วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > 20 เมกะโปรเจกต์ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

20 เมกะโปรเจกต์ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

 
เมกะโปรเจกต์ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้กรอบ S-Curve ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งต้นทุนของการผลิต การบริการ ความสะดวกในการคมนาคมที่เป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้ 
 
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศโดยหลักๆ อยู่ที่ธุรกิจการท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ ทั้งที่เป็นโครงการเก่าที่ยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งไทยจะต้องพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
ทั้งนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญต่อเมกะโปรเจกต์ทั้งที่กำลังก่อสร้าง หรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติ ซึ่งเส้นทางคมนาคมที่กำลังเกิดขึ้นจะเชื่อมต่อโยงใยพื้นที่ต่างๆ ของประเทศสร้างให้เกิดความสะดวกสบายและร่นระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหมายถึงต้นทุนโลจิสติกต์ที่จะลดลงในอนาคตสำหรับภาคอุตสาหกรรม
 
โดยอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พยายามผลักดันโครงการต่างๆ ให้ผ่านขั้นตอนแรก ซึ่งคือขั้นตอนการอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ผลดีจากการลงทุนของภาครัฐนั้นย่อมก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้ 
 
เมื่อภาคเอกชนเห็นว่านโยบายใดของรัฐบาลที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว นักลงทุนจะเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากราคาที่ดินบริเวณเส้นทางระบบขนส่งมวลชนแบบรางนั้น ราคาประเมินถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยภาคเอกชนที่ตอกหมุดจับจองพื้นที่กันอย่างรวดเร็ว รอเพียงการพัฒนาไปสู่ที่พักอาศัยแนวตั้ง หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 
 
กระนั้นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่อาคมเล็งเห็นและให้ความสำคัญนั้นคือเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบราง ทั้งนี้ 20 โครงการจะถูกดำเนินงานภายใต้กรอบระยะเวลาการทำงาน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558–2565 ซึ่งจะดำเนินการภายใต้แผนงาน 5 แผน 1. โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2. โครงข่ายขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหาการจราจร 3. ความสามารถของทางหลวงในการเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศ 4. โครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5. การขนส่งทางอากาศ 
 
แผนงานที่ 1 โครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร 6  เส้นทาง ได้แก่  1. ฉะเชิงเทรา-คลอง19-แก่งคอย 2. ถนนจิระ- ขอนแก่น 3. ประจวบคีรีขันข์-ชุมพร 4. ลพบุรี-ปากน้ำโพ 5. มาบกะเบา-ถนนจิระ 6. นครปฐม-หัวหิน 
 
ทั้งนี้รถไฟทางคู่นั้นจะถูกปรับปรุงรางจากเดิม 1 เมตร เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ภายใต้กรอบความร่วมมือ ไทย-จีน โดยจะมี 4 ช่วง คือ 1. กรุงเทพฯ-แก่งคอย 2. แก่งคอย-มาบตาพุด 3. แก่งคอย-นครราชสีมา 4. นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในกลุ่มแม่น้ำโขง 
 
โดยจะมีการเปิดตัวโครงการรถไฟไทย-จีน ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เริ่มต้นจากอาคารศูนย์การควบคุมและการบริหารการเดินรถ ที่เชียงรากน้อย 
 
อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เป็นการร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยมีเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 
 
กระนั้นยังมีโครงการเส้นทางรถไฟที่เป็นความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงเส้นทาง Southern Corridor โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดูแล หากเส้นทางนี้เกิดขึ้นจะสามารถเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือน้ำลึกทวาย 
 
แผนงานที่ 2 สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังจะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนการขออนุมัติจาก ครม. นั้น มี 10 เส้นทาง เช่น สายสีส้ม ด้านตะวันออก มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม สายสีม่วง ด้านทิศใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีเขียว อยู่ระหว่างก่อสร้าง ด้านทิศใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ด้านทิศเหนือ หมอชิต-คูคต-ลำลูกกา
 
ทั้งนี้ยังมีเส้นทางมอเตอร์เวย์ซึ่งอยู่ในแผนงานที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่เส้นทาง บางใหญ่-กาญจนบุรี เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา 
 
แผนงานที่ 4 เส้นทางคมนาคมทางน้ำ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะมีการนำเส้นทางรถไฟเข้าไปให้มากขึ้น 
 
แผนงานที่ 5 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โดยจะมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ ได้แก่ อาคารSattellite , Terminal 2 , Terminal 3 ทั้งนี้จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 100 ล้านคนต่อปี
 
สำหรับเงินลงทุนโครงการด้านคมนาคมขนส่ง หรือเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคมนั้น ประมาณ 1.796 ล้านล้านบาท โดยภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการดังกล่าว 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ภาครัฐไม่จำกัดการลงทุน เพราะยังมีโครงการที่เปิดให้ภาคเอกชนลงทุนอีก 2 โครงการคือ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-ระยอง 
 
20 โครงการนี้ อาคมมีความพยายามจะเร่งผลักดันให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในปี 2558 เพื่อที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2559 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะมีทั้งที่เป็นโครงการระยะสั้นและโครงการระยะยาว 
 
นับเป็นการวางหมากในการพัฒนาระบบคมนาคมให้ประเทศโดยที่ไม่ต้องเจอกับอุปสรรคการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าเมื่อดูจากช่วงเวลาแล้วโครงการระยะสั้นนั้นคงจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น อาคมตัดปัญหาการไม่สานต่อโครงการที่จะยังประโยชน์มาสู่ประชาชนโดยเร่งอนุมัติภายในปีงบประมาณ 2559 
 
ทั้งนี้การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในด้านการคมนาคมของไทย น่าจะช่วยส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการลงทุนให้คึกคักมากยิ่งขึ้น กระนั้นรัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขที่น่าสนใจ คุ้มค่า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน ซึ่งเงื่อนไขนั้นจะต้องดำเนินไปด้วยความยุติธรรม 
 
ดูเหมือนว่ากรอบเงินงบประมาณสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สูงถึงเกือบ 1.8 ล้านล้านบาทนั้นจะสร้างความกังวลใจไม่น้อย หากแต่กระทรวงคมนาคมจะสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้จากงบประมาณประจำปี แผนบริหารหนี้สาธารณะ เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน รายได้จากรัฐวิสาหกิจ และเงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง 
 
ภาพกว้างของเมกะโปรเจกต์ทำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อโครงข่ายบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งหวังจะให้เกิดความคล่องตัวของระบบโลจิสติก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอันดับต้นๆ ของนักลงทุนในการตัดสินใจที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
 
อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ลืมว่าปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาแทบจะทุกยุคทุกสมัย คือการคอร์รัปชั่น ซึ่งการคอร์รัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
 
หากคณะทำงานมีเป้าประสงค์ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวขึ้นไปยืนแถวหน้าบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องจัดการปัญหาการคอร์รัปชั่นที่กัดกินสังคมไทยจนผุกร่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นในเรื่องการประมูล การประกวดราคา การก่อสร้าง และอาจรวมไปถึงการขอสัมปทานจากภาครัฐ 
 
แม้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย แต่หากต้องการให้เกิดผลของความเปลี่ยนแปลง และความมั่นคงในระยะยาวนั้น จำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างจากภายใน 
 
โดยประเด็นสำคัญที่บรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เสนอไว้ในการเสวนา “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งระยะยาว” ว่าเมื่อมีปัญหาต้องไม่หลีกเลี่ยงที่ไม่พูดถึง เพราะจะไม่เกิดการแก้ไขที่ยั่งยืน ทั้งนี้ยังต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การต่อต้านคอร์รัปชั่น การปฏิรูประบบการเงิน และการแก้ไขกฎหมายที่ประเทศไทยไม่เคยมี สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุน การสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์
 
ทั้งนี้ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) ที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องการวางโครงสร้างเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับการลงทุน PPP ของภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐต้องมีความชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ต้องมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้สามารถลงทุนในระยะยาวได้อย่างเสรี อีกทั้งยังป้องกันการถอนการลงทุนที่มีอยู่เดิมและลงทุนใหม่ได้อย่างมั่นคง
 
ด้านฟากฝั่งของผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กล่าวในการเสวนาว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพาส่งออกมากเกินไป จึงทำให้เกิดการขาดความสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะส่งผลกระทบถึงไทยแบบฉับพลัน และจะทำให้กลายเป็นปัญหาระยะยาว 
 
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องความไม่สมดุลของโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรและแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เพียงแต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก
 
ดูเหมือนว่าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจในอีกหลายประเด็น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนฟันเฟืองของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง