรับจากศิลปินเป็นอย่างดี เพราะมีคณะกรรมการที่เป็นระดับอาจารย์จากหลากหลายมิติของศิลปะ ทั้งศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ด้านภาพพิมพ์ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง เพนติ้ง อาจารย์มณเฑียร บุญมา ด้านสื่อผสม ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และ ดร.กมล ทัศนาญชลี เป็นต้น

หลังจากจัดการประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตไปได้สองปี จากที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ โตชิบาเริ่มทำศิลปกรรมสัญจร โดยหลังจากจัดการประกวดเสร็จสิ้นจะมีการนำผลงานเหล่านั้นไปจัดนิทรรศการในจังหวัดต่างๆ พร้อมจัดเวทีเสวนา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ไกลได้มีโอกาสดูงานศิลปะ และสร้างความแข็งแกร่งให้วงการศิลปะ

“ศิลปกรรมสัญจร” ของโตชิบา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน การเดินทางยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน การที่มีผลงานศิลปะไปจัดแสดงตามจังหวัดต่างๆ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงศิลปะ และที่สำคัญศิลปกรรมสัญจรยังถือเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดคณะจิตรกรรมของทั้งมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาขอนแก่นอีกด้วย

“เมื่อก่อนเขายังไม่ได้เป็นคณะ เราทำให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญ เพราะมีคนมาดูเยอะ เด็กต่างอำเภอ เด็กจากจังหวัดใกล้เคียงเหมารถมาดู นอกจากนั้น ยังมีการจัดงานเสวนาการสอนศิลปะในประเทศไทยว่าหลักสูตรควรจะต้องเป็นอย่างไร และควรจะพัฒนากันต่อไปอย่างไร เชิญคนสอนศิลปะมาสัมมนากัน จัดที่แรกที่มหาวิทยาลัยบูรพา เลยทำให้เกิดเป็นคณะจิตรกรรมขึ้น เสร็จแล้วไปจัดที่เชียงใหม่ และมาจบที่ศิลปากร”

จากปี 2532 การประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตโดยโตชิบา ไทยแลนด์ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงปีที่ 26 มีผลงานเข้าประกวดรวมแล้วกว่า 54,000 ชิ้น สร้างศิลปินชั้นนำขึ้นมาประดับวงการมากมาย ในขณะที่คณะกรรมการหลายท่านก็ก้าวขึ้นสู่การเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ เช่นกัน

แต่หลังจากปีที่ 26 การจัดการประกวดต้องหยุดลง เพราะบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป การมาถึงของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ศิลปินมีช่องทางในการนำเสนอผลงานของเขาเอง ส่งผลให้ความสำคัญของเวทีประกวดลดน้อยลง

“แต่พอถึงจุดจุดหนึ่ง ที่โลกมันเปลี่ยนแปลงไป เราเริ่มรู้แล้วว่าเวทีการประกวดอาจไม่ใช่สิ่งที่ช่วยศิลปินในการพัฒนาอีกต่อไปแล้ว เพราะคนสามารถรู้จักเขาได้จากทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง IG, เฟซบุ๊ก เราได้คุยกับ อ.ชลูด นิ่มเสมอ ท่านเป็นกรรมการของการประกวดมาตลอด 26 ปี ท่านเห็นว่าเราจริงจังกับการพัฒนาวงการศิลปะ และบอกว่าต่อไปการประกวดจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้ว ถ้ามีโอกาสให้หาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถบ่มเพาะศิลปินที่ตั้งใจเป็นศิลปิน เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำ ให้เขาได้พัฒนาตัวเองแบบลงลึก”

นั่นทำให้กอบกาญจน์ตัดสินใจใช้โอกาสในการครบรอบ 55 ปี โตชิบา ไทยแลนด์ เข้าร่วมให้การสนับสนุนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในโครงการ Early Years Project (EYP) โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นก้าวที่ 2 ของโตชิบา ไทยแลนด์ ในการให้การสนับสนุนวงการศิลปะที่ไม่ใช่แค่การประกวด

โดยโครงการ EYP เป็นการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากการประกวด เพราะการประกวดเป็นการเอางานที่เสร็จเรียบร้อยแล้วมาตัดสิน แต่โครงการ EYP เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเขียนโครงการ สร้างงานร่วมกันกับกรรมการ ทีมฝ่ายนิทรรศการของหอศิลป์ ทีมติดตั้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินตั้งแต่ต้นทางจนถึงการจัดแสดงงาน นั่นหมายความว่า การเป็นศิลปินอาชีพไม่ใช่แค่การสร้างผลงาน แต่ต้องเข้าใจกระบวนการประชาสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายอีกด้วย ซึ่ง BACC จะช่วยบ่มเพาะองค์ความรู้ที่จำเป็นเหล่านั้นสำหรับการเป็นศิลปิน

และเมื่อบ่มเพาะจนศิลปินได้ชิ้นงานจะเปิดให้ประชาชนโหวตผลงาน โดยศิลปิน 3 คนที่รับผลการโหวตสูงสุดจะได้รับงบประมาณเพื่อที่จะไปบ่มเพาะต่อที่ต่างประเทศตามที่ต้องการ และต้องกลับมาด้วยผลงานถัดไป

กอบกาญจน์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ณ วันนี้ ศิลปินไทยมีโอกาสมากขึ้นแล้ว แต่จะทำยังไงให้ศิลปินของเราไม่ใช่อยู่แค่ระดับประเทศไทย แต่ต้องไปไกลถึงระดับโลก ปีนี้ฉลอง 55 ปีโตชิบา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่อเนื่องมาอีกแน่นอน แต่งานหลักของเราคืองานศิลปะ การสร้างคนไม่ใช่การให้เงิน การสร้างคนต้องให้จิตวิญญาณ ซึ่งเราเชื่อมาเสมอว่า ‘ศิลปะ’ ให้ได้มากที่สุด”.