วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > แผนฟื้นฟูการบินไทย เพื่ออนาคตระยะยาวหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า?

แผนฟื้นฟูการบินไทย เพื่ออนาคตระยะยาวหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า?

 
กว่าครึ่งทศวรรษที่สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทย ให้บริการขนส่งบนน่านฟ้าด้วยความสุภาพและยิ้มสยามเป็นอัตลักษณ์ หากจะเปรียบการบินไทยเป็นคนคนหนึ่ง คงไม่ยากหากจะจินตภาพถึงคนทำงานที่เกือบปลดระวางเพราะกรำงานมาอย่างหนัก
 
แน่นอนว่าช่วงชีวิตของคนทำงานย่อมเจอกับหลายเหตุการณ์ การบินไทยเองก็เช่นกัน กว่า 50 ปีที่ดำเนินกิจการมามีช่วงเวลาที่สร้างรอยยิ้มให้ทั้งผู้บริหารและผู้ถือหุ้น กระทั่งปี พ.ศ. 2551 ปีแรกที่นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อการบินไทยประสบสภาวะขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท 
 
กระทั่งการมาถึงของสายการบิน Low Cost ทำให้ธุรกิจการบินมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าเป็นการดีต่อผู้บริโภคเมื่อมีสินค้าหรือบริการที่มีความหลากหลาย ไม่เป็นการผูกขาดทางการค้า
 
หากแต่การยืนหยัดที่จะตรึงราคาเดิม ภายใต้เงื่อนไขด้านบริการที่สูงกว่า ส่งผลให้ต้นทุนต่อเที่ยวบินต่อที่นั่งสูงกว่าสายการบินอื่นๆ ที่บินในเส้นทางเดียวกัน ผลสรุปจึงกลายเป็นการติดลบทางบัญชีอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2556 ขาดทุน 12,047 ล้านบาท และ ปี 2557 ขาดทุน 15,573 ล้านบาท กระทั่งผลประกอบการครึ่งปีแรก พ.ศ. 2558 ขาดทุน 8 พันล้านบาท
 
โดยไตรมาสแรกของปี 2558 (มกราคม – มีนาคม) ผลการดำเนินงานของการบินไทย มีกำไรอยู่ที่ 4.4 พันล้านบาท และไตรมาสที่ 2 ของปี 2558  (เมษายน-มิถุนายน) พบตัวเลขขาดทุนสูงถึง 1-1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ซึ่งขาดทุน 7.9 พันล้านบาท
 
ทั้งนี้วิกฤตที่สายการบินแห่งชาติของไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ “โคม่า/ร่อแร่/วิกฤตหนัก” นิยามที่สื่อหลายสำนักใช้พาดหัวเพื่อสื่อให้เห็นชัดถึงสถานการณ์ของการบินไทยในปัจจุบัน แน่นอนว่าหากเป็นบริษัทเล็กๆ เมื่อเจอกับสถานการณ์ดังกล่าวคำว่า “ล้มละลาย” คงจะไม่เกินไปนัก แต่ผู้บริหารการบินไทยต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองห่างไกลจากคำนั้นให้ได้มากและเร็วที่สุด
 
แผนฟื้นฟูเร่งด่วนจึงเริ่มขึ้น เมื่อบอร์ดผู้บริหารเห็นชอบใน “โครงการร่วมใจกันจาก” หวังให้การลดค่าใช้จ่ายภายใต้กรอบโครงที่กำหนด เริ่มจากถามความสมัครใจจากพนักงานที่จะลาออก โดยเบื้องต้นมีพนักงานแสดงความจำนงจำนวน 1,401 คน ซึ่งเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่การบินไทยวางไว้ 
 
และดูเหมือนแผนฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติจะรวมไปถึงการปรับเส้นทางการบินโดยจะทยอยปรับลดและปิดเส้นทางการบินจำนวน 10 เส้นทาง และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 10 เส้นทาง โดยยกเลิกเส้นทาง กรุงเทพ-โซล-ลอสแองเจลิส 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปรับลดเที่ยวบิน กรุงเทพ-กัลกัตตา อินเดีย จากเดิมวันละ 2 เที่ยวบิน เหลือวันละ 1 เที่ยวบิน โดยมีผลวันที่ 25 ตุลาคมนี้ 
 
ขณะที่มีมติให้เลื่อนการยกเลิกเส้นทาง กรุงเทพ-โรม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ออกไปเป็น 1 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระอัครสังฆราช ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ทำหนังสือถึงประธานบอร์ดการบินไทย ขอให้ทบทวนการปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โรม โดยระบุว่าช่วงปลายปี 2558 ถึงปลายปี 2559 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ประกาศให้พระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลกเป็นปีแห่งเมตตาธรรม ในโอกาสนี้จะมีคริสตชนคาทอลิกจากทั่วโลกและในภาคพื้นเอเชียเดินทางไปยังนครรัฐวาติกัน ณ กรุงโรม เพื่อจาริกแสวงบุญ
 
หวังว่าผลบุญจากการเลื่อนการยกเลิกเส้นทางบินกรุงเทพ-โรม จะส่งผลให้การบินไทยมีตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดตัวเลขขาดทุนลดลง
 
การจำหน่ายทรัพย์สินหนึ่งในแผนการฟื้นฟูโดยมีการขายสำนักงานของการบินไทย บ้านพักพนักงานในต่างประเทศ และสำนักงานขายที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งมีประมาณ 30 แห่ง ในไทย 11 แห่ง ต่างประเทศ 19 แห่ง  
อีกทั้งในปีนี้การบินไทยจะต้องขายเครื่องบินเก่าตกรุ่น จำนวน 42 ลำ ซึ่งบางเครื่องมีอายุการใช้งาน 22 ปี โดยปัจจุบันขายได้แล้วจำนวน 18 ลำ ทั้งนี้จรัมพร โชติกเสถียร ยืนยันว่ามีเครื่องบินใหม่เพียงพอแล้ว และยังไม่มีแผนจะซื้อเพิ่ม เพราะกำลังรอส่งมอบเครื่องบินที่ทำการซื้อขายไปก่อนหน้านี้ 
 
ปัจจุบันบริษัทการบินไทยมีเครื่องบินจำนวน 93 ลำ และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 105 ลำ ภายใน 2-3 ปี ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ขี้เหร่นัก
 
นอกเหนือจากประเด็นหลักของแผนฟื้นฟูการบินไทย ทั้งเรื่องการปรับเส้นทางการบิน การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนแล้ว การปรับปรุงแผนการตลาด และการปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะหากแผนการตลาดไม่เอื้ออำนวยต่อสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว คงยากที่จะทำให้กิจการการบินไทยฟื้นกลับคืนมาได้
 
ภายใต้สถานการณ์การขาดทุนต่อเนื่องของการบินไทย ปัจจัยจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคอาเซียนคงไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้สายการบินแห่งชาติของไทย Take Off ไปบนน่านฟ้าที่เต็มไปด้วยอากาศยานจากสายการบินรอบอาเซียนไม่สวยนัก
 
หากแต่ปัจจัยภายในอย่างการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ง่ายต่อการถูกแทรกแซงจากนักขุดทองในชุดสูท ก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานของการบินไทยไม่มีเอกภาพมากพอที่จะตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจการให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
 
กิจการรัฐวิสาหกิจของไทยเสมือนทุ่งดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมเชิญชวนให้หมู่ภมรบินเข้ามาดูดน้ำหวาน แน่นอนว่าความหอมหวานไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของผึ้งเท่านั้น หากแต่ยังดึงดูดแมลงประเภทต่างๆ เข้ามากอบโกยผลผลิตจากดอกไม้เช่นกัน
 
การบินไทย รถไฟไทย ขสมก. รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กระนั้นการคุ้นชินกับเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง รัฐวิสาหกิจไทยมักถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การตลาดประชาสัมพันธ์ไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้คงต้องสืบลึกลงไปว่า กิจการรัฐวิสาหกิจได้รับการบริหารจากผู้ที่มีความรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตน
 
ในห้วงเวลาที่สายการบินแห่งชาติในนามการบินไทย กำลังมุ่งเน้นไปในเรื่องการแก้ปัญหาที่เรียกได้ว่าวิกฤตครั้งใหญ่ ที่มีแผนฟื้นฟูที่เหมือนเข็มทิศนำทาง ภายใต้การนำของจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงจังหวะอันเลวร้าย 
 
คงต้องจับตาดูกันว่าการบินไทยจะทำได้เพียงการบินฝ่าพายุวิกฤตหนี้สิน หรือสามารถทวงคืนเอกภาพในการบริหารจัดการเพื่อปลดแอกตัวเอง และสร้างอิสรภาพในการทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าภายใต้ชื่อสายการบินแห่งชาติของไทย