วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > Food Delivery แข่งโปรจุกๆ อ่วมน้ำมันแพง ออเดอร์หด

Food Delivery แข่งโปรจุกๆ อ่วมน้ำมันแพง ออเดอร์หด

ธุรกิจ Food Delivery โดนพิษน้ำมันแพงเล่นงานอย่างหนักและมีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปีบวกกับวิกฤตกำลังซื้อถดถอยและต้นทุนวัตถุดิบอาหารแพงทั่วประเทศกลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทำให้กลุ่มแอปพลิเคชันต่างอัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นตลาดและเร่งแตกไลน์บริการชดเชยรายได้ที่หายไป

ขณะเดียวกันบรรดากูรูจับตากระแสข่าวที่เกิดขึ้นกับ 2 ยักษ์ใหญ่ ทั้งกรณีกลุ่มเซ็นทรัลเตรียมถอนหุ้นจาก “เจดี ดอทคอม” บิ๊กอีคอมเมิร์ซในจีนและเบอร์ 3 ของโลก และกรณีกลุ่มช้อปปี้ (Shopee) สั่งปลดพนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย โดยในประเทศไทยเป็นการปลดพนักงานในส่วน ShopeePay และ ShopeeFood ประมาณ 300 คน มีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แม้หลายฝ่ายยืนยันว่า ทั้งสองกรณีไม่ใช่ผลกระทบจากตลาดหดตัว แต่เป็นเรื่องความไม่ถนัดและแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะ ShopeeFood ยังไม่สามารถเจาะตลาดได้ตามเป้าหมาย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจสุ่มเสี่ยง เกิดวิกฤตพลังงานและวิกฤตอาหารรุนแรงขึ้น

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจและประเมินธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) กำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปหลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปใช้ชีวิตเกือบปกติอีกครั้ง ทั้งกลุ่มพนักงานและกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

ขณะเดียวกันผู้บริโภคต่างเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งมีผลต่อปริมาณการสั่งอาหารมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือไรเดอร์ (Rider) โดนผลกระทบ 3 เด้ง ทั้งแนวโน้มปริมาณการสั่งอาหารลดลง ราคาน้ำมันพุ่งสูง และจำนวนไรเดอร์ในระบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต้องยอมรับว่า ช่วงโควิดแพร่ระบาด 2 ปีที่ผ่านมา โรงงานและสถานประกอบการต้องเลิกจ้างพนักงานและลดชั่วโมงการทำงานเพื่อตัดต้นทุน ทำให้ “ไรเดอร์” กลายเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมของใครหลายคน

ดูจากข้อมูลของ LINE MAN Wongnai พบว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวนผู้สมัครเป็นไรเดอร์ในระบบเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.7 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2563 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด และจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พักหมุนเวียนในระบบพุ่งสูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2563-2565

ทว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 หรือไตรมาส 1 ถัดมา เม็ดเงินรายได้ของไรเดอร์เริ่มลดลงมาก โดยมีไรเดอร์มากถึง 94% ตอบว่า ออเดอร์เฉลี่ยต่อวันลดลงอย่างชัดเจน เหลือมากสุด 11-15 งานต่อคน รองลงมาเหลือ 5-10 งานต่อคน

ขณะที่วิกฤตน้ำมันแพงทำให้ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพื่อจัดส่งอาหารเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้น รายได้สุทธิลดลงและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่วนใหญ่ถึง 42% มีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น 50-70 บาทต่อวัน

แม้คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจ Food Delivery น่าจะขยายตัวได้ 1.7-5% จากปี 2564 หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7- 8 หมื่นล้านบาท แต่ทุกฝ่ายทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและไรเดอร์ต้องเปิดศึกแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้

แน่นอนว่า ออเดอร์ที่ลดลงมาจากปัญหากำลังซื้อ ท่ามกลางราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น โดย LINE MAN Wongnai ได้เปิดเผยรายงานดัชนีราคาอาหารจานเดียวทั่วประเทศไทย ปี 2563-2565 จากร้านอาหารกว่า 7 แสนร้านที่ขายดิลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม LINE MAN ทั้ง 77 จังหวัด พบว่า ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวในรอบปีแพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% เทียบเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 54.21 บาท กับเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 57.87บาท ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์

ที่สำคัญ เมนูไก่ราคาแพงขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 สอดคล้องกับกระแสข่าวราคาเนื้อไก่แพงขึ้นสูงสุดทุบสถิติในรอบ 20 ปี

ราคาเฉลี่ยเมนู “ข้าวผัดกะเพรา” อาหารยอดนิยมของคนไทยพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่จานละ 52.78 บาท ล่าสุดเพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท และราคาเฉลี่ยข้าวผัดกะเพราแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคกลางเฉลี่ยจานละ 60.63 บาท ภาคตะวันออก 62.24 บาท ภาคเหนือ 50.57 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57.30 บาท ภาคใต้ 56.79 บาท และภาคตะวันตก 50.08 บาท

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์พยายามงัดกลยุทธ์กระตุ้นกำลังซื้อและขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น การจัดส่งพัสดุ การสั่งซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเพิ่มโอกาสการรับงานของไรเดอร์ และอัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอย่างดุเดือด

โดยเฉพาะ LINE MAN อัดแคมเปญ “โค้ดคุ้มทรัพย์ ลด 6 ต่อ” ยาวๆ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยที่มีร้านค้ามากกว่า 500,000 ร้าน ประกอบด้วยการล่าโค้ดคุ้มทรัพย์ ส่วนลด 6 ต่อ ทุกช่วงเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนถึง 4 ทุ่ม ได้แก่ ส่วนลดจากร้านค้าพันธมิตรลดสูงสุด 60% ทั้งแบรนด์โปรด ร้านเวรี่ เวรี่กู๊ด ร้านเล็กมีโปรใกล้บ้าน

โปรโมชั่นโค้ดส่วนลดเพิ่ม 99% ทุกวัน มากถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงเวลาเที่ยงคืน, 09.00 น., 14.00 น. และ 18.00 น. ชนิดสั่งขั้นต่ำมากกว่า 100 บาท ลด 100 บาท และลดหลั่นลงมา เช่น สั่งขั้นต่ำ 150 บาท ลด 50 บาท

โปรส่งฟรี แบบไม่ต้องใส่โค้ด โปรยิ่งซื้อเยอะ สั่งเยอะ ยิ่งลดเพิ่ม ลดสูงสุด 100 บาท พร้อมโค้ดส่วนลดเพิ่มเติมจากร้านค้าสูงสุด 50%

โปรส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อครบ 150 บาท รับโค้ดส่วนลด 80% ใช้สั่งออเดอร์ครั้งต่อไป และจัดเกมล่าคุ้มทรัพย์ เมื่อซื้อครบ 150 บาทแจกเหรียญใช้ผู้บริโภคเล่นเกมล่าโค้ดส่วนลด หรือแจกเมนูอาหารพิเศษจากร้านอาหารแบรนด์ดัง เช่น เท็กซัสชิคเก้น เคเอฟซี

นอกจากนี้ LINE MAN ยังเร่งขยายสาขา LINE MAN Kitchen ready to go ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น บริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ได้แก่ สาขากาญจนาภิเษก-ตลิ่งชัน และมีนบุรี หลังเปิดตัวในปั๊มสาขาเกษตรนวมินทร์ และสาขาพัฒนาการขาออกเมื่อปี 2564 เพื่อเจาะฐานผู้ใช้บริการย่านชานเมืองรอบนอกกรุงเทพฯ ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมาก โดยมีร้านอาหารหลากหลาย เช่น Café amazon, Texas Chicken, หมูหม้อเทพ, ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ by อ. มัลลิกา, Ramen Ozawa และ ดิ เอ็มไพร์ ราดหน้า ข้าวมันไก่ ผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยวคั่ว

ด้าน foodpanda ใช้โอกาสฉลองครบรอบ 10 ปี อัดแคมเปญพิเศษ #วันอังคาร วันfoodpanda (foodpanda Tuesday) ทุกวันอังคาร ทั้งโค้ด DELI90 สั่งอาหาร ของกิน ของใช้ ส่งฟรีทั้งวัน และเพิ่มส่วนลดสูงสุด 50% จากร้านที่ร่วมรายการทุกวันอังคาร

สำหรับแพลตฟอร์ม Robinhood ผู้ให้บริการฟูดดีลิเวอรีสัญชาติไทย ซึ่งประกาศช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ด้วยการไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม แม้จำเป็นต้องขึ้นค่าส่งเริ่มต้นจาก 10 บาท เป็น 20 บาท แต่ยังคงอัดส่วนลดเป็นระยะๆ เช่น สั่งครบ 200 บาท ให้ส่วนลด 40-50 บาท และอัดส่วนลดเฉพาะตลาดใหม่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ รองรับการขยายบริการ Robinhood travel แพลตฟอร์มจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน จองทัวร์ท่องเที่ยว เช่ารถ ประกันภัยการเดินทาง รองรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมขนาดเล็กและกลาง เพื่อพัฒนา Robinhood เป็น Super App สัญชาติไทยรายแรกรุกตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันฟู้ดเดลิเวอรี Robinhood เปิดบริการกว่า 1 ปี จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน มียอดลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน และไรเดอร์กว่า 26,000 คน

ส่วน ShopeeFood แม้มีข่าวร้ายเรื่องปลดพนักงาน แต่ยังเดินหน้าอัดโปรส่วนลดต่อเนื่อง ตั้งแต่ 10-50% โค้ดส่งฟรีและโค้ดส่วนลดร่วมกับเครื่องดื่มโค้ก

ดังนั้น หากราคาน้ำมันและกำลังซื้อยังไม่พ้นวิกฤต สงครามฟูดดีลิเวอรีไม่มีวันลดความร้อนแรงแถมมีสิทธิ์ยิงยาวถึงปีหน้าแน่.

ใส่ความเห็น