วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > เส้นทางธุรกิจของ “มิตรดนัย สถาวรมณี” ปั้นแบรนด์ Plantae จากธุรกิจปุ๋ยสู่ผู้นำโปรตีนทางเลือก

เส้นทางธุรกิจของ “มิตรดนัย สถาวรมณี” ปั้นแบรนด์ Plantae จากธุรกิจปุ๋ยสู่ผู้นำโปรตีนทางเลือก

จากยอดขายหลักพันบาทในเดือนแรก ใช้เวลาเพียงไม่นาน ยอดขายเฉลี่ยของ Plantae กลับพุ่งทะยานถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน ขึ้นแท่นเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชอันดับหนึ่งในท้องตลาด เติบโตกว่า 284 เท่า จนกลายเป็นสตาร์ทอัปที่น่าจับตามอง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” มาพูดคุยกับ “มิตรดนัย สถาวรมณี” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Plantae เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกที่มาแรงแห่งยุค

เส้นทางสายธุรกิจของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “มิตรดนัย สถาวรมณี” หรือ คุณพอร์ต เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมโยธา University of Wisconsin at Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาเมืองไทยเพื่อเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวอย่างธุรกิจปุ๋ยในชื่อ “SV Group”

“หลังจากเรียนจบผมถูกส่งไปอยู่โรงงานปุ๋ยที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นก้าวแรกที่ทำให้รู้จักกับคำว่า ‘เกษตร’ โดยเข้ามาดูเรื่องการตลาดและการขายเป็นหลัก ช่วง 5 ปีแรกมีโอกาสเดินทางไปเจอกับเกษตรกรเยอะมาก ในหนึ่งเดือนผมอยู่ต่างจังหวัดไปแล้ว 25 วัน ค่ำไหนนอนนั่น แต่ทำไปทำมามันไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร ด้วยรูปแบบธุรกิจค้าปุ๋ยในไทยมันมีปัจจัยหลายอย่าง”

มิตรดนัยเล่าต่อไปว่ารูปแบบธุรกิจปุ๋ยในเมืองไทยถ้าจะให้ขายดีจะต้องขายผ่าน Traditional Trade หรือร้านค้าแบบดั้งเดิมอย่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือสหกรณ์ และวิธีการขายคือขายแบบเครดิต ซึ่งเครดิตของธุรกิจปุ๋ยมีระยะเวลายาวตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และเป็นวงการที่มี NPL สูงถึง 30% – 50% การไปสู้กับยักษ์ใหญ่เจ้าของตลาดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“พออยู่กับธุรกิจปุ๋ยนานๆ ผมเริ่มมองแล้วว่ามันไม่น่าจะมีอนาคตและไม่เหมาะกับสิ่งที่เราต้องการจะไป เลยมานั่งคิดว่าถ้าอย่างนั้นจะทำอะไร ช่วงนั้นมีคนมาเสนอให้เลี้ยงไก่แบบ Contact Farming แน่นอนว่าเม็ดเงินมันไหลมาทุกเดือนแน่ๆ แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทาง วันหนึ่งผมอยากพาลูกผมไปแล้วภูมิใจที่จะบอกเขาว่านี่คือสิ่งที่ป๊าทำมากกว่า ถึงแม้ว่าธุรกิจปุ๋ยจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร แต่มันปลูกฝังให้เราผูกพันกับการเกษตร และต้องการทำให้มันยั่งยืน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมกับน้องชายตัดสินใจทำ Coro Field ขึ้นมา”

จากธุรกิจปุ๋ยสู่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรไลฟ์สไตล์แห่งแรกของเมืองไทย
หลังจากพบว่าธุรกิจปุ๋ยไม่ใช่คำตอบ ปี พ.ศ. 2557 มิตรดนัยและน้องชาย พีท-พันดนัย สถาวรมณี จึงจับมือกันพลิกผืนดินที่แคยแห้งแล้งใน อ.สวนผึ้ง พัฒนาจนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 104 ไร่ ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในชื่อ “Coro Field” (โคโร ฟิลด์) ที่มีจุดขายคือฟาร์มเมลอนสายพันธุ์พิเศษที่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแนวใหม่

การสร้าง Coro Field ให้เป็นรูปเป็นร่างนั้นเริ่มตั้งแต่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งใน อ.สวนผึ้ง พัฒนาให้กลายเป็น Innovation Smart Farming ด้วยการผนวกเอาฟาร์มเทคโนโลยีเข้ามาสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่ดี ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการเกษตรรูปแบบเก่าสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์เกษตรรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงการปลูก แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนเมืองและเกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยการนำเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่นและพืชผักชนิดต่างๆ มาปลูก เช่น มะเขือเทศ มันม่วง และผักสลัด โดยผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมดภายในฟาร์มจะถูกนำมาปรุงเป็นอาหารให้ลูกค้าที่มาเที่ยวชมฟาร์ม และยังแปรรูปเป็นสินค้านวัตกรรมเพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว

“coro หรือ โคโร มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่าเวลา ส่วน field เป็นภาษาอังกฤษหมายถึงพื้นที่สีเขียวกว้างๆ ผมกับพีททำโคโรฟิลด์ขึ้นมาด้วยเจตนาอยากให้คนเดินทางมาถึงที่นี่ปุ๊บ เวลาชีวิตของเขาจะช้าลง ให้เขาได้พักผ่อน พยายามลดการใช้มือถือ แต่ให้หันมาปฏิสัมพันธ์และใส่ใจคนที่อยู่ข้างๆ โดยใช้การเกษตรมาเป็นเครื่องมือ เรามีทั้งพื้นที่ มีฟาร์ม และมีอาหารอร่อยๆ ปลอดสารไว้คอยบริการ”

ตั้งแต่เปิดตัวมา Coro Field ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวจากทั้งในพื้นที่และจังหวัดต่างๆ แวะเวียนมาเช็กอินกันอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดลมบนของ อ.สวนผึ้ง ไปในที่สุด จนนำไปสู่การขยายสาขามายังกรุงเทพฯ

ปี พ.ศ. 2560 มิตรดนัยนำ Coro Field จากสวนผึ้งเข้ามาใกล้ชาวกรุงมากขึ้น โดยเปิดตัวร้าน “Coro Harvest” (โคโร ฮาร์เวสต์) ขึ้นที่เอสพลานาด รัชดา เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่นำวัตถุดิบปลอดสารจากฟาร์ม Coro Field ที่สวนผึ้งมาใช้

หลังจากนั้นไม่นาน “Coro Field Dessert” (โคโรฟิลด์ ดีเสิร์ท) ร้านขนมหวานโฮมเมดในเครือของ Coro Field เปิดตัวตามมา โดยปักหมุดในห้างใหญ่ใจกลางเมืองอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ และมีจุดขายคือการนำผลไม้ปลอดสารเกรดพรีเมียมส่งตรงจากฟาร์มอย่างโทมิเมลอนและมันมุราซากิมารังสรรค์เป็นเมนูขนมหวาน

ถึงแม้ว่า Coro Field ที่สวนผึ้งจะประสบความสำเร็จ แต่ในทางกลับกันผลตอบรับที่เกิดขึ้นกับร้าน “โคโร ฮาร์เวสต์” และ “โคโรฟิลด์ ดีเสิร์ท” กลับไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง จนทำให้ต้องปิดตัวลงในที่สุด

“พอที่สวนผึ้งมันโอเคระดับหนึ่ง ผมกับพีทเลยถอยออกมาเพื่อขยายตลาดของ Coro Field ที่กรุงเทพฯ แต่พอทำไปทำมามันไม่เป็นไปตามที่หวัง แล้วเราก็ตระหนักว่าถ้ามันจะประสบความสำเร็จเป็นธุรกิจใหญ่ได้จริงๆ มันต้องเป็นโมเดลธุรกิจที่ต้องเปิดเป็นหลักร้อยสาขา อย่างที่เอสพลานาดนี่เปิดแล้วก็ไปไม่รอด ที่เซ็นทรัลเวิลด์มันก็พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ไม่ได้ดีนัก สุดท้ายพอโควิดมาเราก็ปิดมันไป”

“ตอนที่ต้องปิดโคโร ฮาร์เวสต์ที่เอสพลานาด ผมก็พยายามดิ้น พยายามปรับ เหมือนคนที่พยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด เพราะเราเองก็ไม่อยากปิดและอยากให้พนักงานเขามีงานทำ จนถึงจะเปลี่ยนเป็นร้านชาบูเลย เพราะตอนนั้นกระแสชาบูกำลังมา แต่มีพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเขาให้คำแนะนำว่า ถ้าเป็นตัวเขาเองจะถอยออกมาก่อน ไม่ผลีผลาม กลับมาคิด กลับมาตกผลึกก่อน ผมก็รับฟังและเห็นด้วยเลยไม่ทำแล้วร้านชาบู ซึ่งคิดว่าตัดสินใจถูกมากๆ เพราะถ้าวันนั้นผมเปิดร้านชาบู วันนี้อาจจะไม่มีแพลนเต้ก็ได้” มิตรดนัยเล่าถึงเส้นทางธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา

หลังจากปิดร้านในกรุงเทพฯ แล้ว ทั้งมิตรดนัยและน้องชายต่างพยายามแตกยอดสู่ธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจาก Coro Field ที่สวนผึ้งที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ประกอบกับในช่วงนั้นมีการจัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอย่างไทยเฟ็กซ์ (THAIFEX) ทั้งคู่จึงตัดสินใจไปจองบูธในงาน ทั้งที่ ณ ขณะนั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะนำสินค้าใดไปนำเสนอ

“ผมกับพีทเราชอบเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่มันท้าทาย แต่ต้องเป็นความท้าทายที่ดีนะ เพราะรู้ว่าถ้าสามารถก้าวข้ามไปได้มันจะดี เราไม่อยากเปิดร้านแล้วแต่อยากมีผลิตภัณฑ์ เลยไปจองบูธที่งานไทยเฟ็กซ์ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะขายอะไร แต่รู้ว่าถ้าจ่ายค่าบูธขนาดนั้นมันต้องบังคับให้เราคิดทำอะไรสักอย่าง ซึ่งมีเวลาแค่ 2 เดือนในการคิด”

มิตรดนัยเล่าต่อไปว่า ด้วยความที่อยู่ในแวดวงการเกษตร สุดท้ายเขาจึงนำเอา “Waste” หรือของเสียจากการเกษตรที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้มาทำขนมเพื่อสุขภาพมานำเสนอในงาน โดยทำเป็นขนมจากข้าวโอ๊ตที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “Snack that save the world” หรือ ขนมรักษ์โลก เพราะแทนที่จะนำของเสียจากการเกษตรไปทิ้งแต่กลับนำมาผลิตเป็นขนมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียเหล่านั้นได้

ภายในงานครั้งนั้นผลิตภัณฑ์ที่เขาคิดค้นได้รับความสนใจเป็นอันมาก มีคนติดต่อขอซื้อเกือบ 200 ราย ทั้งจากในและนอกประเทศ แต่ด้วยความที่เป็นสเกลใหญ่และไม่มีโรงงานผลิตรองรับทำให้ไม่สามารถปิดการขายได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ได้คือการเห็นโอกาสของสินค้าประเภทนี้ในตลาด

หลังจากนั้นไม่นานโจทย์ยากทางธุรกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวถูกปิด แน่นอนว่า Coro Field ได้รับผลกระทบอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

“วันที่โควิดระบาด ยอดขายของเราเหลือศูนย์บาท ถูกสั่งปิดและขายได้เฉพาะดีลิเวอรีซึ่งมันก็ไม่ค่อยมี เราไปถึงจุดที่ขายข้าวไข่เจียวข้างทางเพื่อเอามาเป็นเงินเดือนพนักงานแล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่งโควิดมันก็เป็นตัวเร่งให้เกิด Plantae ขึ้นเช่นเดียวกัน”

Coro Field สารตั้งต้นของ Plantae
จากการที่ทั้งมิตรดนัยและพันดนัยอยู่ในแวดวงการเกษตรมาตั้งแต่ต้น ประกอบกับความสำเร็จในการปลุกปั้น Coro Field และการมองเห็นโอกาสของตลาดโปรตีนจากพืชซึ่งเป็นเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคต ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจขยายธุรกิจสู่การก่อตั้งแบรนด์ “Plantae” (แพลนเต้) เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกจากพืชขึ้น โดยนำความรู้และประสบการณ์ในการทำฟาร์มมาต่อยอด และสร้างทีมวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง

“เราสองคนมาสะดุดกับคำว่า Plant Based หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช เพราะอยู่ในแวดวงการเกษตรและสนใจในเรื่องของพืชอยู่แล้ว จากนั้นก็มาคิดว่าสามารถทำผลิตภัณฑ์จากพืชอะไรได้บ้าง เราแตกออกมาได้ 5 หมวดใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘โปรตีน’ แต่ความเสี่ยง ณ วันนั้นคือ คนบอกว่าเทรนด์มันกำลังมา แต่ในไทยมันมีโอกาสที่กลายเป็นแค่อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของการกินเจเท่านั้น จึงต้องทำการบ้านกันหนักมากๆ

หลังจากทำการศึกษาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการลองผิดลองถูกในการผลิตสินค้าจากพืชเพื่อทดลองตลาดทั้งคอลลาเจน โพรไบโอติก จนถึงขนมมาแล้ว ทั้งคู่จึงปักหมุดที่ “เครื่องดื่มโปรตีนจากพืช” เพราะมองว่าโปรตีนคือสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย อีกทั้งโปรตีนจากพืชยังเป็นเทรนด์อาหารแห่งโลกอนาคต ดีต่อร่างกาย ช่วยลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ประกอบกับปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มแพ้โปรตีนจากนมวัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโปรตีนจากพืชจึงน่าจะเป็นคำตอบและมีโอกาสทางธุรกิจสูง

ยอดขายเดือนแรกแค่หลักพัน
ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์แพลนเต้ตัวแรกที่ออกสู่ตลาดคือ Plant Based Milk เป็นนมอัลมอนด์บรรจุขวด วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2563 ในกรูเมต์มาร์เก็ต แต่ยอดขายกลับไม่ปังอย่างที่คิด เพราะเดือนแรกขายได้เพียง 3,785 บาทเท่านั้น เดือนที่ 3 ยอดขายขยับไปที่ 30,000 บาท ด้วยการเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ หลังจากนั้นมิตรดนัยปรับกลยุทธ์ใช้พลังของแบรนด์เก่ามาช่วยดึง โดยเปลี่ยนชื่อจาก Plantae เป็น Plantae by Coro Field สร้างยอดขายได้กว่า 400,000 บาท

จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนเมื่อมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบผงรสดาร์กช็อกโกแลต ที่ใช้เวลาพัฒนาสูตรมากกว่า 1 ปี และผ่านการทดสอบกว่า 80 ครั้ง ทำให้ยอดขายแต่ละเดือนโตแบบก้าวกระโดด

“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันก็ไม่ได้แย่ แต่พอมาโฟกัสที่ตัวเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบผงปุ๊บมันยิ่งไปเร็ว พอออกตัวโปรตีนดัชช็อกโกแลตแบบซองไปตัวแรก เราเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่ามันไปได้ เดือนแรกขายได้ 6 หมื่น หลังจากนั้นเพิ่มเป็นแสนสี่ แสนหก จนถึงหนึ่งล้าน ยอดขายมันขึ้นทุกเดือน เราเลยมาโฟกัสที่ตัวโปรตีนจากพืชแบบผงเป็นหลัก เดินหน้าแบบ 100%”

เครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบผงของแพลนเต้มีจุดเด่นคือสารอาหารที่ครบถ้วน โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือโปรตีนจากพืช 5 ชนิด มีโปรตีนสูง 30 กรัม และ BCAAs 5000mg ใช้ความหวานจากหญ้าหวาน ดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญคือรสชาติอร่อย อันเป็นสิ่งที่มิตรดนัยให้ความสำคัญเป็นอันมากนอกเหนือจากสารอาหาร เพราะต้องการแก้เพนพอยต์ของผู้บริโภค

การหันมาพัฒนาเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบผงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแพลนเต้ เพราะสร้างยอดขายแบบก้าวกระโดด ชนิดที่มิตรดนัยใช้คำว่า “ขายดีกว่าที่คิด” เพราะจาก 3,785 บาทในเดือนแรก ปัจจุบันแพลนเต้สร้างยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30 ล้านบาท เติบโตกว่า 284 เท่า และทำให้แพลนเต้เป็นสตาร์ทอัปหลักร้อยล้านในเวลาไม่นาน

“วิชาตัวเบา” สูตรสู่การเติบโต
เมื่อถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้แพลนเต้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ มิตรดนัยเปิดเผยว่ามาจากปัจจัยหลักๆ คือ “Product-market Fit” สินค้าและบริการที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยเขาเน้นย้ำว่า ไม่มีอะไรสำคัญเท่าผลิตภัณฑ์ขายตัวมันเองได้ โดยที่ไม่หลอกตัวเอง, “คน” คืออีกหนึ่งปัจจัยที่มิตรดนัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าองค์กรมีคนเก่งและชัดเจนในงานมันจะสร้างการเติบโตได้ดี และอีกหนึ่งปัจจัยคือ “Business Model” ต้องมีรูปแบบธุรกิจที่ดีและแข็งแรง

“ผมใช้วิชาตัวเบา อะไรที่ไม่ใช่แกนหลักขององค์กรจะเอาท์ซอร์สทั้งหมด แพลนเต้มีทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรง เราจ้างผลิต 100% จ้างโลจิสติกส์ 100% หน้าที่เราคือสร้างแบรนด์ คิดสูตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ เราเห็นว่าตอนทำ Coro Field มันก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่บริษัทที่มันอยู่รอดได้ในระยะยาวแบบ Great Company ไม่ใช่แค่ Good Company มันคือบริษัทที่ต้องมีความสามารถในการปรับตัว และโฟกัสสิ่งที่เชี่ยวชาญจริงๆ”

สิ่งที่มิตรดนัยให้ความสำคัญคือการสร้างจุดแข็งของแบรนด์และสร้างความแกร่งของทีมงาน ซึ่งจุดแข็งของแบรนด์แพลนเต้ที่ถูกสื่อสารออกมาคือการเป็นเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่ดีทั้งต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และช่วยรักษาชีวิตของสัตว์ จับกลุ่มคนรักสุขภาพแต่อาจจะไม่อยากเข้ายิมทุกวัน โดยใช้กลยุทธ์การสร้างคอมมูนิตี้คนรักสุขภาพและห่วงใยโลกมาเป็นหนึ่งในการสร้างความแกร่งของแบรนด์

ปัจจุบันแพลนเต้มีสินค้าทั้งหมด 9 รายการ ตอบโจทย์ในทุกวัยและทุกไลฟ์สไตล์ มีช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ถึง 450 สาขา เช่น Shopee, Lazada, Line Shopping, Tiktok, JD Central, ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต, กรูเมต์, ฟู้ดแลนด์ และวิลล่า มาร์เก็ต เป็นต้น โดยเน้นขายช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

ล่าสุดยังได้เปิดตัว 2 พรีเซ็นเตอร์เบอร์ใหญ่อย่าง “ใหม่ – ดาวิกา โฮร์เน่” และ “บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่ม Active Lifestyle ที่ชอบทำกิจกรรมและออกไปใช้ชีวิต โดยไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มคนออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว

สำหรับปี 2566 มิตรดนัยตั้งเป้ายอดขายทั้งปีไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เน้นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ดื่มง่าย อร่อย ดื่มได้ทุกวัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะขยายตลาดสู่ต่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งได้เริ่มทดลองตลาดต่างประเทศไปบ้างแล้ว เช่น สิงคโปร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราอยากให้คนรู้ว่าแบรนด์นี้มาจากประเทศไทย โดยจะโฟกัสที่ตลาดเอเชียเป็นหลักเพราะเป็นตลาดใหญ่ และเทรนด์ของผู้บริโภคกำลังมา ส่วนตลาดทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง มันเป็น Red Ocean ไปแล้ว ณ ตอนนี้เราคงไม่ไปตลาดนั้น โดยสิ่งที่เราจะทำก็คือโปรตีนจากพืชนี่แหละครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ แต่จะออกมาเป็นรูปแบบไหนคงต้องติดตามกันต่อไป”

นอกจากนี้ มิตรดนัยยังมีแผนกลับไปรีแบรนด์ธุรกิจปุ๋ยและ Coro Field อีกด้วย โดยจะปรับจากธุรกิจค้าและผลิตปุ๋ยแบบเดิมสู่การเป็นไบโอเทคโนโลยี ในชื่อ “SV Biotech” โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยทำการเกษตร และในส่วนของ Coro Field จากฟาร์มเมลอน จะเพิ่มการปลูกกัญชงและพัฒนาให้เป็น “Mental Wellness Center” ต่อไป

“เราอยากให้ SV Biotech เป็นจุดตั้งต้นในการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ดี มีแพลนเต้คอยดูแลเรื่องสุขภาพ และมี Coro Field ดูแลเรื่องจิตใจ” มิตรดนัยกล่าวทิ้งท้าย

ซึ่งเราน่าจะเห็นภาพการปรับเปลี่ยนที่กล่าวมาในเร็วๆ นี้ อย่างแน่นอน.