วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > กฎ กติกา มารยาท ข้อพึงปฏิบัติก่อนออกไปปั่น

กฎ กติกา มารยาท ข้อพึงปฏิบัติก่อนออกไปปั่น

 
เหตุการณ์ที่นักปั่นชาวชิลีผู้กำลังสร้างสถิติโลก ด้วยการเดินทาง 5 ทวีปในเวลา 5 ปี กลับต้องหยุดสถิติลงและเสียชีวิตในประเทศไทย อีกทั้งยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักปั่นจักรยานไทยอีกหลายราย ภาพเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้ร่วมทาง การไม่เคารพกฎหมายจราจร รวมถึงความประมาทขณะขับขี่รถยนต์ 
 
ในแต่ละปีประเทศไทยมีสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเหตุเกี่ยวกับจักรยาน 300-400 คดี ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุที่ไม่เป็นคดี กรณีดังกล่าวส่งผลให้บรรดานักปั่นออกมารวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดมาตรการและบทลงโทษอย่างจริงจัง
 
ล่าสุดนักปั่นจักรยานกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ในชื่อ “เมา+ขับ=ฆาตกร” นับเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หวังว่าจะช่วยเรียกสติผู้ขับขี่รถยนต์และลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
 
อย่างไรก็ดี การจะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขับขี่รถทุกประเภท ในห้วงเวลาที่กระแสจักรยานยังคงวิ่งวนอยู่ในสังคมไทย คนไทยควรต้องเริ่มที่จะเรียนรู้กฎข้อบังคับเกี่ยวกับจักรยานเช่นเดียวกัน  พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี พ.ศ. 2522 มีข้อกำหนดในเรื่องจักรยานว่า 
 
1. ขี่ในทางที่จัดไว้ให้ ตามมาตรา 79 ในกรณีที่ถนนมีเส้นทางจักรยานจัดเอาไว้ให้ผู้ขี่จักรยานต้องใช้ช่องทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
 
2. กรณีถนนที่ไม่ใช่เส้นทางจักรยาน ตามกฎหมายระบุว่า ให้รถจักรยานใช้ช่องทางทางด้านไหล่ทางเป็นสำคัญ ตามระเบียบในมาตรา 80 และรถจักรยานที่ขี่ต้องจัดให้มีสิ่งของจำเป็นดังนี้
 
– กระดิ่งที่สามารถส่งสัญญาณเตือนได้ในระยะ 30 เมตร
 
– เครื่องห้ามล้อหรือเบรกที่ใช้งานได้ 
 
– ต้องมีโคมไฟติดหน้ารถ 1 ดวง และส่องสว่างในระยะ 15 เมตร ติดตั้งในระดับต่ำกว่าสายตาผู้ขับขี่รถยนต์ 
 
– ต้องมีไฟท้ายแสงสีแดง 1 ดวง หรืออุปกรณ์สะท้อนแสงติดตั้งไว้
 
และข้อห้ามที่ไม่ควรทำระหว่างขี่จักรยาน เช่นห้ามปล่อยมือจากคันบังคับ ห้ามขี่ขนานกันเกินสองคัน ห้ามซ้อนท้ายหรือบรรทุกบุคคลอื่น เว้นแต่มีพาหนะบรรทุกพ่วงข้าง
 
นอกเหนือไปจากข้อบังคับข้างต้นที่อาจมีส่วนช่วยให้ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ขี่จักรยานลดลงได้บ้าง กระทั่งมีความพยายามที่จะหยิบประเด็นเรื่องการนำใบขับขี่จักรยานกลับมาใช้อีกครั้ง โดยการใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้ 
 
เดิมทีประเทศไทยมีใบขับขี่จักรยานครั้งแรกเมื่อ 80 ปีที่แล้ว และถูกยกเลิกไปในปี 2546 เพราะความล้าสมัยของกฎหมาย ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้หากมีการปัดฝุ่นใบขับขี่สำหรับจักรยานอีกครั้งดูจะเป็นเรื่องดีต่อผู้ขับขี่จักรยานเอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถกำหนดอายุของผู้ขับขี่จักรยานบนถนนหรือเส้นทางหลักได้
 
หลายประเทศที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันอย่างประเทศเยอรมนีความมีระเบียบวินัย และการเคารพในกฎจราจรจะถูกสร้างตั้งแต่เด็กๆ มีการเปิดสอบใบขับขี่จักรยานภาคทฤษฎีตอน ป. 2 และสอบภาคปฏิบัติ ป.4  และจะสามารถครอบครองจักรยานได้หนึ่งคัน ต่อเมื่อสอบใบขับขี่จักรยานผ่านทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ วิธีดังกล่าวแม้จะมีความยุ่งยากในการดำเนินการ แต่เป็นการขจัดปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการปลูกฝังวินัยและเรียนรู้ระเบียบข้อบังคับด้านจราจรตั้งแต่ยังเด็ก 
 
นอกจากนี้การจดทะเบียนรถจักรยานก็เป็นตัวช่วยที่ดีในการป้องกันจักรยานสูญหาย ในประเทศญี่ปุ่นผู้ใช้รถจักรยานมักนิยมนำพาหนะของตนไปขึ้นทะเบียน เพื่อเป็นการป้องกันการถูกโจรกรรม ขณะที่การจดทะเบียนรถจักรยานสองล้อในประเทศไทยนั้นได้ยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ดูเหมือนสังคมจักรยานที่กำลังเริ่มต้นในประเทศไทยทำให้เราต้องปัดฝุ่นกฎระเบียบเดิมๆ ที่อาจนำกลับมาใช้ได้ในหลายเรื่องทีเดียว
 
ขณะที่สังคมจักรยานกำลังขยายตัวมากขึ้นและมีข้อเสนอต่อสังคมในการสร้างความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่จักรยาน หากมองอีกมุม จักรยานถือได้ว่าเป็นพาหนะประเภทหนึ่งที่ควรมีกฎหรือบทลงโทษนักปั่นที่ทำผิดกฎจราจร ในกรณีที่สร้างความเสียหายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนหรือไม่ ประเทศญี่ปุ่นเคยมีเหตุการณ์ที่นักเรียน ม.ปลายขี่จักรยานผิดกฎจนเข้าชนคนเดินถนน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่กระดูกสันหลัง ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 60 ล้านเยน 
 
มุมมองจากคนภายนอกแม้จะมองว่าบทลงโทษและค่าชดเชยนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย แต่การมีบทลงโทษเช่นนี้ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างมาก โดยในหนึ่งปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 5 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับสองของโลก 44 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2557)
 
ทั้งนี้คนญี่ปุ่นหันมาใช้จักรยานมากขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ปี 2011 และการเพิ่มปริมาณของจักรยานก็ทำให้อัตราส่วนของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน เป็นอุบัติเหตุที่จักรยานชนคนเดินเท้ามากขึ้นถึง 5 เท่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ญี่ปุ่นกำหนดบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ขี่จักรยาน อันนำมาซึ่งตัวเลขสถิติอุบัติเหตุที่ลดลงมากในปัจจุบัน
 
แม้จะมีการรณรงค์เรียกร้องในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อผู้ขี่จักรยาน หากแต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม มีเพียงแต่ข้อเสนอที่เหมือนการโยนหินถามทาง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่า กทม. เตรียมหารือร่วมกับกรมตำรวจทางหลวง เพื่อหามาตรการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉพาะมาตรการควบคุมความเร็ว ที่กฎหมายไทยกำหนดความเร็วในการขับขี่รถยนต์บนถนนเขตเมืองไว้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากเปรียบเทียบกับสากลที่หลายประเทศกำหนดไว้ไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผู้ว่า กทม. เสนอให้ใช้อัตราดังกล่าวสำหรับถนนที่มีทางจักรยาน และสำหรับถนนในซอยควบคุมให้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
 
สาเหตุทางกายภาพของถนนในประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่อันตรายได้ ทั้งไฟถนนสว่างไม่ทั่วถึง พื้นผิวถนนไม่เรียบ หรือไหล่ทางที่แคบเกินไป หรือรถยนต์ที่จอดกีดขวางบริเวณไหล่ทางซึ่งทำให้นักปั่นจำเป็นต้องเบี่ยงออกขวา ปัจจัยเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน 
 
ในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายกำลังระดมความคิดเพื่อหาทางออกของปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับจักรยาน ระหว่างที่สังคมกำลังรอการทำงานตามระบบคิดแบบราชการไทย นักปั่นคงต้องศึกษาเรียนรู้กฎกติกา ข้อบังคับเกี่ยวกับจักรยานและ พ.ร.บ.จราจร ก่อนออกไปปั่นด้วยสติที่ตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท น่าจะเป็นคำตอบที่ง่ายและดีที่สุดในเวลานี้