วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ซาฟารีเวิลด์พลิกฟื้น ฝ่าทุกวิกฤต ต้มยำกุ้งถึงโควิด

ซาฟารีเวิลด์พลิกฟื้น ฝ่าทุกวิกฤต ต้มยำกุ้งถึงโควิด

“ซาฟารีเวิลด์” เป็นอีกหนึ่งสวนสัตว์ในกรุงเทพฯ ที่โดนปักหมุดจุดหมายการท่องเที่ยวของบรรดาครอบครัวและนักท่องเที่ยวหนาแน่น หลัง “สวนสัตว์ดุสิต” หรือเขาดิน ปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อรอเปิดในพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี ในปี 2570 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน 300 ไร่ ให้องค์การสวนสัตว์สร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า

สำหรับซาฟารีเวิลด์นั้น นายผิน คิ้วคชา หรือนามสกุลเดิม “คิ้วไพศาล” ก่อตั้งบริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2528 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 เนื้อที่รวม 475 ไร่ ย่านรามอินทรา แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลัก คือ สวนสัตว์เปิด ซาฟารีปาร์ค เนื้อที่ 225 ไร่ และสวนสัตว์น้ำ สวนนก มารีนปาร์ค เนื้อที่อีก 250 ไร่ ตั้งเป้าหมายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศและภูมิภาคเอเชีย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 ซาฟารีเวิลด์จดทะเบียนแปรสภาพเป็น บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อหุ้น SAFARI

ปี 2539 บริษัทลงทุนขยายธุรกิจสร้างแหล่งท่องเที่ยว “ภูเก็ตแฟนตาซี” ณ หาดกมลา จ. ภูเก็ต เนื้อที่ 150 ไร่ ด้วยงบประมาณ 3,500 ล้านบาท บริหารจัดการโดยบริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) เพราะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

วันที่ 4 เมษายน 2554 บริษัทจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซาฟารี ไวลด์ไลฟ์ ปาร์ค จำกัด (ซาฟารีไวลด์ไลฟ์) เพื่อดำเนินธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยวและเพาะพันธุ์สัตว์ เนื้อที่ 432 ไร่ ที่ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี มีทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ประชุมสัมมนา ค่ายพักแรม และศูนย์พัฒนาการขยายพันธุ์สัตว์ของซาฟารีเวิลด์ แต่ยังมิได้เปิดดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ส่วนเกินของซาฟารีเวิลด์ เตรียมการเพาะและขยายสัตว์เพื่อจำหน่าย

วันที่ 9 ตุลาคม 2557 บริษัทและภูเก็ตแฟนตาซีมีมติจัดตั้งบริษัท คาร์นิวัลเมจิก จำกัด เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวธีมปาร์คอีกแห่งหนึ่ง เน้นการจัดแสดงแสงสีของดวงไฟ Hi-tech ต่างๆ ชื่อโครงการ “คาร์นิวัลเมจิก” เนื้อที่ 82 ไร่ ตั้งอยู่ติดกับภูเก็ตแฟนตาซี งบลงทุนรวมแล้ว 6,000 ล้านบาท

แต่ต่อมาหยุดพักการก่อสร้างชั่วคราว เพราะกลุ่มบริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และตลาดการท่องเที่ยวยังย่ำแย่ กระทั่งโควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศ จึงเร่งก่อสร้างและเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565

ด้านซาฟารีเวิลด์ต้องปิดให้บริการช่วงโควิดแพร่ระบาดตามคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นานกว่า 5 เดือนครึ่ง ก่อนมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 พร้อมเร่งปลุกโซนใหม่ “จังเกิลวอล์ค” ประกอบด้วยพื้นที่ป้อนอาหารยีราฟ นิทรรศการไข่นก ส่วนจัดแสดงนกแก้วซันคอนนัวส์ การแสดงวอลรัสจากรัสเซีย ส่วนจัดแสดงนกเงือก และยังเพิ่มสัตว์แปลกนานาชนิด เช่น นกพิราบหงอนวิกตอเรีย ปลาช่อนอะเมซอน หนูยักษ์คาพีบาร่า แมวน้ำขนปุย ลีเมอร์หางวงแหวน จิงโจ้เทา เสือดาว กรงนกแก้วมาคอว์ใหญ่ ค่างห้าสี

ขณะเดียวกันต้องปรับแผนการตลาดเน้นกลุ่มลูกค้าคนไทย งัดกลยุทธ์สมาชิกบัตรรายปี Safari 365 Annual Ticket ราคาพิเศษ 1,111 บาท จากปกติ 2,880 บาท และเปิดโครงการ New Safari World AR Zoo นำเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริงเป็น AR (Artificial Reality) Zoo เพิ่มจุดกิจกรรมใหม่ ถ่ายรูปกับสัตว์ AR นานาชนิดในพื้นที่มารีนปาร์ค เป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ซาฟารีเวิลด์เจอผลพวงวิกฤตหลายรอบ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 การก่อวินาศกรรมเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2544 การระบาดของโรค SARS ในปี 2546 การระบาดของไข้หวัดนกในปี 2547 การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2548 และการยึดอำนาจช่วงปี 2549-2550 ส่งผลให้การดำเนินงานมีผลขาดทุนต่อเนื่อง จนส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ติดลบ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงประกาศให้หุ้น SAFARI เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและสั่งห้ามซื้อขายตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โดยย้ายไปอยู่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group: NPG) ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 จนกว่าจะแก้ไขตามเงื่อนไขที่กำหนด

บริษัทได้ยื่นขอขยายเวลาการแก้ไขถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งทีมผู้บริหารกลุ่ม “คิ้วคชา” มั่นใจว่า ภายในสิ้นปี 2565 จะมีรายได้กลับมาได้ 50% และกลับมาเท่าหรือใกล้เคียงปี 2562 ในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า