วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Life > เจาะลึกข้อมูลจากกุยบุรี: ความร่วมมือในการจัดการปัญหาระหว่างคนกับช้าง

เจาะลึกข้อมูลจากกุยบุรี: ความร่วมมือในการจัดการปัญหาระหว่างคนกับช้าง

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างถือเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบ ซึ่งความขัดแย้งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มนุษย์ได้เข้าไปบุกรุกแหล่งที่อยู่อาศัยของช้าง และด้วยความเฉลียวฉลาดของช้างที่สามารถรู้ได้ว่าพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมีพืชผลที่เป็นแหล่งอาหารอันโอชะ จึงหันมาหาอาหารกินบนพื้นที่เหล่านี้แทน เมื่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าทับซ้อนกัน การเผชิญหน้ากันจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือในการบรรเทาความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เราได้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการจัดการความขัดแย้งเหล่านี้ผ่านพลังแห่งความร่วมมือเพื่องานอนุรักษ์ในกุยบุรี หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญคือการบุกรุกของช้างป่าในพื้นที่เกษตรกรรมได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2566 ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (SMART Early Warning System) ตรวจพบการบุกรุกของช้างป่า 1,104 ตัว พืชผลได้รับความเสียหายเพียง 4 ครั้ง ดังนั้น จากการบุกรุกมีเพียงร้อยละ 0.39 เท่านั้นที่ทำให้เกิดความเสียหาย ประกอบกับระบบมีการป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2565 หัวใจสำคัญของความสำเร็จเหล่านี้อยู่ที่พลังแห่งความร่วมมือระหว่างองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรดำเนินงานด้านอนุรักษ์เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาชิกในชุมชนโดยรอบ และภาคเอกชน โดยเราจะพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงข้อมูลเชิงอนุรักษ์กันให้มากขึ้นกับ คุณนเรศณ์ เสือทุเรียน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF ประเทศไทย

คุณนเรศณ์ กล่าวว่า “ตลอดเวลาที่ดำเนินงานนี้มา สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจไปต่อก็คือรอยยิ้มและคำชื่นชมจากชาวบ้านที่มีต่องานที่เราทำ” และด้วยความที่อยู่ในพื้นที่มานาน คุณนเรศณ์ ยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนในพื้นที่เสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเขาเน้นย้ำว่า เวลาที่เห็นพืชผลของชาวบ้านถูกทำลาย ก็รู้สึกเหมือนผลผลิตของสมาชิกในครอบครัวโดนทำลายไปด้วย และในฐานะนักอนุรักษ์ ความตั้งใจของเขาคือการเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างทั้งสองฝ่าย

เจาะลึกความร่วมมือของ WWF ในการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในพื้นที่กุยบุรี

การจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในกุยบุรีประกอบไปด้วยหลากหลายวิธีการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

  • การติดตามประชากรสัตว์ป่า (Wildlife Monitoring): WWF ร่วมมือกับกรมอุทยานฯ ในการปรับใช้นวัตกรรมในงานอนุรักษ์ อาทิ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol system) เพื่อติดตามรูปแบบการกระจายตัวของสัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดย WWF ได้มีการสนับสนุนในเรื่องของการจัดอบรม มอบเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงเสบียงอาหารเพื่อใช้ในการลาดตระเวน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของสัตว์ป่า รวมทั้งพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (SMART Early Warning System) ร่วมกับทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยส่งสัญญาณการตรวจพบช้างและสัตว์ป่าไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันให้ออกจากพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเก็บดีเอ็นเอจากขี้ช้าง ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนและเก็บข้อมูลของช้างป่าแต่ละตัวได้ และยังมีการใช้โดรนถ่ายภาพตรวจจับความร้อนที่มีความทันสมัยมาช่วยในการตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์
  • การบริหารจัดการแหล่งอาหาร: การดูแลให้มีแหล่งอาหาร น้ำ และแร่ธาตุที่เพียงพอในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของช้างป่าถือเป็นอีกสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้ช้างออกมารุกล้ำพืชผลของชาวบ้าน โดย WWF ได้มุ่งเน้นการพัฒนาและบำรุงรักษาแหล่งอาหารในพื้นที่อุทยานฯ ด้วยการสร้างแปลงหญ้า โป่งเทียม และกระทะน้ำ รวมถึงการจัดการวัชพืชและหว่านเมล็ดพันธุ์เพิ่มเติม
  • การเสริมสร้างพลังให้กับชุมชน: WWF ได้มีการสนับสนุนชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ ซึ่งสมาชิกชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการเป็นมัคคุเทศก์ พานักท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้มีส่วนร่วมในการทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทียนหอม กระดาษจากขี้ช้าง และผ้ามัดย้อม นอกจากนี้ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันช้าง และการปรับปรุงแหล่งอาหารของช้าง ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยให้ชาวบ้านมีความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการอนุรักษ์อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายในงานอนุรักษ์

ในการดำเนินงานอนุรักษ์ย่อมมีความท้าทายเกิดขึ้น อาทิ ช้างมีความเฉลียวฉลาดอย่างมาก จึงเกิดการปรับตัวในการเปลี่ยนพื้นที่เข้าออกป่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกผลักดันกลับเข้าสู่ป่าหรือต้อนให้ออกจากพื้นที่ทางการเกษตร ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของช้าง รวมไปถึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อีกหนึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นคือการเก็บรวบรวมข้อมูลให้มีความแม่นยำและโปร่งใส เนื่องจากข้อมูลสถิติที่ถูกต้องแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ต่อยอดการวางแผนงานอนุรักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ WWF ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานกรมอุทยานฯ สมาชิกในชุมชนโดยรอบ รวมไปถึงองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน

ไฮไลต์ของงานอนุรักษ์ในการบริหารความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น WWF ยังคงมุ่งมั่นในเจตนารมณ์เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนและสัตว์ป่าในกุยบุรี โดยในปี 2566 รายงานสถิติพบช้างป่าเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 3,195 ครั้ง และจำนวนการเข้าทำลายพืชผลอยู่ที่ 220 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6.89 ของจำนวนครั้งที่พบช้างป่า ในขณะที่ปี 2565 พบช้างป่าเข้าทำลายพืชผลถึงร้อยละ 12.36 ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในการเฝ้าระวังช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

คุณนเรศณ์ ยังกล่าวเสริมว่า โครงการบริหารจัดการแหล่งอาหารและวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้ประชากรของสัตว์ป่าในผืนป่ากุยบุรี เช่น ช้างและกระทิง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ การร่วมมือกันระหว่าง WWF กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์กรอนุรักษ์อื่น ๆ ภาคเอกชน และชาวบ้าน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังได้ขยับขยายเครือข่ายออกไปในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

พลังของการร่วมมือกันระหว่างองค์กร

 การบริหารจัดการปัญหาระหว่างคนกับช้างอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ความพยายามและการร่วมมือกัน ตามที่คุณนเรศณ์ได้เน้นย้ำไว้ว่า “ที่ WWF พวกเราเป็นคนกลางในการอำนวยความสะดวกต่อการสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุมชนโดยรอบ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ” สิ่งนี้สอดคล้องไปกับแนวคิดของ WWF คือ “Together Possible” ด้วยการที่ WWF สนับสนุนความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ร่วมเฉลิมฉลองวันช้างไทยปี 2567 ไปด้วยกันตลอดทั้งเดือนนี้ หากเราร่วมมือกันจะสามารถช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทั้งของคนและช้างได้ ติดตามชม Docu-Series ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงพลังแห่งความร่วมมือ โดยสามารถรับชมและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ ‘We’re Ele-friends: เพื่อช้างเพื่อนเรา’ ได้ที่เพจ Facebook: WWF Thailand