วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > บุญชัย เบญจรงคกุล ปิดฉากธุรกิจ หรือแค่พักชั่วคราว

บุญชัย เบญจรงคกุล ปิดฉากธุรกิจ หรือแค่พักชั่วคราว

วันที่ 3 มีนาคม 2566 หุ้น TRUE ใหม่ หลังกระบวนการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น และดีแทค จะกลับเข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง หลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นสรุปชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการให้ใช้ชื่อ “ทรูคอร์ปอเรชั่น” เพราะสะท้อนภาพรวมธุรกิจสื่อสารได้มากกว่า

ขณะที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนเส้นตายวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการซื้อขายหุ้น เพื่อเริ่มกระบวนการจัดสรรหุ้นใหม่นั้น มีรายการซื้อขายบิ๊กล็อตหุ้น TRUE และ DTAC โดยเป็นบิ๊กล็อตของดีแทค จำนวน 434 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 19,000 หมื่นล้านบาท และ TRUE จำนวน 2.29 พันล้านหุ้น มูลค่ากว่า 9,900 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ กูรูทั้งหลายต่างตีตัวเลขบิ๊กล็อตของดีแทคตรงกับจำนวนหุ้นที่บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ของนายบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ถืออยู่ 434,124,196 หุ้น สัดส่วน 18.33% และจับตาต่อไปว่า เจ้าสัวบุญชัยจะทิ้ง “ดีแทค” ที่ปลุกปั้นแบรนด์มากับมือแล้วหรือ หรือนั่นเป็นเหตุผลที่ยอมให้บริษัทใหม่ใช้ชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” และใช้ชื่อหุ้น TRUE

หากย้อนเส้นทางของบุญชัยที่ยาวนานมากกว่า 43 ปี เริ่มต้นจากบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูคอม” ก่อตั้งโดยสุจินต์ เบญจรงคกุล เมื่อปี 2523 และร่วมมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ระดับโลก Motorola แห่งสหรัฐอเมริกา รุกขยายกิจการใหญ่โต

ปี 2524 นายสุจินต์เสียชีวิต ทำให้นายบุญชัยในฐานะลูกชายคนโต อายุเพียง 27 ปี ต้องเข้ามาดูแลกิจการทั้งหมด โดยพุ่งเป้าหลัก “ธุรกิจโทรคมนาคม” ซึ่งกำลังมาแรง

ปี 2532 ยูคอมก่อตั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ “TAC” ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้สัญญาร่วมการงานซึ่งอยู่ในรูปแบบ “สร้าง-โอน-ดำเนินงาน” จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่

ปี 2537 ยูคอมจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการทำสัญญาเชื่อมโยงโครงข่ายกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเวลานั้นยังเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)

ขณะที่ปี 2538 แทคจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เพราะมีข้อติดขัดเรื่องความซ้ำซ้อนกับยูคอม จึงตัดสินใจนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์แทน

ต่อมา บุญชัยและยูคอมเจอผลกระทบวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 นานหลายปี และหันไปร่วมมือกับเทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมของนอรเวย์ โดยมีการขายหุ้นบางส่วนให้เทเลนอร์

ปี 2544 “แทค” เปลี่ยนชื่อทางการค้าเป็น “ดีแทค (DTAC)” แต่ดูเหมือนยังหนีไม่พ้นพิษเศรษฐกิจและสงครามการแข่งขันระหว่างค่ายมือถือยังรุนแรงมาก

ที่สุดแล้ว เขาและพี่น้องอีกสามคนยอมขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กลุ่มเทเลนอร์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2548 โดยนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC ออกมาประกาศว่า “ตระกูลเบญจรงคกุล” ประกอบด้วย นายบุญชัย ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 12.37% นายวิชัย เบญจรงคกุล ถือหุ้น 14.85% และนางวรรณา จิรกิติ ถือหุ้น 12.66% ได้ขายหุ้นที่ถือครองใน UCOM จำนวน 173,331,750 หุ้น หรือ 39.98% ของทุนจดทะเบียน ราคาหุ้นละ 53 บาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,186.58 ล้านบาท ให้บริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด (TTH) ซึ่งเป็นบริษัทตั้งใหม่ มีกลุ่มตระกูลเบญจรงคกุล บริษัท ฟินันซ่า และนักลงทุนเอกชนไทยอีกจำนวนหนึ่งถือหุ้น 51%

ส่วนหุ้นอีก 49% ถือโดย บมจ. เทเลนอล เอเซีย พีทีอี จำกัด บริษัทสาขาในประเทศสิงคโปร์ ของบริษัท เทเลนอร์ เอเอส ในประเทศนอร์เวย์
ขณะเดียวกัน ตระกูลเบญจรงคกุล ตั้งบริษัท เบญจจินดา เพื่อซื้อธุรกิจและสินทรัพย์ด้านไอทีทั้งหมดที่ไม่ติดสัญญาหรือเงื่อนไขกับยูคอม เพื่อดำเนินธุรกิจในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ธุรกิจวิทยุชุมชน และสหกรณ์

ปี 2550 ดีแทคนำหุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถือเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ทั้ง 2 ตลาด (Dual listing) คือตลาดหุ้นไทยและสิงคโปร์ ก่อนเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2557

ดีแทคให้บริการโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 4G บนความร่วมมือกับทีโอที รวมทั้ง 3G และ 2G มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 21.2 ล้านเลขหมาย

กระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค 46.71% ประกาศดีลควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่นกับดีแทค และใช้เวลาปีกว่าๆ เดินหน้ากระบวนการต่างๆ พร้อมๆ กับการเทบิ๊กล็อตหุ้นดีแทคของเจ้าสัวบุญชัยที่ทิ้งปริศนาการปิดฉากธุรกิจสื่อสารอย่างสิ้นเชิงหรือไม่.

ร้านรักบ้านเกิด
ความพยายามของโชห่วยไทย

ย้อนไปประมาณปี 2539-2540 มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดของบุญชัย เบญจรงคกุล ภายใต้บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ ยูคอม เจ้าของเว็บไซต์ www.rakbankerd.com มีแนวคิดสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกชุมชน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายค้าปลีกออนไลน์ระบบแรกของคนไทยภายใต้ชื่อ “ร้านรักบ้านเกิด” ท่ามกลางกระแสคอนวีเนียนสโตร์ต่างชาติรุกตลาดเมืองไทยอย่างรุนแรง

เวลานั้นบรรดาร้านค้ารายย่อยต่างต้องการเข้าร่วมโครงการอัปเกรดภาพลักษณ์ เพราะไม่ต้องเสียค่าแฟรนไชส์ ไม่ต้องลงทุนสูงเมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ไม่ต้องมีหนังสือค้ำประกันธนาคาร ไม่ได้บังคับรูปแบบร้าน ไม่ได้บังคับสินค้าที่ขายในร้าน ไม่กำหนดราคาขายสินค้า และไม่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ตามยอดขาย โดยชูจุดขายเรื่องความเป็นไทยและการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าและบริการ

หลักการคัดเลือกร้านแฟรนไชส์ต้องเป็นผู้ประกอบการร้านค้าย่อย ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านค้าชุมชน สหกรณ์ประเภทต่าง ๆ ร้านค้าองค์กรท้องถิ่น

ที่ตั้งร้านค้าและบริเวณโดยรอบต้องมีสัญญาณดีแทคชัดเจน ร้านค้าต้องมีคอมพิวเตอร์และสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เน้นทำเลย่านสำนักงาน หมู่บ้าน ชุมชนขนาดใหญ่ ร้านค้าต้องห่างจากร้านรักบ้านเกิดที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไม่ต่ำกว่า 500 เมตร

สำหรับเงินลงทุนขั้นต่ำขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน เฉลี่ยร้านขนาด 1 คูหาพร้อมสินค้าเต็มร้านรวมค่าตกแต่งอยู่ที่ 5 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขติดตั้งป้าย “ร้านรักบ้านเกิด” เพิ่มเติม แต่ไม่ต้องถอดป้ายชื่อร้านเดิมที่มีอยู่

สั่งซื้อสินค้าจาก www.rakbankerd.com ซึ่งมีสินค้ากว่า 3,000 รายการ พร้อมบริการส่งถึงหน้าร้าน และต้องร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายที่บริษัทจัดอย่างน้อย 1 รายการ รวมทั้งมีบริการรับชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ผ่านเพย์พอยต์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และรับต่อทะเบียนรถยนต์

แต่ร้านรักบ้านเกิดอยู่ในสมรภูมิค้าปลีกไม่ยาวนานและค่อย ๆ หายไปจากตลาด บางร้านเหลือเพียงสติกเกอร์ติดไว้เป็นร่องรอยความพยายามผลักดันโชห่วยไทยต่อสู้กับบรรดาบิ๊กๆ สายพันธุ์ต่างชาติ.