วันอังคาร, กันยายน 10, 2024
Home > New&Trend > ซินดี้ สิรินยา-อาจารย์ช้าง ชวนเลิกซื้อ เลิกใส่เครื่องประดับจากงาช้าง ย้ำ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด’

ซินดี้ สิรินยา-อาจารย์ช้าง ชวนเลิกซื้อ เลิกใส่เครื่องประดับจากงาช้าง ย้ำ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด’

องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกันเปิดตัว โครงการรณรงค์ ล่าสุด ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด – Only elephants wear ivory best’ เพื่อลดความต้องการซื้อและสวมใส่ เครื่องประดับจากงาช้างในหมู่ผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พร้อมเผยแพร่โฆษณารณรงค์ 2 เรื่อง ที่มี ซินดี้ สิรินยา บิชอพ นักแสดง นางแบบ และอาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลา นักโหราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยชื่อดังเป็นทูตโครงการ เพื่อร่วมตอกย้ำว่า ไม่มีใครใส่งาช้างได้คู่ควรและสวยงามเท่ากับตัวของช้างเอง

โครงการ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด – Only elephants wear ivory best’ ได้รับการพัฒนาต่อยอด มาจากโครงการ รณรงค์ ‘สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา – Beautiful without ivory’ ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของ USAID ที่มีเป้าหมายสื่อสารถึงผู้นิยมสวมใส่ และผู้มีความต้องการซื้อเครื่องประดับจากงาช้าง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใช้ที่เชื่อว่างาช้างเป็นของสวยงาม

“ซินดี้ปฏิเสธการถ่ายแบบ และการทำงานที่ต้องสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากงาช้างและชิ้นส่วนจากสัตว์ป่า หรือแม้แต่เสื้อผ้า ที่ทำจากขนสัตว์มาโดยตลอด เพราะซินดี้เชื่อว่า สิ่งที่มาจากสัตว์ป่า เช่น งาช้างจะสวยที่สุดและมีคุณค่าที่สุด เมื่ออยู่กับช้าง เท่านั้น สำหรับโครงการนี้ ซินดี้หวังว่าจะมีส่วนช่วยสื่อสารเรื่องนี้ไปยังผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สังคม ในวงกว้าง ไม่ยอมรับการซื้อและการสวมใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้และหยุดความต้องการใหม่ๆ ในอนาคต” คุณซินดี้ กล่าว

นอกจากนี้ โครงการรณรงค์ยังมีเป้าหมายเพื่อลดแรงจูงใจในการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับจากงาช้างที่มาจากความเชื่อว่างาช้างจะช่วยเสริมดวง และนำมาความโชคดีมาสู่ผู้สวมใส่ โดยอาจารย์ช้างจะช่วยสื่อสารไปถึงผู้ติดตามและตั้งคำถามต่อความเชื่อดังกล่าว

“สิ่งที่จะช่วยเสริมดวงให้ดีขึ้นต้องมาจากจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการใช้เครื่องรางจากงาช้างที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเบียดเบียนช้างนั้นจะส่งผลให้ชีวิตของเราดีได้อย่างไร การที่เรามีจิตที่เป็นกุศลมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถือเป็นความดีที่จะช่วยเสริมให้ชีวิตของเรามีแต่สิ่งดีๆเกิดอย่างแน่นอน ที่สำคัญที่สุดคืองาช้างจะสวยและมีคุณค่าที่สุดเมื่ออยู่กับช้างเท่านั้น” อาจารย์ช้าง ทศพร ศรีตุลา กล่าว

ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 โดย USAID พบ คนไทยร้อยละ 2 มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และคนไทย ร้อยละ 3 มีความตั้งใจที่จะซื้องาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ จากเสือโคร่ง ในอนาคต แม้ว่าสัดส่วนนี้จะต่ำ แต่ผู้นิยมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีส่วนผลักดันตลาดภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม จึงมีความสำคัญต่อการลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง และ จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง

“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการรณรงค์ ‘สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา’ สามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้นิยมใช้เครื่องประดับจากงาช้างได้อย่างเห็นผลแม้เพียงระยะเวลาอันสั้น เราหวังว่า โครงการ ‘งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด’ จะช่วยลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมืออันดีกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ปกป้องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์ ผ่านโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าผิดกฎหมายต่อไป” ดร. ศุภสุข ประดับศุข ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าว

ผลการสำรวจหลังการดำเนินโครงการรณรงค์สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรม ของ USAID ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้ที่เห็นสื่อโครงการ “สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา” ที่ตอบว่ามีความตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างมีจำนวนลดน้อยลงถึง ร้อยละ 50 และคนที่เห็นด้วยว่า การซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างไม่อาจเป็นที่ยอมรับในสังคมมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อ เปรียบเทียบกับผลการวิจัยผู้บริโภคของ USAID เมื่อปี พ.ศ. 2561

“กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ทำงานร่วมกับ USAID และองค์กรไวล์ดเอด (WildAid) อย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งการลดความต้องการของผู้บริโภค ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการยับยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) เราเชื่อว่าการเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า อย่างเช่น โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” จะช่วยสร้างทัศนคติใหม่ในสังคม ที่จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าและนำไปสู่การป้องกันการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายได้” นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว

“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคุณซินดี้ และอาจารย์ช้าง จะช่วยเราขับเคลื่อนโครงการและสื่อสารถึงผู้ที่นิยมใช้งาช้างได้ องค์กร ไวล์ดเอด ดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยได้รับความร่วมมือ จากผู้มี่ชื่อเสียงจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึง ภาครัฐ และพันธมิตรสื่อมวลชน เราหวังว่า สื่อรณรงค์ชุดใหม่จะยิ่งทำ ให้ทุกคนอยากร่วมปกป้องช้างมากขึ้น และวิธีง่ายๆ ก็คือการเลิกซื้อ เลิกสวมใส่ผลิตภัณฑ์จากงาช้าง” มร.จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

นอกจากนี้ USAID องค์กรไวล์ดเอด และกรม อส. ร่วมกันผลิตรายการพิเศษเพื่อเปิดตัวโครงการณรงค์ ออกอากาศ สดผ่านทางเฟซบุ้คของ WildAid Thailand โดยมีคุณซินดี้ อาจารย์ช้าง ตัวแทนจาก USAID และกรมอส. ร่วมพูดคุยถึง สถานการณ์ล่าสุดของการค้างาช้างผิดกฎหมาย และแบ่งปันมุมมองการใช้ชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ชมย้อนหลังได้ทางเฟซบุ้ค WildAid Thailand และติดตามสื่อรณรงค์โครงการ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย และสื่อโฆษณานอกบ้านเร็วๆ นี้