วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > New&Trend > “เราต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นแสงสว่างให้กับสังคม” รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์

“เราต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นแสงสว่างให้กับสังคม” รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์

“เราต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นแสงสว่างให้กับสังคม” รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ

ชีวิต ความคิด ความฝัน
ผ่านคืน ผ่านวัน สั่นผวา
แม้นหัวใจ อาบคราบน้ำตา
จงมุ่งมั่น ศรัทธา วาดขอบฟ้างาม

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เกิดและเติบโตในพื้นที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ช่วงชีวิตวัยเด็ก ได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน มีห้องสมุดเป็นคลังความรู้ ได้รับรางวัลคนเข้าห้องสมุดสูงสุด และยืมหนังสือมากที่สุดของโรงเรียน สนใจวิชาสังคมศึกษาเพราะสนุกกับความรู้รอบโลกมากมาย

จากเด็กควนกาหลง ช่วงมัธยมปลาย รศ.ดร.ณฐพงศ์ย้ายไปศึกษาต่อที่พัทลุง ซึ่งพ่อไปฝากกับเจ้าอาวาสวัดโคกคีรี ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อขอพักอาศัยในระหว่างศึกษาที่โรงเรียนพัทลุงจนสำเร็จมัธยมศึกษาปีที่ 6

“ตอนเป็นเด็กวัดเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ผมได้มีเวลาอ่านหนังสือมากมายในโรงธรรม นอกจากจะมีหนังสือธรรมะ ยังมีวรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่าผมอ่านหนังสือ ท่านก็เลยเรียกให้ผมไปอ่านหนังสือพิมพ์ให้ท่านฟังเกือบทุกวัน ต้องอ่านและสรุปประเด็นให้ฟัง ท่านจะคอยสอนว่าหนังสือพิมพ์มีพาดหัวหลัก พาดหัวรอง สรุปข่าว ผมได้ความรู้พวกนี้มาโดยไม่รู้ตัว นี่คือการปลูกฝังการอ่าน สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล

ปี 2531-2532 มศว. ภาคใต้กำลังจะขยายวิทยาเขตมาที่พัทลุง มีการเกณฑ์เด็กนักเรียนให้ไปยืนถือธง เพื่อจะบอกว่าคนพัทลุงต้องการมหาวิทยาลัย ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปยืนโบกธงอยู่หน้าโรงเรียน

ชีวิตก้าวย่างสู่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าร่วมชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (ศ.ป.ส.) ลงพื้นที่ไปทำค่ายชนบท ไปทั่วทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ รศ.ดร.ณฐพงศ์ เล่าว่าในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมก็เข้าร่วมกิจกรรมที่สัมพันธ์กับทางสังคมและการเมืองด้วย เช่น การรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2553 หรือการต่อสู้เรื่องโครงการจัดสรรที่ดินทำกินที่ภาคอีสาน ไปลงพื้นที่เขื่อนปากมูล กิน-นอนที่เขื่อนปากมูลอยู่แรมเดือน ทั้งปีมีกิจกรรมค่ายที่ไหนผมไปหมด ค่ายเล็ก-ค่ายใหญ่ก็ไป กิจกรรมน้อย-กิจกรรมใหญ่ก็ไปหมด หรือการเป็นกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้รับรู้ปัญหาของชาวบ้าน เรียนรู้การเมืองมิติเชิงโครงสร้าง การเรียนรู้นอกหลักสูตรทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนหลายมหาลัย

“ผมเรียนจบสามปีครึ่ง สิ่งนี้ทำให้ผมเชื่อในเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ ถ้าเราส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมมันจะทำให้คนเติบโตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัวด้วยซ้ำ ผมมีหนังสือเป็นเพื่อนเสมอ การอ่านวรรณกรรมทำให้เราเข้าใจมนุษย์ และเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง ผมอ่านได้ทุกประเภท ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยายไทย วรรณกรรมคลาสสิก จีน กำลังภายใน”

หลังเรียนจบปริญญาตี รศ.ดร.ณฐพงศ์ ก็เรียนต่อในระดับปริญญาโททันทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนสำเร็จการศึกษาได้ทำงานที่แรกในบทบาทอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่อยมา การทำงานที่สนุกและมีความสุขกับการสอน ลงพื้นที่ในชุมชน คลุกคลีกับชาวบ้าน นำไปสู่การรู้จักและทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมได้มากขึ้น ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

“มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คือ ความหลากหลาย ผมพยายามพูดถึงเรื่องความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่ง ถ้าเราเห็นเส้นขอบฟ้าเดียวกัน คุณจะเดินไปสู่เส้นทางนั้นในแบบไหน ภาษาไทยก็เดินในมุมภาษา พัฒนาชุมชนก็เดินในมิติของการสร้างนักพัฒนาสังคม แต่คุณต้องเห็นเส้นขอบฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะทำให้คนเห็นเส้นขอบฟ้าเดียวกันต้องอาศัยเวลา”

มหาวิทยาลัย นับเป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะและหล่อหลอมนิสิตนักศึกษา หลายคนได้มิตรภาพ น้ำตา ความเจ็บปวด การลองผิดลองถูก กล้าใช้ชีวิตในทางที่ตัวเองเลือก น่าคิดว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่แห่งการได้เรียนและรู้จริง ๆ ได้อย่างไร

เมื่ออยู่ในตำแหน่งบริหารเราสามารถทำในสิ่งที่คิดฝันได้มากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม สร้างเมล็ดพันธุ์คนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงหาวิธีการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กได้รู้จักคิด วิเคราะห์ เป็นพลเมืองไทย พลเมืองโลกได้อย่างมีคุณภาพ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียเวลานาน เพราะทุกวันนี้ช่องทางการเรียนรู้มีมากมาย และผมเชื่อว่า คนหนุ่มสาวยังเป็นความหวังได้เสมอ”

จากเด็กวัดสู่เก้าอี้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ในบทบาทผู้นำองค์กรการศึกษาที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ “ผมจะทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นส่วนหนึ่งและเป็นลมหายใจหนึ่งในสังคม ในความหมายที่ว่า ‘มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม’ หน้าที่ของเราคือสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป็นแสงสว่างให้กับสังคม เราต้องเอาเรื่องราวของสังคมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ไปสู่การรับรู้ของผู้คนที่ไกลออกไป ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล นั่นคือ ‘The University of Glocalization’ นี่คือสิ่งที่ผมวาดหวัง”

ใส่ความเห็น