วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > PLAYBOY ตำนานนักรัก บันนี่เกิร์ล

PLAYBOY ตำนานนักรัก บันนี่เกิร์ล

เส้นทางนิตยสาร PLAYBOY THAILAND ปิดฉากตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 หลังบริษัท บันนี่เวนเจอร์ จำกัด ผู้ถือลิขสิทธิ์นิตยสารเพลย์บอยในประเทศไทย สิ้นสุดสัญญา ท่ามกลางกระแสต่อต้านการใช้ร่างกายหญิงสาวเป็นเครื่องมือทางเพศมาแรง จนบริษัทแม่ต้องปรับคอนเซ็ปต์เป็นไลฟ์สไตล์แมกาซีนและมุ่งเน้นการทำรายได้จากการขายสินค้าแฟชั่นมากขึ้น

แต่ต้องถือว่า ระยะเวลา 8 ปีของนิตยสารเพลย์บอยในประเทศไทย สามารถปลุกกระแสและสร้างเครือข่ายผู้อ่านจำนวนมาก

ครั้งหนึ่ง บันนี่เวนเจอร์เคยเปิดสถิติตัวเลขแฟนเพจเฟซบุ๊ก Playboy Thailand มียอดผู้ติดตามแฟนเพจสูงถึง 3.2 ล้านราย ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 ของยอดติดตามสูงสุดในกลุ่มเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประเภทมีเดียของไทย จากการจัดอันดับของ Socialbakers ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี และการจัดอันดับรวมทุกประเภทนั้น Playboy Thailand มีผู้ติดตามผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 16 ของประเทศไทย

ขณะเดียวกัน แบรนด์แอมบาสเดอร์ Playboy Bunny แต่ละรายมียอดผู้ติดตามสูงสุดถึง 1.2 ล้านราย และหากรวมแฟนเพจหรือผู้ติดตาม Playboy Thailand และ Playboy Bunnies ทั้งเฟซบุ๊กและไอจี มีผู้ติดตามสูงถึง 9 ล้านราย

จริงๆ แล้ว คำว่า Playboy ไม่ได้หมายถึงชายหนุ่มนักรัก แต่เดิมเคยถูกใช้ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หมายถึง เด็กชายที่แสดงในโรงละคร และภายหลังปรากฏในพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด ค.ศ. 1828 ให้คำจำกัดความว่า ผู้ที่มีเงินและออกไปหาความสุข

ขณะที่ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังบอกความหมายเป็นนัยถึงนักการพนันและนักดนตรี

ปี ค.ศ.1907 ละครตลกของ เจ.เอ็ม. ซิงก์ The Playboy of The Western World ทำให้ Playboy บ่งบอกถึงคนเจ้าชู้ และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติใหม่ ๆ มีการท่องเที่ยวข้ามทวีป มีภาพที่ระบุว่า กลุ่มเพลย์บอยพบกันที่ไนต์คลับนานาชาติและสวนสนุกที่มีชื่อเสียง เช่น ริเวียราหรือปาล์มบีช ซึ่งเหล่าปาปารัซซีพยายามไล่ตามเก็บภาพเกิดเป็นกระแสเพลย์บอย เล่าเรื่องราวชีวิตของกลุ่มนักรัก

กระทั่งปี ค.ศ.1953 ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ จับกระแสและก่อตั้งนิตยสาร PLAYBOY เป็นนิตยสารโป๊และไลฟ์สไตล์สำหรับผู้ชาย ออกเป็นรายเดือนและเป็นที่รู้จักกันดีหลังขยายเป็นบริษัทเพลย์บอยเอนเทอร์ไพรซ์ ตีพิมพ์ทั่วโลก แต่ห้ามขายเฉพาะบางประเทศ

เนื้อหาภายในหนังสือฉบับของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยภาพเปลือยของนางแบบและเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ การเมืองสหรัฐอเมริกา กีฬา แฟชั่น เทคโนโลยีใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวและบทสัมภาษณ์ดารา

ภาพเปลือยในหนังสือเพลย์บอยมีลักษณะ Softcore โชว์สัดส่วนอย่างเดียว และใช้โลโกกระต่ายสวมชุดทักซิโดสีดำตามสไตล์หนุ่มอเมริกันชั้นสูงที่นิยมออกงานสังคม ออกแบบโดย อาร์ต พอล ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนแรกของเพลย์บอย ซึ่งเฮฟชอบมากเพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความหมายด้านเซ็กซ์ออกแนวตลกๆ ซุกซน สนุกสนาน ขี้เล่น ตามสไตล์หนุ่มเจ้าสำราญ

ต่อมา เมื่อเพลย์บอยขยายกิจการทำธุรกิจอื่นๆ ด้านแฟชั่น ได้นำสัญลักษณ์นี้มาใช้ด้วย และมีการก่อตั้งเพลย์บอยคลับแห่งแรกที่ชิคาโกในปี ค.ศ. 1963 ผู้ให้บริการในคลับแต่งกายเป็น บันนี่ เกิร์ล มีท่าเต้น บันนี่ ดิพ อีกด้วย

แน่นอนว่า ชีวิตส่วนตัวของ ฮิวจ์ มาร์ซัน เฮฟเนอร์ (Hugh Marston Hefner) หรือเฮฟ อาจไม่ต่างจากหนุ่มเจ้าสำราญ เขาเกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1926 ศึกษาจบปริญญาตรีภาควิชาจิตวิทยา วิชาโทการเขียนแบบสร้างสรรค์และศิลปะที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ และปี 1949 สำเร็จการศึกษาอีกครั้งในสาขาสังคมวิทยาผู้หญิงและเพศศึกษา (Sociology and Women and Gender) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ซึ่งเขาได้ไอเดียเรื่องนิตยสารเพลย์บอยมาจากการเรียนครั้งนี้

เฮฟแต่งงานกับเพื่อนร่วมรุ่น มิล วิลเลียม (Mildred Williams) ในวันที่ 25 มิถุนายน 1949 และมีบุตร 2 คน ชื่อ คริสตี้ (Christie) และเดวิด พอล (David Paul) เฮฟหย่ากับภรรยาหลังแต่งงานกันมาได้ 10 ปี

หนุ่มๆ หลายคนมองเฮฟเป็นเพลย์บอยที่น่าอิจฉา บางช่วงเขาใช้เวลาร่วม 11-12 เดือนกับเหล่าสาวๆ Playmate ในสังกัด และวันที่ 1 กรกฎาคม 1989 เฮฟแต่งงานอีกครั้งกับ Playmate แห่งปี คิมเบอร์ลี่ คอนราด (Kimberley Conrad) แต่สุดท้ายแยกกันอยู่ในปี 1999 และใช้ชีวิตแบบเพลย์บอยเต็มรูปแบบ เลือกคบกับสาวๆ เป็นกลุ่ม อายุ 18-28 ปี

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนิตยสารเพลย์บอย ปี ค.ศ.1955-1979 ตรงโลโกของเพลย์บอยมีสัญลักษณ์ดาวปรากฏอยู่ตรงตัวอักษร P ว่า เฮฟได้ให้เรตของสาวๆ Playmate ตามระดับความเย้ายวนและจำนวนครั้งที่เฮฟนอนกับเธอ

เฮฟเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ปิดตำนานหนุ่มนักรัก แต่แบรนด์เพลย์บอยยังคงมูลค่าอย่างไม่สิ้นสุด.