วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > อุตสาหกรรมการบินในไทยรายได้เพิ่ม แต่ขาดทุนยับ อะไรเป็นปัจจัย

อุตสาหกรรมการบินในไทยรายได้เพิ่ม แต่ขาดทุนยับ อะไรเป็นปัจจัย

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เคยออกมาคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะขาดทุนเกือบ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยขาดทุนลดลง 78% จากยอดขาดทุนของปีนี้ ขณะที่สายการบินยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ระบาด นายวิลลี วอล์ช ผู้อำนวยการ IATA กล่าวว่า “เราได้ผ่านจุดวิกฤตที่รุนแรงที่สุดมาแล้ว แม้ว่าสถานการณ์ร้ายแรงยังไม่หมดไป แต่อุตสาหกรรมสายการบินยังคงมีโอกาสที่จะฟื้นตัว”

และคาดการณ์เพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมสายการบินจะสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในปี 2566 และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 3.4 พันล้านคนในปีนี้

คำทำนายของ IATA ดูจะเป็นจริงตามนั้นเมื่อสายการบินแห่งชาติของไทยอย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2565 ว่า ขาดทุน 6,467 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 21,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282% จากระดับ 5,635 ล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ รายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้น 619.3% สู่ระดับ 19,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้บริษัทการบินไทยประสบภาวะขาดทุนอีกครั้งในปีนี้คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ตามรายงานระบุว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอยู่ในระดับ 22,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126.3% จากปี 2564 จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและหรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 104.1% นั่นทำให้รายจ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมาอยู่ที่ระดับ 8,946 ล้านบาท คิดเป็น 39.2% จากรายจ่ายดำเนินงานทั้งหมด

อย่างที่ทราบกันดีว่า การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเพื่อกู้วิกฤตทางการเงิน หลังประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าผลของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้ผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและการควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินการก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 1,299 ล้านบาท ลดลงมาจากปีก่อนที่ขาดทุน 4,449 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) นั้น EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน มีกำไรจำนวน 168 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปี 2565 เทียบกับการขาดทุน 9,212 ล้านบาทในปี 2564 นับเป็นไตรมาสแรกหลังเข้าแผนพื้นฟูที่ EBITDA หลังหักค่าเช่าเป็นบวก

ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,102 ล้านบาท มีรายได้สุทธิจากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 1,982 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนและทรัพย์สิน ถึงแม้จะมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ผลคือ บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิจำนวน 3,213 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 23,326 ล้านบาท ในปี 2564 เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปี 2564 มีรายได้จากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ 27,100 ล้านบาท

ด้าน AAV หรือบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2/2565 มีรายได้รวม 2,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หากดูจากปริมาณที่นั่งที่เพิ่มกลับมากว่า 33% ของช่วงก่อนโควิด-19 ทั้งจากการขยายตัวของการเดินทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มเปิดให้บริการ ทั้งนี้ตลาดที่ได้รับการตอบรับที่ดีได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

แม้ว่าผลประกอบการของ AAV จะเผยให้เห็นตัวเลขรายได้หลักพันล้านบาท ทว่า ยังพบว่ามีการขาดทุนสูงเช่นกัน และแน่นอนปัจจัยที่ส่งผลให้ขาดทุนไม่แตกต่างจากการบินไทย นั่นคือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์โลก ตามรายงานของ AAV ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ถือเป็นต้นทุนหลักของสายการบินนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ AAV ขาดทุน 4,724 ล้านบาทในไตรมาสนี้

ตลอดไตรมาส 2/2565 ไทยแอร์เอเชียขนส่งผู้โดยสารรวม 1.68 ล้านคน เพิ่มขึ้น 133% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 75% เพิ่มขึ้น 14 จุด อีกทั้งราคาค่าโดยสารเฉลี่ยขยายตัว 17% อยู่ที่ 1,317 บาท จากความต้องการท่องเที่ยวที่คงค้างมาตั้งแต่ปีก่อนและค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในเที่ยวบินระหว่างประเทศ ขณะที่รายได้บริการเสริมต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 21% อยู่ที่ 285 บาท หนุนจากค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น

ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2565 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้รวม 4,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% และมีผลขาดทุน 7,094 ล้านบาท จากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 3.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายใหญ่จากเอเชีย เอวิเอชั่น อย่าง นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกาศกร้าวพร้อมอัดแคมเปญเชิงรุกเต็มที่สำหรับครึ่งปีหลัง ทั้งการตอกย้ำคุณภาพของแบรนด์ที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยมาตรฐานความปลอดภัย และความตรงต่อเวลา ผ่านแคมเปญ “ขอใส่ใจให้หายคิดถึง” การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจจากสินค้าบริการที่หลากหลายของ airasia Super App การทำแคมเปญต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนขยาย”

IATA คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2567 และผู้โดยสารจะเติบโตถึง 200 ล้านคนต่อปีในปี 2574 โดยอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 9 ของโลก นับตั้งแต่มีมาตรการเปิดประเทศ ปริมาณผู้โดยสารต่างชาติต่อเดือนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้นจาก 270,000 คนต่อเดือน ในช่วงต้นปี 2565 เป็นกว่า 1 ล้านคน จากการคาดการณ์ในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกว่า 22 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 6 ล้านคน โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะอยู่ที่ประมาณคนละ 48,000 บาท จะก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศสูงถึง 326,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาท

ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง 28 มิถุนายน 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 1,978,023 คน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสมรวม 1.14 แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่เดินทางผ่านด่านทางอากาศได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ 5 อันดับแรกที่เดินทางผ่านด่านทางบกได้แก่ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประมาณการนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังไว้ที่ 7,200,000 คน ซึ่งประมาณการยอดรวมนักท่องเที่ยวปี 2565 จำนวน 9,325,500 คน และได้ประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ 1.27 ล้านล้านบาท

แม้ว่าภาพรวมของบริษัทสายการบินทั้งสองบริษัทที่กล่าวไปก่อนหน้าจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทว่า รายจ่ายที่ปรากฏทำให้พบกับสภาวะขาดทุนอย่างหนัก การช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ศึกษาและจัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมและปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 กรอบแนวคิดและแผนปฏิบัติของแผนฯ มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน”

โดยปี 2565 มีเป้าหมายระยะ Quick-win ตามมาตรการ “อยู่รอด” คือ อุตสาหกรรมการบินมีความพร้อมสำหรับการเปิดทำการบินอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2565 มีเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงที่ยังคงมีการระบาด โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก พัฒนาความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อกระตุ้นความต้องการในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศไปพร้อมกับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ประกอบการ เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน

สำหรับปี 2566-2568 เป็นเป้าหมายระยะกลางตามมาตรการ “เข้มแข็งและยั่งยืน” คือประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรมการบินที่จะรองรับการจราจรทางอากาศเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติหรือเทียบเท่ากับปี 2562 ในปี 2568 ที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 165 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน โดยมีเป้าหมาย เช่น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบ New Normal ในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน โดยการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ของไทยให้ทัดเทียมสากล

อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาด ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์ทางการเงินเดิมของการบินไทย และค่าน้ำมันที่สูงขึ้น การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และความช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ได้หรือไม่ ยังคงต้องรอคอยคำตอบ.

ใส่ความเห็น