วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > เปิดมุมมองใหม่กับนวัตกรรมการรักษาโควิด-19

เปิดมุมมองใหม่กับนวัตกรรมการรักษาโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่กับเรามากว่า 2 ปี และกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน ทำให้หลายๆ ฝ่ายทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และองค์กรต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งแนวทางการรักษาและมุมมองโควิด-19 ต่อการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่

ที่ผ่านมามีการจัดประชุมและเสวนาในเวทีต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานเสวนาล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในหัวข้อ “เปิดมุมมองใหม่กับนวัตกรรมการรักษาโควิด-19” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเชิงลึกตลอดจนภาพรวมของการรับมือกับโควิด-19

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นเวลากว่า 2 ปี เปิดเผยว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คือการต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้แม้เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำได้มาก่อน รวมทั้งต้องหาข้อมูลใหม่ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ให้ได้อย่างทันท่วงที

“วัคซีน” และ “ยา” เพื่อป้องกันและรักษาคืออาวุธที่สำคัญ

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เน้นย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือ “การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส” เพราะภายในระยะเวลา 2 ปี โลกต้องต้องเผชิญหน้ากับไวรัสที่กลายพันธุ์ไปถึง 5 สายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา เดลตา จนมาถึงโอมิครอน เพราะฉะนั้นการมีวัคซีนเพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัสจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งการมีวัคซีนที่เพียงพอและประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose) ได้สะดวก รวมถึงการมีตัวเลือกของยารักษาโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากยาที่คนไทยคุ้นเคยอย่างฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ที่เป็นยารับประทานและเรมดิซิเวียร์ (remdesivir) ที่เป็นยาฉีด

โดยสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าปริมาณวัคซีนสำหรับคนไทยมีเพียงพอ แต่ยังคงมีคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ และยังคงมีกลุ่มที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ในส่วนของยารักษาโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าของการรักษายังคงสามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามปกติ แต่ในต่างจังหวัดยังคงมีความเป็นไปได้ที่อาจมีภาวะขาดแคลนยาเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีตัวเลือกยารักษาโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น

แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุด

ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19 ได้ประกาศเกณฑ์การจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 โดยแบ่งตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี สามารถรักษาตัวเองที่บ้านโดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสและแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรตามความเหมาะสม

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และมีภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 และแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ โดยให้เริ่มยาเร็วที่สุด

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาตัวเองที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งแนวทางการรักษาใหม่ล่าสุด แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด จากยา 4 ชนิด ได้แก่ 1. เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (nirmatrelvir/ritonavir) 2. โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) 3. เรมดิซิเวียร์ และ 4. ฟาวิพิราเวียร์ โดยพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์

กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ หรือมีภาวะออกซิเจนลดลงต่ำกว่า 94% สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาฉีด ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีอาการไม่หนักมาก หรือมีค่าออกซิเจนอยู่ในช่วง 94%–96% แพทย์อาจพิจารณาให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้เช่นกัน

นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันยารักษาโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลำดับการรักษา ได้แก่

กลุ่มแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือ monoclonal antibody ยากลุ่มนี้จะทำงานโดยการจับกับโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะและเข้าสู่เซลล์ในร่างกายหรือออกฤทธิ์โดยการจับเพื่อทำลายไวรัส ซึ่งเป็นยาฉีดทั้งหมด เช่น โซโทรวิแมบ (sotrovimab)

กลุ่มยาต้านไวรัส ทำงานโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส สำหรับยาต้านไวรัสที่ประเทศไทยมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์และเรมดิซิเวียร์ รวมทั้งอีก 2 ตัวที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ โมลนูพิราเวียร์แลเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งตัวที่คาดว่าน่าจะเข้ามาให้ได้ใช้ก่อน คือ โมลนูพิราเวียร์

กลุ่มยาลดการอักเสบ ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอด ตัวอย่างเช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone)

เริ่มรับประทานยาเมื่อไหร่?

นพ.วีรวัฒน์ยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องระยะเวลาในการเริ่มรับประทานยามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้ป่วยควรได้รับยาต้านไวรัสหรือยากลุ่มแอนติบอดีสำเร็จรูปหลังจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษา ดังนั้นการมาพบแพทย์เร็วเพื่อรับการวินิจฉัยและรับยาทันทีจึงมีความสำคัญมาก

ทั้งนี้ยาแต่ละตัวมีบทบาทที่แตกต่างกัน สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ป่วยทั้งสีเหลือง และผู้ป่วยสีแดงที่อาการไม่หนักมาก เพราะไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้ร่วมกัน (drug-drug interaction) ในการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับยาตัวอื่น ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการจ่ายยาให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์ยังสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

มุมมองต่อโควิด-19 ในอนาคตเพื่อการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่

ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่าการป้องกันตัวเองที่เราทำกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ถ้าใช้คำว่าโรคประจำถิ่น แปลว่าสามารถอยู่กับมันได้โดยไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ประเด็นในเรื่องการอยู่อย่าง new normal คือ ต้องมีอาวุธที่พร้อมต่อสู้กับโรคโควิด-19 ไปเรื่อย ๆ อย่างแรก คือ “วัคซีน” ในอนาคตเราอาจมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมวัคซีนที่ดีขึ้น เช่น เราอาจจะสามารถฉีดวัคซีนแค่ปีละครั้งหรือมีวัคซีนที่รวมเข็มกับไข้หวัดใหญ่

อีกประเด็นคือ “ยา” ถ้ามียาที่พร้อมและสามารถเป็นเครื่องมือในการรักษาได้ดี ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นก็จะเป็นอาวุธให้เราสามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ต่อไป และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้

ซึ่งเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น มีรายละเอียดดังนี้
1. ยอดผู้ติดเชื้อต้องน้อยกว่าวันละ 10,000 คน
2. อัตราของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้องน้อยกว่าร้อยละ 10 และอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 0.1
3. ต้องเป็นโรคที่มีการคาดการณ์ได้

นพ.วีรวัฒน์ทิ้งท้ายว่า เราคงต้องเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเองเพื่อให้อยู่กับโควิด-19 ได้แบบปกติ ต้องรู้จักวิธีการรักษาตัวเอง ทั้ง self-test, self-monitor และ self-treatment ดังนั้น การประเมินตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้ามีอาการของระบบทางเดินหายใจผิดปกติร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย อาจจะต้องตั้งข้อสงสัย และมีการตรวจสอบด้วยตัวเองในเบื้องต้นด้วยชุดตรวจโควิดแบบ home use ก่อน และถ้าพบว่าติดเชื้อให้ติดต่อกับบุคลากรทางการแพทย์หรือสายด่วน 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา โดยจะมีการประเมินอาการว่าให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านหรือเข้าโรงพยาบาลตามความเหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นระยะที่จะไปสู่จุดที่ดูแลตัวเองมากขึ้นและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยยั่งยืนต่อไปได้.

ใส่ความเห็น