วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > New&Trend > นั่งร้านถล่ม กับสาเหตุเชิงวิศวกรรม

นั่งร้านถล่ม กับสาเหตุเชิงวิศวกรรม

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์นั่งร้านก่อสร้างโครงการ “วัน แบงค็อก” ถล่มเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 รายนั้น เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง และสร้างความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เข่น ตึกถล่มขณะกำลังก่อสร้างอาคาร 6 ชั้นที่ซอยรังสิตคลอง 6 เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 และนั่งร้านก่อสร้างโรงฝึกกีฬา วิทยาลัยพลศึกษาที่จังหวัดกระบี่ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 5 คน เป็นสตรีทั้งหมด เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559

ในเชิงวิศวกรรม สาเหตุหลักของการวิบัติของนั่งร้านเหล็กอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

1. คํ้ายันไม่เพียงพอระหว่างการก่อสร้าง ไม่สามารถรับน้ำหนักคอนกรีตระหว่างก่อสร้างได้

2. การประกอบคํ้ายันไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง เช่น ขาดชิ้นส่วนค้ำยันทแยง ทำให้โครงสร้างไม่มีเสถียรภาพ

3. คํ้ายันชะลูดเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเทคอนกรีตในที่สูง ทำให้ค้ำยันมีความสูงมากจนเกิดการโค้งงอและโก่งเดาะ (Buckling) ขึ้น

4. ประเภทของค้ำยันไม่เหมาะสมต่อการใช้งานหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต

5. ฐานรองรับค้ำยันไม่แข็งแรง

6. จุดยึดระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ของค้ำยันไม่แข็งแรงพอหรือยึดไม่ครบ

ส่วนสาเหตุที่แท้จริงสำหรับกรณีโครงการ “วัน แบงค็อก” ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะต้องรอผู้เขี่ยวชาญเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง จึงจะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ ในด้านกฎหมายวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง การก่อสร้างนั่งร้านหรือค้ำยันชั่วคราวที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตร จัดว่าเป็นวิศวกรรมควบคุมในสาขาวิศวกรรมโยธา เนื่องจากเกี่ยวข้องความปลอดภัยโดยตรง จึงจำเป็นต้องมีวิศวกรที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการคำนวณออกแบบนั่งร้าน และควบคุมงานก่อสร้างอีกด้วย ดั้งนั้นวิศวกรที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องถูกดำเนินการทางจรรยาบรรณ และหากพบว่ากระทำผิดหลักวิศวกรรมก็อาจจะถูกลงโทษทางจรรยาบรรณ ซึ่งโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาต

ใส่ความเห็น