วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ดิไอคอน กรุ๊ป ออกนอกเซฟโซน รุกตลาดสกินแคร์ หวังโกยรายได้

ดิไอคอน กรุ๊ป ออกนอกเซฟโซน รุกตลาดสกินแคร์ หวังโกยรายได้

หลังจากปูพื้นด้วยตลาดอาหารเสริมนับตั้งแต่ ดิไอคอน กรุ๊ป ก่อร่างสร้างตัวมา 4 ปี และกวาดรายได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด การรุกคืบไปยังตลาดสกินแคร์อาจเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญในเวลาถัดจากนี้

ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวปี 2564 ที่มีมูลค่ารวมสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสูงถึง 81% ด้วยสัดส่วนของตลาดที่สูงจึงไม่น่าแปลกใจที่ ดิไอคอน กรุ๊ป จะขยับขยายมาลงเล่นในตลาดนี้อีกราย นั่นหมายความว่าจะต้องเจอกับคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ธุรกิจสินค้าออนไลน์โดยรวมประสบปัญหายอดขายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญอาจมาจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ยอดขายสินค้าออนไลน์ไม่สดใสเท่าช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำของดิไอคอน กรุ๊ป ประเมินคือ ประชาชนบางส่วนอาจใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น บางส่วนอาจยังกังวลกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับธนาคารในสหรัฐอเมริกา

“พฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า เมื่อไม่ได้เที่ยวก็ช้อปแทน ประกอบกับช่วงนี้มีความไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจอันเป็นผลจากพิษของโควิดที่เพิ่งออกอาการ ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งหดหายไป คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีธุรกิจออนไลน์น่าจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติอีกครั้ง”

สอดรับกับการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เคยมองว่าตลาด E-Commerce ปี 2565-2566 จะเติบโตแบบชะลอตัวลง หลังจากที่เร่งตัวสูงด้วยอัตราเลขสองหลักในช่วงโควิด-19 โดยปี 2566 คาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 4-6% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 606,000-618,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2^% ต่อปี โดยจำนวนผู้ใช้บริการ E-Commerce รายใหม่น่าจะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงโควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัด

สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบนช่องทาง E-Commerce ได้แก่ กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New normal ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นรองลงมาในภาวะที่กำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัด และต้องเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ B2C E-Commerce ในทุกหมวดสินค้าน่าจะขยับเพิ่มจาก 8.5% ในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) เป็น 16.0% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้ารวมทั้งหมด

ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางหรือมีจำกัด ธุรกิจจึงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การบริการจัดการตลอด Supply Chain ตั้งแต่การคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ลูกค้า ช่องทางการขายที่หลากหลาย รวมถึงการใส่ใจในการให้บริการลูกค้าที่ดีสม่ำเสมอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างหรือรักษายอดขาย ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและมีทางเลือกค่อนข้างมาก

ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจขายสินค้าออนไลน์มีแนวโน้มลดลง ด้วยปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว แต่ดิไอคอน กรุ๊ป ดูจะไม่ยี่หระ และส่งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าตัวใหม่ลงชิมลางเป็นครั้งแรก “iCON FACE iSERUM” ซึ่งสินค้าในกลุ่มสกินแคร์ของบริษัทถูกปั้นให้เป็น S-Curve เมื่อยังมีสัดส่วนทางการตลาดให้แย่งชิง

“ไอคอน เฟส ไอเซรั่ม” นับเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์ตัวแรกของบริษัท เราวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาผิวหน้าของคนไทย ภายใต้แนวคิด 3ดี คือ สินค้าดี ราคาดี การสื่อสารดี ที่ตัดสินใจพัฒนาเซรั่มขึ้นมาเป็นตัวแรก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่คนจะใช้เป็นอันดับแรก แม้ว่าปัจจุบันในตลาดสกินแคร์จะมีแบรนด์ให้เลือกที่หลากหลาย แต่เราพยายามสร้างความแตกต่าง เนื่องจากทราบดีว่า ผิวของคนไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาหลักอยู่ที่รูขุมขนกว้าง ผิวคนไทยไม่ละเอียดแบบคนญี่ปุ่น หรือเกาหลี

“ดังนั้นในผลิตภัณฑ์ตัวนี้เราใช้เทคโนโลยี NanoPro Multi Hyaluron Liposomes ซึ่งเป็นไฮยาลูรอนิค แอซิด ขนาดเล็กระดับนาโนที่สามารถซึมสู่ผิวชั้นในได้ง่าย ซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์จากภายใน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดูอิ่มฟู ลดริ้วรอย ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ดูฉ่ำวาวราวผิวกระจก นี่เป็นที่มาของแฮชแทค “เซรั่มหน้ากระจก” โดยเราแฝงนัยไว้สองความหมาย นั่นคือคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวใส และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรมีไว้ที่หน้ากระจกบนโต๊ะเครื่องแป้ง ห้องแต่งตัวของทุกคน” วรัตน์พล ขยายความ

การรุกตลาดสกินแคร์เพียงแค่ตัวสินค้าดูจะยังไม่มีแผนที่สมบูรณ์นัก ดิไอคอน กรุ๊ป ตัดสินใจดึง “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” นักแสดงสาวมาเป็น Brand Ambassador และนั่งแท่นผู้บริหาร โดยดูแลงานด้านการตลาดออนไลน์ เช่นเดียวกับที่ดึง “กันต์ กันตถาวร” มาดูแลเรื่องงานด้านสื่อสารมวลชนก่อนหน้า

โดย “บอสมิน” มิน พีชญา กล่าวถึงการร่วมงานกับ ดิไอคอน กรุ๊ป ทั้งในตำแหน่ง Brand Ambassador และผู้บริหารที่ดูแลงานด้านสื่อและการตลาดออนไลน์ว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องไกลตัว การทำงานในวงการบันเทิงก็เป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้กับเราทำงานได้หลากหลาย

“คุณพอล CEO ของดิไอคอนเห็นว่ามินมีพื้นฐานในงานธุรกิจออนไลน์ เราได้คุยเรื่องการทำงานมาระยะหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจ เนื่องจากติดสัญญากับช่อง พอเป็นนักแสดงอิสระก็เลยตัดสินใจมารับตำแหน่งบอสของดิไอคอน หน้าที่หลักก็คือผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมการขาย รวมถึงการขยายช่องทางการขายต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานขายสินค้าออนไลน์ให้กับบริษัทฯ”

นอกจากการดึงตัว มิน พีชญา มาร่วมงานในครั้งนี้แล้ว การทุ่มสุดตัวในแบบ ดิไอคอน กรุ๊ป ที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท นั่นคือการกว้านซื้อพื้นที่ป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ เช่น หน้าห้างสรรพสินค้าย่านราชประสงค์ อาคารสูง หวังสร้างการจดจำแบรนด์ ในครั้งนี้ วรัตน์พล ทุ่มงบโฆษณากว่า 500 ล้านบาท ใช้ทั้งสื่อออนไลน์ ทีวี และป้ายบิลบอร์ด สื่อดิจิทัล

“เราหวังว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวตัวแรกของบริษัทจะเป็นสินค้า S-Curve ที่สร้างยอดขายให้เติบโตอย่างทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมสุขภาพของบริษัท ที่มียอดขายมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดขายรวม” วรัตน์พลทิ้งท้าย

นับจากนี้คงต้องรอดูผลตอบรับว่าจะเป็นอย่างไร เพราะการสู้ในตลาดสกินแคร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมีทั้งเจ้าตลาดและคู่แข่งหน้าใหม่ที่ดาหน้าเข้าร่วมศึกในครั้งนี้อย่างคึกคัก และดิไอคอน กรุ๊ป ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ของตลาด E-Commerce ที่ยังมีปัจจัยลบรอบด้าน.