วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > เปิดไอเดียปลุกปั้น Clicknic เจาะฐานบัตรทอง 47 ล้านคน

เปิดไอเดียปลุกปั้น Clicknic เจาะฐานบัตรทอง 47 ล้านคน

นักธุรกิจหนุ่มวัยสี่สิบ จบสาขาเศรษฐศาสตร์ มีธุรกิจส่วนตัวผลิตถังก๊าซหุงต้ม แต่มีเพื่อนกลุ่มแพทย์และเภสัชกรหลายคน เขาเกิดไอเดียและเห็นโอกาสธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำจริงจัง ตัดสินใจรวมตัวกับเพื่อนทำ Telepharmacy ก่อนอัปเกรดเป็น Telemedicine และกำลังเตรียมโปรเจกต์ใหญ่ ไม่ใช่แค่สร้างเครือข่ายทั่วกรุงเทพฯ แต่ต้องการปูพรมทั่วประเทศ

“ผมมองว่า Telemedicine ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ แก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไทย เราไม่ได้ต้องการสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่ต้องการแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น แก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว”

นีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด (Clicknic) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงแนวคิดและจุดเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งความจริงเป็นการดิสรัปชัน (Disruption) โรงพยาบาล สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คุณหมอกับคนไข้มาเจอกัน แทนการเจอกันในโรงพยาบาล สะดวกรวดเร็วขึ้น ใช้เวลารอไม่กี่นาที พร้อมบริการส่งยาถึงบ้านและเคลมสิทธิ์บัตรทองได้ รวมถึงสิทธิ์ประกันของบริษัทเอกชน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

แน่นอนว่า ช่วงแรกเหมือนสิ่งใหม่ในตลาด แต่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาดสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนเรียนรู้ระบบเทเลเมดิซีน ในจังหวะเวลาที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องงัดโครงการ Self-Isolation ทั้งการปรึกษา จ่ายยา ไปจนถึงติดตามอาการอย่างทันท่วงที

“เราร่วมกับ สปสช. โปรเจกต์แรกช่วงโควิดแพร่ระบาด 2 ปีที่แล้ว ใช้ระบบคอนซัลต์คุณหมอผ่านแอปฯ Clicknic และบริการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ผ่านระบบโลจิสติกส์ถึงบ้าน ประสบความสำเร็จมาก มีการขยายเครือข่ายบริการ และหลังผ่านโควิด สปสช. อนุญาตขยายบริการโรคทั่วไป 42 อาการ สามารถดูแลผ่านเทเลเมดิซีนได้ เราเกิดไอเดียต้องการฮับ เพราะหลายครั้งก่อนเจอคุณหมอ ต้องตรวจร่างกาย ต้องเดินเข้าคลินิก มีพยาบาลตรวจร่างกาย ทำแผลได้ เมื่อถึงเวลาต้องการหมอ สามารถเทเลได้ ผ่านไอแพดหรือทีวี เราต้องการเซอร์วิสตรงนี้ และ สปสช. ต้องการเช่นกัน”

นั่นจึงเป็นที่มาการต่อยอดความร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ “โอบอ้อมคลินิก” ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station นำร่องสาขาหนองแขมเป็นแห่งแรก เป็นช่องทาง O2O Online to Offline

“ช่วงแรก Clicknic เป็นช่องทางออนไลน์อย่างเดียว เฉลี่ยให้บริการ 400-500 เคสต่อวัน แต่ขณะนี้เราเปิดช่องทางผ่านคลินิกและขยายฐานลูกค้าเติบโตมากขึ้น เราตั้งเป้าหมายเพิ่มการบริการเท่ากับโรงพยาบาลขนาดกลาง 1 แห่ง 2,000-3,000 คน และขยายไปถึง 7,000-10,000 เคส เท่ากับโรงพยาบาลขนาดกลางรวมกัน 3 แห่ง เพราะหนึ่งในจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ลดความแออัดในโรงพยาบาลตามนโยบายของ สปสช.”

นักธุรกิจหนุ่มบอกว่า ภาพสะท้อนปัญหาที่ชัดเจนมาก คือ การรอคิวในโรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยต้องเอารองเท้าไปจองคิวตั้งแต่ตี 5 ได้เจอหมอตอน 10-11 โมง รอรับยาบ่ายสอง หมด 1 วันเต็มๆ ทั้งที่โรคที่ต้องไปโรงพยาบาลมีสัดส่วนแค่ 20% ของคิว อีก 70-80% รักษาได้ผ่านเทเลเมดิซีน

ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนคน 70-80% ใช้เทเลเมดิซีนได้  ผู้ป่วยอาการหนักและต้องพบหมอด่วนๆ จะได้รับบริการเร็วขึ้นและดีขึ้น ซึ่งล่าสุด สปสช. ประกาศขยายพื้นที่นำร่องให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มอาการผ่านเทเลเมดิซีน เพิ่มเติมจากในกรุงเทพฯ ไปยัง 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม รวมถึงในอนาคตคาดว่าจะพยายามขยายไปทั่วประเทศ เพราะสามารถวิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคสและระยะเวลาจัดส่งยาเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน โครงการ “โอบอ้อมคลินิก” ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สามารถเป็นฮับเชื่อมต่อโอทูโทและวางแผนเพิ่มเครือข่ายต่อเนื่อง เพื่อรองรับกลุ่มผู้มีสิทธิ์บัตรทองทั้งหมด

ปัจจุบันลูกค้าของ Clicknic จึงเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิ์บัตรทองมากกว่า 60% ที่เหลือเป็นกลุ่มประกันเอกชนรายใหญ่และลูกค้าที่จ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินเองยังมีสัดส่วนน้อยมาก แม้เฉลี่ยค่าบริการทั้งการพบแพทย์ ค่ายาและค่าส่งยาถึงบ้าน เริ่มต้นเพียง 700-800 บาทต่อครั้ง เทียบกับการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนต่อครั้ง เฉลี่ยสูงถึง 2,600 บาท เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งบัตรทองและบัตรประกันสังคม ที่เหลือเลือกซื้อประกันเอกชน

สำหรับความต้องการแพทย์ในระบบ ล่าสุด บริษัทจัดแพทย์ไว้ 45-50 คน ครอบคลุมอาการที่สามารถรักษาผ่านเทเล 42 อาการและครอบคลุมโรค 60-70% ที่ใช้บริการโรงพยาบาล โดยกระบวนการตั้งแต่ผู้ป่วยติดต่อเข้ามา ใช้ระยะเวลารอหมอรับวิดีโอคอลไม่เกิน 4-5 นาที หรือเฉลี่ย 1-2 นาที จากปกติที่ผู้ป่วยเดินเข้าโรงพยาบาลและคนไข้เป็นฝ่ายรอหมอ แต่ Clicknic เหมือนบริการ Uber

ทันทีที่คนไข้เข้ามา หมอในระบบทั้ง 40 กว่าคนจะเห็นเคสพร้อมกันทั้งหมด หมอที่สะสมเรตติ้งจากผู้ป่วยที่ผ่านๆ มาจะได้เห็นเคสก่อนและเลือกเคสได้ก่อน หมอจะแย่งกันรับเคสทำให้การตอบรับใช้เวลารวดเร็วมาก

“แพทย์ในระบบส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ไม่ได้ประจำโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เป็นหมอที่รับจ็อบทำงานหลายๆ โรงพยาบาล หรือหมอที่กำลังใช้ทุนไปประจำโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งรับเคสไม่มาก บริษัทพยายามดึงคุณหมอกลุ่มนี้กลับเข้ามาช่วยคนกรุงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ถามว่า คนไทยตอบรับระบบเทเลเมดิซีนดีแล้วหรือยัง นีลย้ำว่า ดีมาก จากประสบการณ์ในช่วงโควิดเขาหายป่วยจริง และเมื่อย้ายจากโควิดมา 42 อาการ ผลลัพธ์เหมือนกัน เขาเคยใช้ตอนโควิด ดูแลอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้ ทำให้มียอดการใช้ซ้ำค่อนข้างสูง หลายคนเป็นแม่ค้า พ่อค้าในตลาด วินจักรยานยนต์ แท็กซี่ และนักเรียนนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงตลาดเทเลเมดิซีนของไทยมีหลายรายเช่นกัน แต่กลุ่มผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัลรายใหญ่ที่ร่วมมือกับ สปสช. มีอีก 3 ค่าย ได้แก่ Totale Telemed ของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน, Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม และ Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม

“เราต่างจากบริษัทเทเลอื่นๆ หลายบริษัทอยากทำให้บริษัทประกันเอกชนเพราะได้กำไรดีกว่า ทำกับภาครัฐได้เงินน้อย แต่เรามองภาคที่มีปัญหาจริงๆ คือ ภาครัฐ ผู้ใช้บริการจำนวนมาก ปัญหามาก ใช้เวลารอนาน Clicknic ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยบัตรทองให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ครอบคลุม 42 โรค ปีหน้ามีโรคเรื้อรัง ไขมัน ความดัน เบาหวาน และอยากมองกลุ่มสุขภาพจิตด้วย”

ทว่า ยังมีสิ่งต้องพิสูจน์กับโจทย์ข้อใหญ่ที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการโรงพยาบาลแห่งใหม่ แต่ต้องลดความแออัดและเทเลเมดิซีน คือ ตัวแก้ปมปัญหากับผู้มีสิทธิ์บัตรทองมากกว่า 47 ล้านคน ได้จริงหรือไม่ ไม่นานได้รู้กัน.09