วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจโกดังญี่ปุ่นมือสองขยายตัว และโอกาสทำเงินของนักชอป

ธุรกิจโกดังญี่ปุ่นมือสองขยายตัว และโอกาสทำเงินของนักชอป

ย้อนหลังไปเกือบ 10 ปีก่อน ธุรกิจนำเข้าสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นเริ่มทำตลาดในไทย ด้วยความนิยมสินค้า Made in Japan ของคนไทยที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามือสองญี่ปุ่นค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และนั่นอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดกระแสดราม่าว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของขยะกองมหึมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสินค้ามือสองเหล่านี้ว่า แท้จริงแล้วเจ้าของคนเก่าเป็นบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่

หลายคนอาจสงสัยว่าสินค้ามือสองญี่ปุ่นที่ไทยนั้นมีที่มาจากไหน เป็นของที่เจ้าของเดิมบริจาคมา หรืออย่างไร แท้จริงแล้วสินค้ามือสองญี่ปุ่นที่เดินทางมาถึงไทยส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมโดยบริษัทที่มีหน้าที่ “เคลียร์ของ” ที่เจ้าของบ้าน เจ้าของสถานที่ อาจจ้างมาทำความสะอาด และช่วยกำจัดข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ออกไป 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นจะมีข้อกำหนดเข้มงวดเรื่องการทิ้งขยะ โดยจะกำหนดวันทิ้งขยะไว้อย่างชัดเจน วันไหนทิ้งขยะรีไซเคิล วันไหนทิ้งขยะทั่วไป หรือวันไหนทิ้งขยะอันตราย หรือขยะชิ้นใหญ่ ซึ่งขยะบางประเภทจำเป็นจะต้องมีการชำระเงินเพื่อกำจัดหรือทำลาย ทั้งนี้หากมีของใช้ที่ต้องการเคลียร์ในปริมาณมาก และใช้เวลานาน คนญี่ปุ่นจะเลือกใช้บริการจากบริษัทเคลียร์ของเพื่อความสะดวก แม้จะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง 

จากนั้นของใช้พวกนี้จะถูกขายในราคาส่งให้แก่พ่อค้าแม่ค้าชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะถูกนำไปขายต่ออีกทอดยังตลาดนัดมือสองในประเทศญี่ปุ่นเอง ดังเช่นที่เคยเห็นภาพจากสื่อออนไลน์ และส่วนที่เหลือจะถูกรวบรวมและส่งต่อมายังประเทศปลายทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มักจะซื้อสินค้ามือสองญี่ปุ่นเหล่านี้มาขายทำกำไรต่ออีกทอดหนึ่ง สินค้ามือสองจากญี่ปุ่นที่เราเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า ของเล่น ตุ๊กตา ของสะสม เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ 

ธนาคารกรุงเทพเคยอธิบายสถานการณ์ตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกและในไทยไว้อย่างน่าสนใจเมื่อช่วงปี 2020 ว่า ตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกได้รับความนิยมสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ประมาณปี 2014 จนถึงปัจจุบัน มีการเติบโตและขยายฐานผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2020 มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดสูงถึง 10% คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยที่ในอนาคต 3 ปีถัดไปอาจเติบโตขึ้นไปแตะที่ 15-20% ได้ โดยกลุ่มประเทศที่นิยมตลาดสินค้ามือสองมากที่สุดได้แก่ กลุ่มชาวเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม และเพศที่นิยมซื้อสินค้ามือสองคือเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 10%

สำหรับสถานการณ์ตลาดสินค้ามือสองเฉพาะในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสนใจตลาดนี้มาก มีอัตราการขยายฐานผู้บริโภคสูงขึ้นนับได้เป็น 2-3 หลักต่อปี โดยสินค้ามือสองที่นิยมนำมาจำหน่ายและซื้อ เป็นสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ รองลงมาเป็นสินค้าจากทางฝั่งยุโรป 

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของตลาดสินค้ามือสองของไทยในปัจจุบัน ที่มีการขยายตัวสูงขึ้น ธุรกิจโกดังมือสองญี่ปุ่นกระจายอยู่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล การขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนปรับลดการใช้จ่ายในครัวเรือนลง จากเดิมที่ซื้อสินค้าใหม่ เพราะคุณภาพดี อายุการใช้งานที่ยาวนาน มาเป็นสินค้ามือสองที่มีสภาพกลางเก่า กลางใหม่ และยังใช้งานได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จ่ายในราคาที่ถูกลง 

ผู้ประกอบการโกดังสินค้าญี่ปุ่นมือสองอาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเกือบ 1 ล้านบาท สำหรับการซื้อสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะนอกจากราคาสินค้า 1 ตู้ที่ใช้เงินสูงถึง 4-6 แสนบาท ยังมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานที่ขาย แม้จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นที่ค่อนข้างสูง ทว่ามีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด 

ในแง่ของผู้ค้าปลีก หลายคนเห็นโอกาสจากการขยายตัวของธุรกิจสินค้ามือสองญี่ปุ่น บางคนเริ่มต้นจับพลัดจับผลูเข้ามาซื้อสินค้าไปขายต่อ ได้สินค้ามาในราคาถูกโดยยังไม่รู้ว่าควรขายที่ราคาเท่าไร และตั้งราคาไว้กลางๆ เพื่อให้ขายได้ไวๆ แม้จะได้กำไรหลายเท่าตัวแต่ยังห่างไกลจากราคาตลาด 

การสร้างรายได้จากสินค้ามือสองญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยาก หากเลือกสินค้าจากความถนัด ความชอบ สร้างความเชี่ยวชาญ เมื่อเวลาและประสบการณ์ผนวกเข้าหากัน จะทำให้สามารถขยายตลาดออกไปในสินค้าหมวดอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ผู้ค้าส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการขายของเล่น ของสะสม หรือเสื้อผ้า โดยใช้ทุนไม่สูงมากแต่สร้างกำไรได้อย่างงาม เพราะสินค้ามือสองสามารถทำราคาได้สูงกว่าราคาเบิกใหม่ ในกรณีที่สินค้านั้นๆ เป็นแรร์ไอเทม หรืออยู่ในหมวดของนักสะสม มีผู้เล่นโดยเฉพาะ 

ในขณะที่โกดังมือสองญี่ปุ่นจะตั้งราคาขายไว้สองแบบ แบบแรกจะขายโดยการชั่งน้ำหนัก โดยแยกประเภทหรือหมวดของสินค้าไว้ชัดเจน เช่น ของเล่น กิโลกรัมละ 300-400 บาท จานชาม ของใช้ในครัว กิโลกรัมละ 100-200 บาท แบบที่สองคือ ตั้งราคาขายเป็นชิ้น ซึ่งโกดังอาจนำสินค้าที่มาจากการขายแบบชั่งกิโล นำมาบวกราคาเพิ่ม หรือเป็นสินค้าที่ถูกตั้งราคาเป็นชิ้น และขายเอากำไรตามสภาพในขณะนั้น 

ทั้งนี้ผู้ที่ซื้อไปทำกำไรต่ออีกทอดจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและราคาของสินค้านั้นๆ รวมไปถึงความนิยม ความต้องการของตลาด หลายคนสร้างความชำนาญจนสามารถขยายตลาดจากกลุ่มตุ๊กตา หรือของสะสม ไปสู่สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ นาฬิกา รองเท้า และกระเป๋า 

การขยายตัวของตลาดสินค้ามือสองถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการลดปริมาณขยะ รวมถึงลดการผลิตลงไปในคราวเดียวกัน แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเองตลาดสินค้ามือสองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ผลสำรวจตลาดสินค้ามือสองในปี 2020 มีมูลค่า 2,416,900 ล้านเยน เพิ่มสูงขึ้น 2.5% แม้จะมีการซื้อขายสินค้ามือสองผ่านหน้าร้านลดลง แต่มีการเติบโตของการซื้อสินค้ามือสองผ่านแอปขายสินค้ามือสอง

ไม่ว่าสินค้ามือสองญี่ปุ่นจะมีที่มาอย่างไร หากแต่เป็นความพอใจของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ช่วยให้มองข้ามที่มาของสินค้าเหล่านั้นไป เพราะนอกจากจะได้สินค้าในราคาถูก ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว.