วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “นักสืบของอดีต” จากการวิจัยสู่บอร์ดเกม ย่อยงานวิชาการพร้อมเติมความสนุก

“นักสืบของอดีต” จากการวิจัยสู่บอร์ดเกม ย่อยงานวิชาการพร้อมเติมความสนุก

ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์เป็นประเด็นสำคัญที่ควรทำความเข้าใจและไม่ควรถูกละเลย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวจะเน้นหนักไปทางวิชาการที่เข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก จนกลายเป็นถูกละเลยไปในที่สุด จะดีแค่ไหนถ้างานวิชาการที่ดูเหมือนเข้าใจยาก ถูกย่อยให้เข้าใจง่าย พร้อมเติมความสนุกในรูปแบบของ “บอร์ดเกม” ที่กำลังเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน

บอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” เป็นการต่อยอดจากโครงการวิจัย “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีศุภร ชูทรงเดช และวริศ โดมทอง เป็นผู้ออกแบบและพัฒนา เพื่อนำอดีตมาสร้างเป็นอนาคต และกระจายองค์ความรู้เข้าไปถึงคนทุกระดับโดยเฉพาะเยาวชน

โดยบอร์ดเกมชุดนักสืบของอดีตนั้นจะนำเอาความรู้ทางวิชาการที่ได้จากการวิจัยดังกล่าวทั้งทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ มาจำแนก แยก ย่อย พร้อมนำเสนอใหม่ในรูปแบบของบอร์ดเกมที่เข้าถึงได้ง่าย น่าสนใจ และสนุก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมากขึ้น

“บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสื่อสารงานวิจัยที่ซับซ้อน นำไปสู่การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย ผ่านประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัยและกลไกของเกมกระดาน และเป็นนวัตกรรมขนาดพกพาที่เสริมสร้างพฤติกรรมด้านการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิด ลดช่องว่างระหว่างวัย และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นในทุกระดับบนพื้นฐานของการเล่นแบบเผชิญหน้า ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่จับต้องได้เป็นสื่อกลาง ซึ่งประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้เล่นที่มาจากต่างถิ่นฐาน ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม เกิดความเข้าใจ จดจำข้อมูล และความรู้สึกร่วมกันได้” ทัศนะจากศุภร ชูทรงเดช ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาบอร์ดเกมนักสืบของอดีต

สำหรับบอร์ดเกมชุดนักสืบของอดีต แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1. มานุษยวิทยา 2. ประวัติศาสตร์และโบราณคดี 3. การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม

บอร์ดเกมชุดที่ 1: นักสืบชาติพันธุ์ (Ethnic Detective)
ประเทศไทยประกอบด้วยชนหลายชาติพันธุ์ ที่มีทั้งความเชื่อ การดำเนินชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่การขาดการสื่อสารซึ่งกันและกันในเรื่องของชาติพันธุ์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมดังที่เป็นมา ได้นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำเรื่องของความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์ บอร์ดเกมนักสืบชาติพันธุ์จึงสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม และยอมรับในความต่างกันมากขึ้น

“ท่ามกลางสายหมอกแห่งพื้นป่าเหนือ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คุณคือหนึ่งในคณะสำรวจทางโบราณคดีออกสำรวจค้นหาความจริง เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่สูง มรดกทางวัฒนธรรมที่ก่อนจะสูญหายไป ระหว่างทางการสำรวจ คุณได้เผชิญหน้ากับกลุ่มหมอกและเงาประหลาด ทันใดนั้น! ร่างกายของคุณได้ถูกกลืนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนปริศนา การรอดพ้นจากคำสาปนี้มีเพียงวิธีเดียวคือการค้นหาตัวตนในหมู่พวกคุณ จำเอาไว้! ผู้รอดกลับไปมีเพียงผู้ชนะเท่านั้น” ประโยคข้างต้นคือคำโปรยของบอร์ดเกมชุดนักสืบชาติพันธุ์ที่เชื้อเชิญให้เราเปิดกล่องเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกของบอร์ดเกมชุดนี้

โดยรูปแบบการเล่นจะใช้วิธีการซ่อนตัวตนของตนเอง (Hidden role) ที่เน้นการสืบสวนและทายผล เพื่อตอบโจทย์การสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้กับผู้เล่นได้รับรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดี

บอร์ดเกมชุดที่ 2 : ปริศนาโลงไม้ (Mystery of [Wooden] Coffin)
สำหรับบอร์ดเกมปริศนาโลงไม้เป็นชุดเกมใหญ่และซับซ้อนที่สุด มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมโลงไม้ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอำเภอปางมะผ้า การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ปริศนาโลงไม้เป็นเกมการควบคุมพื้นที่ (Area Control) โดยให้ผู้เล่นแต่ละคนจำลองบทบาทตนเองเป็นหนึ่งในสมาชิกของคนในวัฒนธรรมโลงไม้ แต่ละตาผู้เล่นต้องพยายามทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเก็บของอุทิศที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมโลงไม้ และสำรวจเพื่อหาทำเลที่ “ใกล้กับสวรรค์มากที่สุด” สำหรับเป็นที่ฝังศพให้กับผู้ตาย พร้อมทั้งหาของกินในแต่ละวัน เพื่อให้ชีวิตของตนเองอยู่รอด

ความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ การบริหารพื้นที่ในการทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ผู้เล่นคนใดก็ตามที่สามารถสร้างโลงไม้ได้ครบทั้งหมด 3 โลง ผ่านการสร้างวัฒนธรรมโลงไม้ในแต่ละแหล่งจะเป็นผู้ชนะ

ซึ่งผู้จัดทำเห็นว่าแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้ส่วนใหญ่ถูกทำลายและรบกวนทั้งจากมนุษย์ สัตว์ และตามธรรมชาติ การสร้างภาพของวัฒนธรรมโลงไม้ในอดีตบางแง่มุมก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงปัจจุบัน การทำบอร์ดเกมชุดปริศนาโลงไม้ขึ้นมาจึงเป็นดั่งเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ของวัฒนธรรมโลงไม้ ให้เยาวชนและผู้ที่สนใจเข้าใจในวัฒนธรรมโบราณมากขึ้น และนำไปสู่ความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์มากขึ้นตามไปด้วย

บอร์ดเกมชุดที่ 3 : นักสืบของอดีต (Detective of the Past)
ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะในการสืบค้นเรื่องราวของคน สังคม และวัฒนธรรมในอดีต ด้วยกระบวนการทางโบราณคดี โดยมุ่งให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา พร้อมกับให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นในทุกระดับวัย

เกมนักสืบของอดีตเป็นเกมจำลองสถานการณ์ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักโบราณคดี ต้องทำการสร้างภาพในอดีตออกมาให้ได้ จากการศึกษาและค้นคว้าต่าง ๆ ผ่านการขุดค้นให้ทันระยะเวลา (5 รอบ) นักโบราณคดีคนใดที่สามารถสร้างคะแนนได้มากที่สุด ทั้งจากการสร้างภาพในอดีต การเก็บแต้มภารกิจหรือการเก็บโบราณวัตถุไว้ช่วงสุดท้าย คนนั้นจะเป็นผู้ชนะของเกมนี้

ซึ่งบอร์ดเกมทั้ง 3 ชุด สามารถสร้างมิติทางการเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้เกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน รวมถึงมิติทางด้านการท่องเที่ยวแบบพกพา เพื่อสร้างประสบการณ์ก่อนการท่องเที่ยวให้เข้าใจบริบทของพื้นที่จริงมากขึ้นได้ และเป็นดั่งสื่อการเรียนการสอนที่ได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปในตัว

ปัจจุบันบอร์ดเกมดังกล่าวยังอยู่ในรูปแบบของเกมต้นฉบับ ยังไม่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตจำนวนมากได้ ซึ่งในอนาคตถ้าได้รับการตอบรับและต่อยอดจากผู้ที่สนใจนำตัวเกมไปผลิตในจำนวนมากได้ ก็จะเป็นการกระจายความรู้ไปสู่เยาวชนในวงกว้าง และสร้างความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ให้กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน.

ใส่ความเห็น