วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กรีเทลรุมเจาะโชวห่วย เร่งสปีดเครือข่ายก้าวกระโดด

บิ๊กรีเทลรุมเจาะโชวห่วย เร่งสปีดเครือข่ายก้าวกระโดด

“โชวห่วย” กลับมาเป็นเซกเมนต์ฮอตฮิตรับวิถีชีวิต New Normal แทนไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์เซ็นเตอร์ ชนิดที่บรรดาบิ๊กรีเทลต่างแข่งกลยุทธ์เร่งสปีดสร้างเครือข่ายแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะค่ายบิ๊กซีซุ่มเงียบลุยโปรเจกต์ใหม่ “ร้านโดนใจ” ดึงเจ้าของกิจการเข้าร่วมโครงการนับร้อยแห่งและมีคนจองคิวเพิ่มต่อเนื่อง

อาศัยจุดขายโดนใจ คือ ใช้เงินลงทุนพลิกโฉมเริ่มต้นเพียง 3 แสนบาท ไม่ต้องหักแบ่งรายได้และยังเป็นเจ้าของกิจการ 100%

แน่นอนว่า โมเดลนี้ถูกกว่าการทุ่มเงินซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหลักล้านบาท เนื่องจากเป็นการปรับโฉมจากร้านค้าเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีเงินค่าหลักประกัน ซึ่งจะจ่ายคืนภายหลัง หรือในกรณีเปิดร้านใหม่ ผู้ค้าลงทุนโครงสร้างร้านและให้ทีมงานโดนใจเข้าตกแต่งภายในพร้อมวางระบบทั้งหมดได้เช่นกัน

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ร้านโดนใจ Donjai ระบุแนวคิดสำคัญ คือ พัฒนาโชห่วย พัฒนาชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ใส่ใจใกล้บ้านคุณ โดยกำหนดรูปแบบร้าน 3 ขนาด เริ่มจากไซส์ S พื้นที่ขายประมาณ 40 ตารางเมตร จำนวนสินค้าประมาณ 1,000 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 27 ล็อก และตู้แช่เย็น 2 ตู้

ไซส์ M พื้นที่ขาย 40-80 ตารางเมตร จำนวนสินค้า 2,000 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 55 ล็อก ตู้แช่เย็น 2 ตู้ และตู้แช่แข็ง 1 ตู้

ไซส์ L พื้นที่ขายมากกว่า 80 ตารางเมตร จำนวนสินค้า 2,400 รายการ พื้นที่วางสินค้าสูงสุด 55 ล็อก ตู้แช่เย็น 2 ตู้ และตู้แช่แข็ง 1 ตู้

ทั้งนี้ ทีมงานโดนใจจะสำรวจทำเล กลุ่มเป้าหมาย สินค้าในร้าน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และศักยภาพ หากผ่านคุณสมบัติจะประสานแหล่งเงินทุน ทำหลักประกันอุปกรณ์ต่างๆ รวมค่าตกแต่งและวางระบบตามขนาดพื้นที่ 3-7 แสนบาท

จากนั้นปรับตกแต่งร้านและฝึกอบรมระบบบริหารร้านให้ผู้ค้า โดยเฉพาะระบบ POS โปรเเกรมที่จะทำให้เจ้าของกิจการบริหารร้านค้าอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทั้งการคิดเงินเเบบอัตโนมัติ จัดการสต็อกสินค้า วิเคราะห์สินค้าที่ขายดีเเละไม่ดี เพื่อจัดโปรโมชั่นให้โดนใจลูกค้า

ส่วนชื่อร้านนั้น บริษัทเปิดโอกาสให้เจ้าของกิจการติดตั้งชื่อร้านเดิมพร้อมแบรนด์ “โดนใจ” หรือติดตั้งเฉพาะชื่อร้านได้ แต่ต้องใช้โทนสีส้มเหมือนกับร้านต้นแบบ

สำหรับทำเลของร้านโดนใจเน้นพื้นที่ย่านชุมชนและในหมู่บ้าน ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในหมู่บ้าน ซึ่งอยากพัฒนารูปแบบและระบบบริหารให้ทันสมัย สร้างสีสันร้านดึงดูดลูกค้ามากขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าของร้านสั่งซื้อสินค้าผ่านห้างบิ๊กซีและกำหนดเพดานยอดขายขั้นต่ำ เช่น ไซส์ S กำหนดยอดขาย 10,000 บาทต่อวัน

กลยุทธ์ดังกล่าว ด้านหนึ่ง บิ๊กซีสามารถช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจโชวห่วย เพื่อเติบโตไปด้วยกัน อีกด้านหนึ่งเป็นการขยายเครือข่ายมินิสโตร์เจาะกลุ่มชุมชนและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะแม้โมเดิร์นเทรดรุกตลาดค้าปลีกประเทศไทยมานานและขยายฐานทั่วประเทศ แต่สัดส่วนยอดขายของร้านโชวห่วยในเมืองไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด 45% เปรียบเทียบกับร้านสะดวกซื้อที่ 31% และไฮเปอร์มาร์เก็ต 24%

ที่สำคัญ สถานการณ์โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนหันมาจับจ่ายสินค้าในร้านใกล้บ้านจนกลายเป็นความคุ้นชิน บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ และ ม33เรารักกัน ต้องจับจ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ทำให้มีผู้สนใจเปิดร้านค้าโชวห่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และกระตุ้นให้มูลค่าการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยในภาพรวมเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงถึง 2 ล้านล้านบาท

ขณะที่บรรดาบิ๊กรีเทลที่มีโครงการสนับสนุนการเป็นพาร์ตเนอร์กับกลุ่มร้านโชวห่วยอยู่แล้ว ยิ่งเร่งสปีดขยายเครือข่าย อย่างค่ายแม็คโคร ต้นตำรับการจัดงานวันโชห่วย นอกจากการเป็นที่ปรึกษาวางระบบบริหารร้านแล้ว ยังเพิ่มโมเดลใหม่ๆ เช่น จัดโครงการตู้ครัวชุมชนเพิ่มกำไร จากตู้อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมปรุง ตู้แช่ผักผลไม้ ชั้นวางเครื่องปรุง เพื่อตอบกระแสการซื้ออาหารบริโภคจากร้านใกล้บ้านในชุมชน โครงการคาเฟ่ชุมชนนำตู้กดกาแฟสดมาสร้างรายได้ โครงการโชห่วยสะดวกซักด้วยเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เพิ่มจุดบริการออนไลน์รับไลฟ์สไตล์ใหม่ เช่น รับประกันภัย ต่อ พ.ร.บ. ส่งพัสดุ

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด แม็คโครวางแผนเชิงรุกในการพัฒนาโชวห่วยที่มีกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อเป็นร้านค้าเล็กๆ ที่ครบเครื่อง เป็นศูนย์กลางและที่พึ่งในการซื้อสินค้าของคนในชุมชนผ่านแคมเปญด้านราคา การตลาด การจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี มีผู้เชี่ยวชาญจาก “ศูนย์มิตรแท้โชห่วย” ให้คำปรึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการบริหารจัดการร้านค้า สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์โชห่วย แนะนำการให้บริการดิลิเวอรี และการปรับปรุงร้านให้ทันสมัย

ด้านค่าย ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ซึ่งกำลังเร่งสปีดขยายสาขาไล่จี้เจ้าตลาด “เซเว่นอีเลฟเว่น” ชูโมเดล CJ MORE More Than Anyone, More Than Supermarket เป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพิ่มร้านค้าและบริการหลากหลายไม่ต่างจากมินิคอมมูนิตี้มอลล์ในทุกชุมชน

อีกด้านหนึ่ง ซีเจยังปลุกปั้นแบรนด์ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ดึงบรรดาผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เน้นการให้ความรู้และเทคโนโลยีบริหารจัดการ ทำหน้าร้านสวยงาม จัดรายการส่งเสริมการขายและสื่อโฆษณา ณ จุดขาย เพื่อแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้

แผนธุรกิจของร้านถูกดีมีมาตรฐานออกมาในแนวเดียวกับซีเจเอ็กซ์เพรส คือ สร้างฐานในต่างจังหวัด เป็นร้านค้าของชุมชนที่บริหารโดยคนในชุมชน สามารถขยายในระดับตำบล หมู่บ้านขนาด 300 ครัวเรือนขึ้นไป และเปิดโอกาสให้ชุมชนนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้อีกทาง โดยแนวคิดการบริหารจัดการ คือ เมื่อมีรายได้เข้ามาต้องแบ่งกำไรกัน ร้านค้าจะได้ 85% ส่วนบริษัทได้รับ 15% ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก เพื่อให้ร้านค้าแข็งแรง และอยู่ได้

ปัจจุบันร้านถูกดีฯ เปิดแล้วมากกว่า 2,000 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่ วประเทศ ขณะที่ในกรุงเทพฯ เริ่มขยายได้ 11 สาขา ซึ่ง ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 30,000 แห่งในปี 2565 และ 50,000 แห่งในปี 2566

ดังนั้น หากพิจารณาข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำรวจผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโชวห่วยขนาดกลางมีจำนวน 18,735 ร้านค้า โชวห่วยขนาดเล็กมากกว่า 400,000 ร้านค้า นั่นย่อมหมายถึงโอกาสการขยายฐานของกลุ่มทุนค้าปลีก แต่เหนืออื่นใดจะต้องพิสูจน์ว่า กลุ่มทุนเหล่านี้ต้องการพัฒนาโชวห่วยแบบ “วิน-วิน” จริงหรือไม่

ใส่ความเห็น