วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Life > สัญญาณบ่งชี้ว่าต้องทำจิตบำบัด

สัญญาณบ่งชี้ว่าต้องทำจิตบำบัด

 
Column: Well – Being
 
ผู้คนจำนวนมากเคยชินกับการยอมเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยทางอารมณ์โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร แต่นิตยสาร GoodHealth ให้ข้อคิดและคำแนะนำว่า นักจิตวิทยาช่วยให้คุณผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากทางจิตใจได้
 
“มีคนมากมายยอมจมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมานอย่างเงียบๆ พวกเขาอับอายเกินกว่าจะยื่นมือออกมาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งที่อาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้” ดร.ลุยซี บลันเดลล์ แห่งสถาบันจิตวิทยาบริสเบนซิตีอธิบาย “ภาวะซึมเศร้าทางอารมณ์เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างไม่ปกติในชีวิตของเรา และภาวะดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาตามปกติที่มีต่อสถานการณ์ที่ผิดปกติหรือยากลำบาก การทำจิตบำบัดช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความยุ่งยากในชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
 
ศูนย์ให้คำปรึกษาและการสะกดจิตบำบัดให้นิยามว่า จิตบำบัด คือ การบำบัดรักษาอารมณ์และจิตใจหรือบุคลิกภาพที่ผิดปกติ โดยวิธีทางจิตวิทยา เพื่อบรรเทาปัญหาและความผิดปกติของผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยมีวุฒิภาวะที่ดีขึ้น มีความพึงพอใจและพึ่งตนเองได้ ปัจจัยสำคัญในการบำบัดรักษาที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บำบัดรักษากับผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านกระบวนการความสัมพันธ์นี้ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด ทัศนคติและประสบการณ์กับผู้ให้การบำบัดได้ และในขณะเดียวกันผู้ให้การบำบัดก็จะต้องให้ความอบอุ่น เข้าใจ ยอมรับ ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ ต้องเคารพในตัวผู้ป่วย และยอมรับในคุณค่าของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
 
จิตบำบัดเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคนสองคน คือผู้ป่วยและผู้บำบัดรักษา ในที่นี้ผู้ป่วยคือบุคคลที่มีปัญหา และผู้บำบัดรักษาคือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย หรือนักการศึกษาก็ได้ ทั้งนี้แล้วการบำบัดทางจิตสามารถแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ ได้แก่ จิตบำบัดรายบุคคล และจิตบำบัดแบบกลุ่มนิตยสาร GoodHealth ยังนำเสนอว่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงตัวชี้วัด 8 ประการที่เตือนว่า คุณอาจต้องการความช่วยเหลือด้านจิตบำบัดจากนักจิตวิทยาดังนี้
 
เมื่อสัมพันธภาพตึงเครียด
ถ้าสัมพันธภาพของคุณกับคนรอบข้างอยู่ในภาวะตึงเครียด นักจิตวิทยาช่วยให้คุณเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และจะรับมือหรือจัดการกับปัญหาได้อย่างไร
 
“การมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง มักมีแรงขับเคลื่อนจากความกลัวที่ซ่อนเร้น และการที่เราพัฒนาวิธีการปกป้องตนเองให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวดที่เคยประสบ” ดร. บลันเดลล์ ให้ความกระจ่าง
 
“ถ้าสัมพันธภาพใดทำให้คุณรู้สึกซึมเศร้าหรือมีปัญหา คุณจะมีพฤติกรรมโต้เถียงบ่อยครั้ง หรือไม่สามารถไว้วางใจหรือเชื่อมโยงกับผู้อื่น จิตบำบัดช่วยให้คุณมีเครื่องมือช่วยฟื้นฟูสัมพันธภาพให้ดีขึ้น หรือรู้ตัวว่าควรจะเดินออกจากปัญหาเมื่อไรจึงหลีกเลี่ยงการโต้เถียงได้”
 
เมื่อชีวิตช่างน่ากลัว
ดร. แคทริน จิลสัน นักจิตวิทยาคลินิกแห่งเมลเบิร์น กล่าวว่า “ทุกคนล้วนเคยมีช่วงเวลาคิดถึงเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิต แต่ถ้าความคิดนั้นรบกวนจิตใจตลอดเวลา คุณจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือกระวนกระวายใจได้ ความรู้สึกหวาดกลัวทำให้คุณพยายามหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ต่างๆ ปลีกตัวจากผู้คนหรือกิจกรรม หรือไม่ใช้ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุให้ภาวะซึมเศร้าและกระวนกระวายเลวร้ายลง”
 
จิตบำบัดช่วยให้คุณค้นพบสาเหตุและเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ได้ รวมทั้งหาหนทางรับมือ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตโดยปราศจากความกลัวได้
 
เมื่อหมกมุ่นกับอดีต
 เมื่อเผชิญกับความเศร้าโศกหรือความเจ็บช้ำอย่างสุดซึ้ง เราต้องใช้เวลาถึงสองปีจึงทำให้ความรู้สึกนั้นทุเลาลง แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเวลาผ่านไปนานมากแล้ว และยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ ดร. บลันเดลล์แนะนำให้พบนักจิตวิทยา
 
สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณกำลังเผชิญกับปฏิกิริยาหลังความเจ็บช้ำหรือเศร้าโศก คือ ฝันร้าย การคิดถึงแต่เหตุการณ์นั้นๆ ตลาดเวลา เบื่ออาหาร ตัดขาดจากสังคม ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมความโกรธไม่ได้ ร้องไห้ทุกวัน รู้สึกห่างเหินจากคนอื่น และไม่เป็นตัวของตัวเอง
 
เมื่อย้ำคิดย้ำทำ
ดร. คาเรน โดนัลด์สัน นักจิตวิทยาแห่งนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า “การย้ำคิดย้ำทำในช่วงเวลาสั้นๆ อาจมีประโยชน์ เพราะช่วยทำให้อาการกระวนกระวายทุเลาลงได้บ้าง แต่ในระยะยาวถือเป็นผลเสีย เพราะทำให้หมกมุ่นกับอาการนั้นตลอดเวลา หากไม่เยียวยาจะส่งผลเสียต่อชีวิตด้านอื่นๆ เป็นอย่างมาก และเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังป่วยจากภาวะกระวนกระวายหรือการกินผิดปกติ จึงแนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาแต่เนิ่นๆ”
 
เมื่อโศกเศร้าเกือบตลอดเวลา
ทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์เศร้าเสียใจ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติของชีวิตเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด แต่ถ้ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า
 
“ถ้าคุณรู้สึกเศร้าเกือบตลอดเวลา และไม่สนใจในกิจกรรมหรือเพื่อนมนุษย์เป็นเวลานานติดต่อกันเกินสองสัปดาห์ ให้ปรึกษานักจิตวิทยา ภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการเยียวยา อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าเรื้อรังและคิดฆ่าตัวตาย” ดร. จิลสันกล่าวทิ้งท้าย
 
เมื่อหงุดหงิดโมโหเป็นนิจ
“การหงุดหงิดโมโหเป็นครั้งคราวถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมความโกรธ นักจิตวิทยาช่วยหาสาเหตุความเครียดและความโกรธได้ และช่วยคุณหาหนทางรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างสงบ” ดร. จิลสันกล่าว
 
“ถ้าคุณมีความรู้สึกที่รุนแรง เสียใจ หรือโกรธ เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าความต้องการในชีวิตที่ถาโถมเข้ามานั้น มีมากเกินกว่าที่ทรัพยากรที่มีอยู่จะรองรับได้ หรือคุณทนทานได้น้อยลง” ดร. โดนัลด์สันกล่าวเสริม หากคุณเกิดอารมณ์ใดก็ตามที่ทำให้คุณปฏิบัติต่อตนเองหรือผู้อื่นแย่ลง นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณควบคุมไม่ได้ นักจิตวิทยาช่วยหาสาเหตุของพฤติกรรมแย่ๆ และแนะนำวิธีผ่อนคลายให้คุณได้”
 
เมื่อเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ
ถ้าคุณพบแพทย์และได้รับการตรวจร่างกายและว่าสุขภาพแข็งแรงดี อาจเป็นไปได้ว่าอาการป่วยทางกายภาพที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับสุขภาวะทางอารมณ์ โดยเฉพาะถ้าคุณอยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล หรือกระวนกระวาย
 
ดร. บลันเดลล์กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากประหลาดใจในความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าลองคิดง่ายๆ ว่า เมื่อเครียดแล้วทำให้ปวดศีรษะ คุณจะไม่ประหลาดใจอีกต่อไป
 
อาการป่วยบางชนิด เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน ปวดเสียวตามมือและเท้า หายใจขัด คลื่นไส้ และตาค้างนอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุจากความเครียด นักจิตวิทยาช่วยให้คุณเข้าใจอาการผิดปกติเหล่านี้ และร่วมกันหาทางเยียวยาได้
 
เมื่อผละหนีไปอย่างกะทันหัน
คุณเคยได้ยินกรณีที่บางคนผละหนีจากคู่สมรสหรืองานโดยกะทันหัน ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เพราะไม่อาจทนต่อไปได้แม้เพียงนาทีเดียว ซึ่งดร. โดนัลด์สันอธิบายว่า
 
“พฤติกรรมการผละหนีลักษณะนี้ เป็นยุทธวิธีรับมือกับปัญหาในระยะสั้น บางคนนำมาใช้เมื่อต้องเผชิญกับภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการพัฒนาทางอารมณ์ที่ผิดปกติได้ เพราะการผละหนีจากปัญหา ทำให้เกิดการสะสมความเครียด และนำไปสู่อารมณ์ซึมเศร้าและอาการผิดปกติอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อมันนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ”
 
 
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว