วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > New&Trend > บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์

บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์

บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มุ่งดำเนินตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap” เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ล่าสุดขยายพอร์ตการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายใต้การดำเนินธุรกิจของ B.Grimm Solar Power Inc. (“BSP”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้นทั้งหมด ได้เข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นทั้งหมด (ซื้อในสัดส่วนร้อยละ 100) จากบริษัท Amatera Renewable Energy Corporation (ARECO) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 65 เมกะวัตต์ ถือเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานทดแทนที่มีการต่อยอดและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นคง

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) โดยมีความยินดีที่สามารถขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท B.Grimm Solar Power Inc. หรือ BSPซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท Amatera Renewable Energy Corporation หรือ ARECO ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 65 เมกะวัตต์ โดยมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นทั้งหมด จำนวน 5.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการขยายการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์การมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลกและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ GreenLeap-Global and Green ที่มุ่งยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนเกาะเนกรอส ตอนกลางของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้สิทธิในการใช้ที่ดินระยะยาว และได้รับหนังสือรับรองความพร้อมทางพาณิชย์ (Certificate of Confirmation of Commerciality) ซึ่งออกโดยกระทรวงพลังงานเพื่อรับรองและยืนยันให้เริ่มดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโครงการได้เรียบร้อยแล้ว”

สำหรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง การเข้าลงทุนดังกล่าวจะช่วยพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนตามแนวโน้มการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างความเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ บี.กริม เพาเวอร์ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ได้ประกาศการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายใต้บริษัทลูกและบริษัทร่วมทุนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาลไทยรวม 339.3 เมกะวัตต์, การลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซียรวม 90 เมกะวัตต์ (MWdc), การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 98.99 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐเกาหลีและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิตติดตั้ง 80.9 เมกะวัตต์ (MWp) ในสาธารณรัฐอิตาลี เป็นต้น

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการในหลาย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา กรีซ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย โดยการขยายการลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวและยังเป็นการขยายความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจเสมอมา มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา ในปี 2573 และการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593) อีกด้วย