วันพุธ, กันยายน 18, 2024
Home > Cover Story > NIA-TED Fund หนุน “ฮารุนะ” สตาร์ทอัปไทยไปไกลระดับยูนิคอร์น

NIA-TED Fund หนุน “ฮารุนะ” สตาร์ทอัปไทยไปไกลระดับยูนิคอร์น

Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 230 ล้านล้านบาท และหากย้อนไปปี 2562 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2563 มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 145 ล้านล้านบาท

นอกจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธุรกิจสปาที่เป็นตัวเอกในอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งเป็นการดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเองในลักษณะการป้องกัน สร้างภูมิต้านทาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรค และยังเป็นการฟื้นฟูความเสื่อม

โพรไบโอติก คือ อีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโต ปัจจุบันตลาดโพรไบโอติกมีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราความเจริญเติบโตต่อปีสูงถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับตลาดโพรไบโอติกในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาทต่อปี

สตาร์ทอัป ถูกกำหนดเป็นแผนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับชาติ มีการผลักดันกฎหมยและสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อผู้ทำธุรกิจ อีกทั้งยังได้เห็นนวัตกรรมที่เกิดจากสตาร์ทอัปที่มีความสามารถในหลายแขนง สิ่งที่น่าสนใจในอีกมิติหนึ่งคือการสยายปีกของกลุ่มยูนิคอร์นที่ไม่ว่าจะเป็น แฟลช เอ็กซ์เพรส ไลน์แมนวงใน ที่สามารถระดมทุนได้หลายพันล้านบาท

ขณะที่ไทยยังเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญที่เหมาะแก่การจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัปด้วยจุดแข็งที่เอื้อและตอบโจทย์ทิศทางการลงทุนใหม่ของโลก ทั้งการมีโลเคชันที่อยู่ใจกลางภูมิภาค ใกล้ตลาดใหญ่อย่างอาเซียน จีน และอินเดีย ทำให้สตาร์ทอัปที่ดำเนินธุรกิจในไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ได้หลากหลาย ในขณะเดียวกันยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งค่าครองชีพ ไลฟ์สไตล์ การสนับสนุนจากภาครัฐในหลากหลายมิติที่จะช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัปหน้าใหม่

“ฮารุนะ” คืออีกหนึ่งสตาร์ทอัปไทยด้านเฮลท์เทค ที่น่าจับตามอง หลังจากได้รับทุนสนับสนุนด้านการวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA พร้อมด้วยกองทุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ที่ต่อยอดนวัตกรรมจนกระทั่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ผงผักพรีไบโอติก ชูจุดเด่นนวัตกรรม 3P

ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและส่งเสริม เอสเอ็มอี สตาร์ทอัป วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนไทย โดยปรับเพิ่มการพัฒนาด้านการตลาดให้มากขึ้น เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง

ซึ่ง NIA ยังให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติมในด้านการสร้างธุรกิจแบบ Startup ที่มี “นวัตกรรม” เป็นตัวนำทาง โดย NIA ยินดีสนับสนุนทุกนวัตกรรมของคนไทยที่มีศักยภาพให้เติบโตและอยากเป็น ฮารุนะ ผงผักพรีไบโอติก เป็นยูนิคอร์นรายหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งถือว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเติบโตและยั่งยืน”

นอกจากนี้ ฮารุนะ ผงผักพรีไบโอติก ยังได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ TED Market Scaling up ของ TED Fund จาก 200 กว่าโครงการที่เข้ารับการคัดเลือก เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังได้รับรางวัลจากการ Vote ของผู้ร่วมอบรมโครงการ TED Market Scaling up ว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนที่สุด

นที ศิริธรรมวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีทีเค อินโน กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาผงผักพรีไบโอติกแบรนด์ “ฮารุนะ” กล่าวว่า “บริษัทได้ร่วมมือกับ NIA นำฮารุนะ ผงผักพรีไบโอติก เข้ารับการวิจัยลำไส้จำลอง (Guts Model) และพบว่า ผงผักพรีไบโอติกมีนวัตกรรม 3P คือ ฮารุนะเป็นพรีไบโอติก อาหารจุลินทรีย์ที่สร้างโพรไบโอติก ที่เป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์สำคัญในลำไส้ถึง 9 กลุ่ม และเจริญเติบโตแบบทวีคูณ ส่งผลต่อการสร้างกรดไขมันห่วงโซ่สั้น หรือ โพสไบโอติก ที่สมดุลในลำไส้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง สามารถแก้ปัญหาท้องผูกได้ 98.4 เปอร์เซ็นต์ จึงมั่นใจว่า ฮารุนะ ผงผักพรีไบโอติก สามารถแก้ปัญหาท้องผูกของผู้ที่มีปัญหาได้”

แน่นอนว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกในท้องตลาดมีผู้เล่นอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะแบรนด์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การทำการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่เป็นสตาร์ทอัปอาจจะไม่ง่ายนัก นที บอกเล่าว่าใช้งบการลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมาณ 10 ล้านบาท

“หากเริ่มต้นตั้งแต่การลองผิด ลองถูก เราใช้งบการลงทุนไปประมาณ 10 ล้านบาท ตอนที่ได้ทุนมาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ประมาณหนึ่งล้านกว่าบาท เราต้องวิจัยลำไส้จำลอง ต้องศึกษาหลายอย่าง ถ้าได้ผลงานวิจัยออกมาไม่ดี เท่ากับว่างานวิจัยนั้นคือ ศูนย์ เราต้องปรุง เทสต์ อบ หลายครั้งจนทุกอย่างเสถียร ทำให้เรากล้าพูดได้ว่าเราทำออกมาได้ดีและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของเรา”

ตลาดพรีไบโอติกในไทยมีการแข่งขันสูง หลายแบรนด์ชูตัวเอกอย่าง “พรีไบโอติก” หรือ “โพรไบโอติก” แต่นทีมองว่า ฮารุนะนั้นแตกต่างจากสินค้าในท้องตลาดด้วย “โพสไบโอติก”

“แนวโน้มตลาดนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีก ดูได้จากมูลค่าตลาดพรีไบโอติกทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปีหน้าอาจจะเพิ่มเป็น 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์เราเองก็ไม่ได้จะแย่งชิงตลาดกับใคร เพียงแต่เรานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น เราอาจจะได้ส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดในไทยที่มีอยู่ 4.1 พันล้านบาท นั่นคือ 200 ล้านบาทที่น่าจะเป็นของเรา แต่จะไปถึงจุดนั้นได้เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ที่จะสร้างการรับรู้”

การได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นับเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้กับแบรนด์ฮารุนะ ที่จะทำให้ไปได้ไกลกว่าการจำหน่ายแค่ในประเทศเท่านั้น

“การที่มีโลโก้ของ NIA รับรองถือว่าเป็นใบเบิกทางให้เราได้ โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ที่ Thai Trade นำสินค้าของเราไปดูไบได้ การที่เรามีหน่วยงานภาครัฐมาสนับสนุน ช่วยให้แบรนด์ของเราไปได้ไกลขึ้น”

ธุรกิจสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์น คือสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าการลงทุนที่ได้รับจากนักลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สตาร์ทอัปยูนิคอร์นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น  Airbnb, Uber หรือ Xiaomi ขณะที่ของไทย สตาร์ทอัปที่ก้าวไปถึงระดับยูนิคอร์นแล้วได้แก่ Bitkub, Flash Express และ Ascend

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ๆ จะวาดฝันว่าธุรกิจที่ตัวเองกำลังปลุกปั้นขึ้นมานั้น จะสามารถก้าวขึ้นไปสู่การเป็นสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นได้ เพราะนั่นหมายถึงเงินลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ

“การจะก้าวเข้าสู่การเป็นยูนิคอร์น ผมคาดหวังว่าจะทำให้ได้ภายใน 5 ปี ไม่เกิน 7 ปี ผมเรียนด้านสตาร์ทอัปมาจาก NIA โดยเฉพาะเรื่อง scale up ผมแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงนี้คือ การนำสิ่งที่มีอยู่แล้วไปสู่ตลาดแมส  ช่วงที่สองคือ เมื่องานวิจัยจากมหิดลสำเร็จลุล่วงเราจะขอ อย. เพื่อยกระดับให้เป็นอาหารที่แพทย์สั่งได้ (อาหารทางการแพทย์) ซึ่งเราตั้งใจจะนำเข้าโรงพยาบาล ช่วงที่ 3 คือการทำ Economy of Scale ขยายโรงงานการผลิต เพื่อให้ราคาสินค้าของเราถูกลง ตอนนี้เราจำหน่าย 30 บาท หากเหลือ 20 บาท เราจะได้ลูกค้ามากขึ้น และสุดท้ายคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังต้องศึกษาหากต้องการจะเข้าไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้”

นที วางเป้าหมายแบรนด์ฮารุนะไว้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ 300 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 40 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าปัจจุบันสินค้ายังเป็นเพียงระดับ Food grade แต่การยกระดับในลำดับถัดไปคือการก้าวไปสู่ “อาหารทางการแพทย์” ซึ่งน่าจะทำให้แบรนด์ “ฮารุนะ” ก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น.