วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เดอะมอลล์-เซ็นทรัล ค้าปลีกยิ่งกว่ายักษ์ชนยักษ์

เดอะมอลล์-เซ็นทรัล ค้าปลีกยิ่งกว่ายักษ์ชนยักษ์

สงครามค้าปลีกปีหน้าเปรียบเสมือนสมรภูมิยักษ์ชนยักษ์ “เซ็นทรัล-เดอะมอลล์” โดยฝ่ายแรกใช้ฐานเงินทุนสยายปีกทั่วประเทศและรุกต่างประเทศ ขณะที่ฝ่ายหลังวางยุทธศาสตร์ปักหมุดหมายสร้างย่านธุรกิจ พัฒนาย่านการค้า อาจไม่มากมายสาขา แต่ใช้กลยุทธ์ดึงพันธมิตรระดับบิ๊กๆ เป็นแบ็กอัพอย่างความแข็งแกร่ง

ทั้งสองฝ่ายออกมาประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ หลังสถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ตลาดการท่องเที่ยวฟื้นตัวและผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้ชีวิตปกติ โดยประชันบิ๊กโปรเจกต์ในปี 2566 และเป้าหมายระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2566 เดอะมอลล์มีแผนใช้งบประมาณมากกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการใช้งบจำนวนมากอีกปีหนึ่ง เพื่อรีโนเวตโครงการเก่าและสร้างโครงการใหม่ต่อเนื่อง โดยงบก้อนแรก 20,000 ล้านบาทจะใช้ปรับโฉมใหม่สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ และเดอะมอลล์บางแค ให้เป็นเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์เช่นเดียวกับที่เปิดไปแล้วที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน

ส่วนงบอีก 15,000 ล้านบาท จะใช้ในโครงการดิเอ็มสเฟียร์ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดปลายปี 2566 และที่เหลืออีก 5,000 ล้านบาท เป็นงบรีโนเวตสยามพารากอนครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567

สำหรับเอ็มสเฟียร์เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ดิ เอ็มดิสทริค (The Em District) บนถนนสุขุมวิทตอนกลาง ระหว่างซอยสุขุมวิท 31-39 ประกอบด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยว มี 3 ศูนย์การค้าหลัก คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ โดยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ผนึกพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์และภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ เพื่อปลุกปั้น เอ็ม ดิสทริค เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เนื้อที่รวม 50 ไร่ หรือราว 650,000 ตารางเมตร

ขณะที่แบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) อีกโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมและสถานีขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ตรงข้ามศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ถือเป็นโครงการใหญ่ของเดอะมอลล์ที่พร้อมเปิดให้บริการบางส่วนภายในปี 2567 และเมื่อเปิดเต็มรูปแบบจะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงลุ้นการเป็นหนึ่งในศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

แน่นอนว่า เดอะมอลล์ต้องการตอกย้ำยุทธศาสตร์การสร้างย่านการค้าแห่งใหม่ อย่างการรีโนเวตสาขาบางกะปิ มีเป้าหมายพัฒนาย่านการค้าที่สมบูรณ์แบบ มีศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน เพราะย่านบางกะปิเต็มไปด้วยค้าปลีกหลายรูปแบบและหลายแบรนด์ มีเดอะมอลล์เป็นเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นตะวันนามาร์เก็ต แม็คโคร ห้างน้อมจิตต์หรือเอ็นมาร์คพลาซ่า เทสโก้โลตัส พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า และตลาดต่อยอดเฟรช มินิบิ๊กซี สุกี้ตี๋น้อย เคเอฟซีไดรฟ์ทรู

เบื้องต้นนั้น บริษัทเริ่มเจรจากับกลุ่มซีพีที่บริหารแม็คโคร เทสโก้โลตัส และกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งบริหารห้างตะวันนาฯ พันธุ์ทิพย์ฯ เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงพื้นที่เข้าด้วยกัน

ส่วนเดอะมอลล์บางแคนอกจากรีโนเวตใหญ่แล้ว ยังมีที่ดินเหลืออีก 5-6 ไร่ จะขยายที่จอดรถและสร้างที่อยู่อาศัยด้วย

ปัจจุบันพื้นที่รอบ 10 กิโลเมตรของเดอะมอลล์ บางกะปิ มีประชากรกว่า 2-5 ล้านคน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดมิเนียม มากกว่า 1.2 ล้านยูนิต ส่วนเดอะมอลล์ บางแค มีประชากรกว่า 5 ล้านคน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดมิเนียม มากกว่า 700,000 ยูนิต คาดว่าหากโครงการทั้ง 2 แล้วเสร็จในปีหน้าจะช่วยเพิ่มแทรฟฟิกให้ศูนย์การค้ามากกว่า 30%

ฝ่ายยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัล” ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ ทั้งการขยายเครือข่ายห้างเซ็นทรัลและศูนย์การค้าตามยุทธศาสตร์มิกซ์ยูส เรียกได้ว่า ยึดทำเลชอปปิ้งสตรีทใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่เพลินจิต ชิดลม ราชประสงค์ และสยามสแควร์อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการเร่งโครงการมิกซ์ยูส “เซ็นทรัลสยามสแควร์” ฝั่งตรงข้ามกับห้างสยามพารากอน เนื้อที่กว่า 6 ไร่ ซึ่งได้สิทธิสัญญาเช่ายาวถึง 30 ปีจากสํานักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งห้างสรรพสินค้า สำนักงานและโรงแรมระดับหรู

ขณะเดียวกันพยายามปักหมุดในพื้นที่หลักๆ ตามเส้นทางรถไฟฟ้าและการเติบโตของชุมชนใหม่ๆ เช่น เซ็นทรัลพระราม9 เซ็นทรัลอีสต์วิลล์ เซ็นทรัลเวสต์เกต และเพิ่งเผยโฉม โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ สาขาราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ปูทางรองรับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ราชพฤกษ์ ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงปลายปีหน้า

โอลิวิเยร์ บรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า บริษัทมีแผนทุ่มงบ 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อขยายสาขาใหม่และรีโนเวตสาขาปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาระบบ Central app เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดค้าปลีกของไทย โดยการขยายสาขาและรีโนเวตจะโฟกัสการขยายสาขาในต่างจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพสะท้อนจากผลงานของบางสาขาที่เปิดไปก่อนหน้า เช่น สาขาขอนแก่นทำยอดขายเติบโตมาก จึงเล็งเข้าไปตั้งสาขาในจังหวัดที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้า

ด้านการรุกค้าปลีกต่างแดนถือว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 11 ประเทศ 80 เมือง 120 สาขา และตั้งเป้ายอดขายในปีนี้กว่า 6.7 พันล้านยูโร หรือ 2.6 แสนล้านบาท

ส่วนบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ล่าสุดเปิดศูนย์การค้า 38 แห่งทั่วประเทศ มีคนมาใช้ชีวิตในศูนย์การค้ามากกว่า 1.2 ล้านคนต่อวัน หรือ 440 ล้านคนต่อปี และใน 5 ปีข้างหน้ามีแผนขยาย 4 ธุรกิจหลักต่อเนื่องเพื่อเพิ่มแทรฟฟิกให้เป็น 1.7 ล้านคนต่อวัน หรือ 620 ล้านคนต่อปี ภายใต้ยุทธศาสตร์โครงการมิกซ์ยูสเชื่อมโยง 4 ธุรกิจหลัก คือ รีเทล ออฟฟิศ โรงแรม และที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กลุ่มที่ถือเป็นบิ๊กเนมเช่นกัน ได้แก่ สยามพิวรรธน์ ซึ่งบริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต

กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ที่ยึดแนวถนนพระราม 4 ผุดโครงการศูนย์การค้าแนวไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ เดอะปาร์ค วัน แบงค็อก สามย่านมิตรทาวน์ และสีลมเอจ โดยเฉพาะอภิมหาโครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) บริเวณแยกสวนลุมพินี-สาทร จะเผยโฉมอย่างอลังการในปี 2566 พร้อมๆ กับยึดทำเลริมน้ำเจ้าพระยา มี “เอเชียทีค” ย่านเจริญกรุงนำร่องแผนเชื่อมโยงบิ๊กโปรเจกต์ตลอดสายน้ำยาวถึงพระนครศรีอยุธยาด้วย.