วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ถ้ำผีแมนโลงลงรัก-แหล่งโบราณคดีปางมะผ้า ขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์แห่งแม่ฮ่องสอน

ถ้ำผีแมนโลงลงรัก-แหล่งโบราณคดีปางมะผ้า ขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์แห่งแม่ฮ่องสอน

เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่ทีมนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา นำโดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ร่วมกันขุดค้นแหล่งโบราณคดีตามถ้ำและเพิงผาต่างๆ ที่กระจายอยู่ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนค้นพบหลักฐานสำคัญที่เป็นดั่งขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ของแม่ฮ่องสอน

“แม่ฮ่องสอน” เป็นจังหวัดเล็กๆ ทางชายแดนด้านตะวันตกของภาคเหนือที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำเกือบที่สุดของประเทศ และถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยาก การสัญจรไปมาลำบาก ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่าแม่ฮ่องสอนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่เน้นให้การศึกษามีลักษณะของการสืบค้นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อเป็นฐานความรู้ในการพึ่งตนเอง และเพื่อสร้างอำนาจให้กับท้องถิ่นทั้งในเรื่องการจัดการทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐ ทำให้ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้เกิดโครงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ขึ้นอย่างมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีมากกว่า 200 ชิ้น ซึ่งผลงานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความรุ่มรวยทั้งมรดกทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับจังหวัดได้

“โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” งานวิจัยเชิงพื้นที่ระยะยาวที่บูรณาการศาสตร์ของโบราณคดี มานุษยวิทยา สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน อันมี ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และเมธีวิจัยอาวุโส ของ สกสว. เป็นผู้นำทีมคือหนึ่งในงานวิจัยที่สะท้อนเอกลักษณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

 

เพิงผาและโถงถ้ำที่ฝังตัวอยู่ในภูเขาสลับซับซ้อนของอำเภอปางมะผ้า คือพื้นที่ทางโบราณคดีที่อัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่ค่อยๆ ถูกค้นพบและถ่ายทอดออกมาผ่านการศึกษาวิจัยของ ศ.ดร.รัศมี และทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลารวมถึงสองทศวรรษด้วยกัน ซึ่งบางแห่งสามารถเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในขณะที่บางแห่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยที่จะกลายเป็นคลังแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ต่อไปในอนาคต

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดกับการค้นพบครั้งสำคัญ

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถํ้าลอดตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด มีลักษณะเป็นชะโงกผาซุ้ม ใต้เพิงผามีที่ราบแคบกว้างราว 4-5 เมตร ยาว 30 เมตร และลาดเอียงสู่ที่ราบด้านล่าง จากการขุดค้นพบว่ามีเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุกว่า 35,000 ปี และมีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 5 ชั้นวัฒนธรรมใหญ่ๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มจากไพลสโตซีนตอนปลาย-โฮโลซีนตอนต้น-โฮโลซีนตอนกลาง-โฮโลซีนตอนปลาย จนถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยล้านนา และมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือหินกะเทาะอายุระหว่าง 26,580-10,210 ปี ตลอดจนกระดูกสัตว์จำนวนมาก และที่สำคัญคือการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่มีอายุเก่าแก่ถึง 13,640 ปี

โดยโครงกระดูกโบราณดังกล่าวเป็นโครงกระดูกเพศหญิง อายุประมาณ 25-35 ปี สภาพกระดูกไม่สมบูรณ์แต่พบชิ้นส่วนกระดูกครบเกือบทุกชิ้น และได้มีการนำมาทดลองขึ้นรูปหน้าของผู้หญิงโบราณโดย Dr.Susan Hayes ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้าคนโบราณแห่งมหาวิทยาลัยวุลลองกอง (University of Wollongong) ประเทศออสเตรเลีย นั่นทำให้ภาพของมนุษย์โบราณถูกฉายชัดขึ้นในการรับรู้ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ในนามของ “เลดี้แห่งถ้ำลอด”

ศ.ดร.รัศมี กล่าวว่า การเปิดเผยใบหน้าจากกะโหลกมนุษย์โบราณได้สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลกเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นใบหน้ามนุษย์ยุคปลายสุดของยุคน้ำแข็ง และทำให้เห็นถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณออกจากทวีปแอฟริกา นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าคนโบราณในสมัยนั้นมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างดี มีการทำเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการดำรงชีพ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือจากกระดูกสัตว์และเปลือกหอย ซึ่งนับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ

“ถ้ำผีแมนโลงลงรัก” แหล่งโบราณคดีและวัฒนธรรมโลงไม้อายุกว่าสองพันปี

ถ้ำผีแมนโลงลงรักซ่อนตัวอยู่บนยอดเขาสูงกว่า 700 เมตร ในอำเภอปางมะผ้า ถูกค้นพบราวๆ ปี 2553 ก่อนที่จะมีการขุดค้นอย่างจริงจังโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี 2556-2559 และเป็นหนึ่งในถ้ำผีแมนที่สำรวจแล้วหลายสิบแห่ง

วัฒนธรรมโลงไม้เป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีอายุประมาณ 2,300-2,100 ปีมาแล้ว แต่สำหรับถ้ำผีแมนโลงลงรักมีอายุอยู่ที่ 2,000-1,600 ปี ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่เต็มไปด้วยร่องรอยของมนุษย์โบราณบนพื้นที่สูงและหลักฐานทางโบราณคดีที่หลากหลายประเภทมากที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมโลงไม้มา อันได้แก่ กระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ลูกปัด เครื่องมือทอผ้า ผ้า เครื่องจักสาน เครื่องประดับจากโลหะ เครื่องมือโลหะ หอยเบี้ย กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช และที่สำคัญยังพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์บรรจุอยู่ในโลงไม้ที่ปิดฝาสนิทเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่าโลงไม้มีไว้สำหรับการปลงศพ

ภายในถ้ำพบโครงกระดูกมนุษย์มากถึง 154 คน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 คูหาใหญ่ๆ ได้แก่

“คูหา A” เป็นโถงกว้างอับแสงอยู่ลึกเข้าไปในถ้ำและมีทางเข้าที่ค่อนข้างแคบ ถือเป็นพื้นที่หลักที่พบโลงไม้และกระดูกมนุษย์มากที่สุดคือ 116 คน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 67 คน และเด็ก 49 คน พบโลงไม้จำนวน 39 ฝา หรือ 20 โลง บางโลงมีกระดูกรวมกันถึง 18 คน

ในขณะที่ “คูหา B” เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กลางถ้ำ พบกลุ่มโลงไม้ 3 กลุ่ม ทั้งหมด 18 ฝา (ประมาณ 9 โลง) และ “คูหา C” เป็นพื้นที่ต่อกับทางขึ้นสู่ปากถ้ำมีแสงเข้าถึงและอากาศถ่ายเท พบชิ้นส่วนไม้ กระดูกและฟันมนุษย์ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก

สิ่งที่ค้นพบได้จากถ้ำผีแมนโลงลงรักบอกอะไรกับเราบ้าง?

ถ้าผีแมนโลงลงรักเป็นสุสานของคนในช่วงสมัย 2,000-1,600 กว่าปีมาแล้ว และได้สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับการฝังศพในวัฒนธรรมโลงไม้ว่ามีการฝังศพครั้งที่ 1 ฝังทั้งร่าง และการฝังศพครั้งที่ 2 คือนำกระดูกมาฝังใหม่ จึงเป็นลักษณะเหมือนเป็นโกศประจำตระกูล

การเลือกถ้ำและลักษณะของการจัดวางโลงไม้บ่งบอกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสถานที่สำหรับทำเป็นสุสานในลักษณะเหมือนการเลือกฮวงจุ้ย มีแบบแผนของการฝังศพและลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายกลุ่มไป่เยว่และกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบัน อีกทั้งผลจากการกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ทำให้พบว่ามีการใช้ถ้ำเป็นสุสานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 424 ปี ส่วนข้าวของเครื่องใหญ่ที่พบบริเวณสุสานเป็นของที่ใช้งานจริงและมีลักษณะใช้เป็นของเซ่นอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังพบภูมิปัญญาดั้งเดิมในการใช้ทรัพยากรจากป่าไม้ เพราะมีการทำโลงจากไม้สัก ซึ่งเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง และนั่นยังแสดงให้เห็นว่าในอดีตเมื่อ 2 พันปีที่แล้ว บริเวณปางมะผ้าเป็นป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีการใช้ “รัก” ในการเคลือบโลงไม้และภาชนะไม้จนเป็นที่มาของโลงลงรัก และยังพบการทอผ้าจากใยต้นกัญชง ซึ่งเป็นภูมิปัญญางานฝีมือที่มีการใช้อย่างสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น จากการนำหลักฐานที่ได้ไปตรวจดีเอ็นเอทำให้พบว่าโครงกระดูกที่พบในถ้ำมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติและเป็นดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่พูดตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกและไท-กะได อีกด้วย นั่นทำให้บอกได้ว่าดินแดนแถบนี้เมื่อสองพันปีก่อน มีชาติพันธุ์ที่หลากหลายอาศัยอยู่ และเป็นเส้นทางสำคัญของการเคลื่อนย้ายของประชากรโบราณหลายระลอก ปัจจุบันถ้ำผีแมนโลงลงรักยังคงเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาวิจัยและยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนับว่าการดำเนินการขุดค้นและวิจัยก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยล่าสุดยังได้รับทุนสนับสนุนการอนุรักษ์จากกองทุนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation) เป็นเงินจำนวน 220,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการดำเนินการบูรณะโลงไม้เก่าแก่และโบราณวัตถุอื่นๆ ออกแบบทางเดินภายในถ้ำ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ไม้กับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในอนาคตเราน่าจะได้เห็นความก้าวหน้าอีกหนึ่งขั้นจากงานวิจัยชิ้นนี้

แน่นอนว่าการศึกษาวิจัยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาถือเป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ที่สำคัญ ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจอดีตได้มากขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่าแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน แต่โจทย์ต่อไปของทีมนักวิจัยคือจะใช้ชุดความรู้ที่ได้เชื่อมโยงกับปัจจุบันและสร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ต่อไปได้อย่างไร

โดยแผนที่ทีมวิจัยได้วางไว้ในการต่อยอดงานวิจัยและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น คือ การสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่ครบถ้วนทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิทยาศาสตร์, สร้างบอร์ดเกมเพื่อกระจายความรู้และสร้างความเข้าใจในงานวิชาการ, พัฒนาความรู้เพื่อบรรจุเป็นหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสำหรับโรงเรียนในพื้นที่, นำองค์ความรู้ทางโบราณคดีไปใช้ในการฟื้นฟูหรือพัฒนางานช่างฝีมือเชื่อมโยงกับสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น, จัดระเบียบทางกายภาพและสแกนถ้ำเพื่ออนุรักษ์และเก็บเป็นฐานข้อมูล รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว, วางแผนจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในวัฒนธรรม และที่สำคัญมีแผนในการใช้เทคโนโลยีทั้งการทำ AR, VR และคลาวด์มาใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์สู่วงกว้าง

โดยหวังว่านอกจากจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแล้ว สิ่งที่นักวิจัยค้นพบจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนได้อีกด้วย.

ใส่ความเห็น