วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > “พาราไดซ์พาร์ค” จุดพลุ เสริมเขี้ยวเล็บรุกแนวรบใหม่

“พาราไดซ์พาร์ค” จุดพลุ เสริมเขี้ยวเล็บรุกแนวรบใหม่

 
การเปิดตัวห้างสรรพสินค้า โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค นอกจากเป็นบิ๊กแองเคอร์ชิ้นใหม่ของศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ยังหมายถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรุกแนวรบย่านกรุงเทพตะวันออก ที่เต็มไปด้วยยักษ์ค้าปลีก โดยเฉพาะการประกาศผุดโครงการ “บางกอกมอลล์” ของกลุ่มเดอะมอลล์ เนื้อที่ 100 ไร่ มูลค่าลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท ในปี 2561 
 
แน่นอนว่า โตคิวสาขา 2 ถือเป็นการขยายการลงทุนครั้งใหม่ หลังจากกลุ่มโตคิว ญี่ปุ่น เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยแห่งแรกเมื่อ 30 ปีก่อนที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง หรือ “เอ็มบีเค” ยุคปัจจุบัน โดยครั้งนี้กลุ่มโตคิวร่วมทุนกับบริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัดในเครือบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด สัดส่วนการร่วมทุน 50:50  เป็นผู้บริหารห้างสรรพสินค้าโตคิว สาขาพาราไดซ์ พาร์ค แยกออกจากห้างโตคิว สาขาเอ็มบีเค 
 
ทาคาชิ ฮายาโนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้า กรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ใช้งบลงทุนรวม 400 ล้านบาท มีพื้นที่ทั้งหมด 13,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ชั้น เน้นรูปแบบและสร้างบรรยากาศตามแบบฉบับห้างญี่ปุ่น เพื่อสร้างความแปลกใหม่และความแตกต่างจากคู่แข่ง เน้นความเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกถึงความพรีเมียมกับความทันสมัยแบบความเป็นไทยที่สดใสและมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะการนำเข้าแบรนด์จากญี่ปุ่นมาจำหน่าย เช่น Miss KYOKO รองเท้าเพื่อสุขภาพ, ร้านเดนิมและรองเท้าแฮนด์เมด about 79 และสินค้าแฟชั่นและแอ็กเซสซอรีสำหรับสตรี plus plus โดยทุกแผนกจะมีสินค้าญี่ปุ่นและเตรียมเพิ่มรายการสินค้าตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 
 
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมียอดผู้ใช้บริการระยะแรกไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 คนต่อวัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค เฉลี่ย 50,000-60,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี รวมถึงกำลังซื้อที่สูงขึ้นด้วย เพราะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ครอบคลุม 10 เขต ในรัศมี 10 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน โดยเขตประเวศ สวนหลวง พัฒนาการ มีกลุ่มคนรายได้สูงและกลุ่มครอบครัวระดับ เอ-บี จำนวนมาก หรือรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยมากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพฯ 1 เท่าตัว อีกทั้งยังมีการขยายตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมาก
 
ขณะเดียวกัน ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มสยามพิวรรธน์และเอ็มบีเค โดยซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์มาปรับโฉมใหม่ พยายามชูความเป็นศูนย์การค้าระดับบน เพื่อสร้างจุดต่างจาก “ซีคอนสแควร์” ที่เน้นความใหญ่ด้านขนาดพื้นที่ ความหลากหลาย และจับกลุ่มลูกค้าทั่วไประดับกลาง
 
ที่ผ่านมาพาราไดซ์พาร์คพยายามเน้นแม็กเน็ตที่มีจุดขายเฉพาะ เช่น เสรีมาร์เก็ต ตลาดสดเกรดเอ เน้นสินค้าคุณภาพ ร้านอาหารที่ไม่ได้หาทานในฟู้ดคอร์ททั่วไปและร้านค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งถือเป็นแม็กเน็ตที่มัดใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น ทุกวันมีลูกค้าประจำแน่นพื้นที่ทั้ง 5,000 ตร.ม. เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน
 
ปลายปี 2557 เอ็มบีเคและสยามพิวรรธน์จับมือกันลงทุนอีกกว่า 1,100 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่ “HaHa” เนื้อที่กว่า 8 ไร่ เชื่อมต่อกับพาราไดซ์พาร์ค โดยวางเป็นศูนย์รวมสีสันของชีวิต ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สยามสแควร์แห่งกรุงเทพตะวันออก” โลกแห่งแฟชั่นทันสมัยจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่และแหล่งสถาบันกวดวิชาชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในย่านกรุงเทพตะวันออก 
 
การเปิด HaHa ถือเป็นกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา และเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูงด้วย โดยพื้นที่ภายในอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ 40,000 ตร.ม.  มีทั้งร้านอาหารและสถาบันกวดวิชาชื่อดัง เช่น วี บาย เดอะ เบรน สถาบันกวดวิชา คณิต-วิทย์ อันดับหนึ่งของประเทศไทย, สถาบัน Da’vance สอนภาษาไทยและสังคมที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศไทย, สถาบัน บ้านวิชาการโดดเด่นด้วยการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาและวัยทำงาน, Ideal Physics สถาบันที่สอนฟิสิกส์ชื่อดัง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 20,000 คน 
 
ล่าสุด พาราไดซ์พาร์คเผยโฉมห้างโตคิว เพื่อเป็นอาวุธชิ้นใหม่รับสมรภูมิค้าปลีก ซึ่งเพิ่มความร้อนแรงจาก “ศรีนครินทร์” สู่ “บางนา” ทั้งเซ็นทรัลบางนา เมกาบางนา และบางกอกมอลล์ เพราะจะเกิดการช่วงชิงลูกค้ารุนแรงขึ้น การสร้างจุดขายและสร้างฐานลูกค้าประจำจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ
 
ขณะที่ทุกค่ายต่างปรับตัวใหญ่ อย่างเซ็นทรัลบางนา ใช้งบมากกว่า 1,200 ล้านบาท ทยอยรีโนเวตศูนย์การค้า พื้นที่ 340,000 ตร.ม. และจะเปิดเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2559  ภายใต้คอนเซ็ปต์ THE SPLENDOROUS FLAGSHIP SHOPPING COMPLEX OF EASTERN BANGKOK เน้นจับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้าเป็น Family Destination ทั้งสถาบันการศึกษาและแม่เหล็กตัวใหม่ Aqua Park สวนน้ำขนาดใหญ่พร้อมเครื่องเล่น
 
สำหรับ “เมกาบางนา” นอกจากการปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่  “Commercial Retail” เพิ่มร้านค้าที่เกือบ 1,000 ร้านค้า ศูนย์เอ็นเตอร์เทนเมนท์และ “อิเกียสโตร์” ซึ่งเป็นแม็กเน็ตที่แข็งแกร่งแล้ว ยังมีแผนสร้าง “เมกาซิตี้” เนื้อที่อีก 150 ไร่ ระยะเวลา 7-10 ปี 
 
เมกาซิตี้จะเป็นโครงการ “มิกซ์ยูส” เพื่อสร้าง “ฮับ” ให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างครบวงจร ทั้งอยู่อาศัย ทำงาน บันเทิง และจับจ่ายสินค้า ประกอบด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุมอารีน่าคอนเวนชั่น ศูนย์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยมี “เมกาบางนา” เป็นศูนย์กลางการจับจ่าย เพื่อดึงดูดผู้คนเข้าสู่โครงการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25-30% จากปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการเฉลี่ย 3-3.5ล้านคนต่อเดือน หรือ 1-2 แสนคนต่อวัน 
 
ส่วนที่กำลังมาแรง คือ บางกอกมอลล์บริเวณแยกบางนาตรงข้ามไบเทค บางนา  ซึ่งเดอะมอลล์กรุ๊ปหมายมั่นปั้นให้เป็นอาณาจักรศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานแบบครบวงจรที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย ภายใต้คอนเซ็ปต์ City within the City พื้นที่กว่า 650,000 ตร.ม. ดีเดย์ไม่เกินปี 2561 
 
แนวรบใหม่ “ศรีนครินทร์-บางนา” เตรียมเปิดฉากดุเดือดขึ้นแล้ว