วันพุธ, กันยายน 11, 2024
Home > Cover Story > เคานต์ดาวน์ “กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์” “สวนสยาม” ชิงอัดโปรพลิกฟื้น

เคานต์ดาวน์ “กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์” “สวนสยาม” ชิงอัดโปรพลิกฟื้น

27 กันยายน ต้องลุ้นที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ จะชี้ขาดแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ออกมาในรูปแบบใด หลังจากมีการหารือและเลื่อนวันดีเดย์หลายรอบจากวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็น 15 ตุลาคม และล่าสุดมีแนวโน้มจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เห็นควรปรับแผนการเปิดเมือง เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว โดยไม่ต้องกักตัว ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ จ.ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน) และ จ.เพชรบุรี (อ.ชะอำ) จากแผนเดิมวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็น 1 พฤศจิกายน 2564 แบบพร้อมกันทีเดียว เพื่อรอให้ประชากรในพื้นที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ตามเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของการเตรียมความพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กระแสดังกล่าวส่งผลให้บรรดาธุรกิจเร่งเตรียมความพร้อม ทั้งมาตรการคุมเข้มด้านสาธารณสุขและแคมเปญการตลาดทุกรูปแบบ เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ทั้งวันลอยกระทง เทศกาลคริสต์มาส มหกรรมเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่า ต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงเป็นช่วงไฮซีซันด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เปิดระบบให้ลงทะเบียนรับสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน

นอกจากนั้น ยังมีเม็ดเงินกระตุ้นกำลังซื้อจากโครงการคนละครึ่ง ซึ่งรัฐจะโอนเงินเข้าระบบรอบ 2 อีกคนละ 1,500 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม สามารถใช้จ่ายได้ถึง 31 ธันวาคม 2564 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2564 โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.22 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 66,366.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 33,761.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 32,604.9 ล้านบาท

ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีผู้ใช้สิทธิสะสม 75,582 ราย ยอดการใช้จ่ายส่วนประชาชนสะสมรวม 2,182 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายส่วน อี-วอยเชอร์ สะสม 90.7 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า หากเปิดกรุงเทพฯ วันที่ 15 ตุลาคมนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ 100,000-150,000 คนต่อเดือน หรือ 3-5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ ในช่วงปกติที่ไม่มีโควิด-19 ประมาณ 3 ล้านคนต่อเดือน เฉลี่ยนักท่องเที่ยวแต่ละคนจะใช้เวลาท่องเที่ยว 8-10 วันต่อทริป ค่าใช้จ่ายต่อหัว 50,000 บาท จะมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวไตรมาส 4 ราว 2 เดือนครึ่ง 20,000-30,000 ล้านบาท กระตุกเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 64 อยู่ใกล้กรอบ 1%

นั่นทำให้ภาคเอกชนคาดหวังการกลับมาสร้างรายได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มกิจการที่ถูกปิดสนิทหลายรอบตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย อย่าง “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สวนสยาม” ประกาศงัดแคมเปญ Welcome Back #season3 ต้อนรับการกลับมาให้บริการทันทีที่ ศบค. ไฟเขียวลุยกรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ เปิดจองบัตรราคาพิเศษล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ siamamazingpark.com/promotion-online และร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา

อัตราบัตรผู้ใหญ่ คนละ 300 บาท จากปกติ 900 บาท เล่นได้ทั้งสวนน้ำและสวนสนุกวันใดก็ได้ 1 วัน เพียงสแกน QR Code ผ่านประตูได้เลย โดยกำหนดวันใช้บริการยาวถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

แหล่งข่าวจากบริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด ผู้บริหารโครงการ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ระบุว่า บริษัทจัดแคมเปญรองรับการเปิดกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้รีโนเวตความทันสมัยของสวนน้ำ เครื่องเล่น และเดินหน้าก่อสร้างโครงการบางกอกเวิลด์ให้แล้วเสร็จ เพื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2565

ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมมาตรการด้านความปลอดภัยตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข ยึดหลัก D-M-H-T-T โดย D : Distancing เว้นระยะห่างที่นั่งบนเครื่องเล่นทุกชนิดและระยะห่างในพื้นที่บริการ, M: Mask Wearing ให้ผู้ใช้บริการและพนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการ, H: Hand Washing ทำความสะอาดเครื่องเล่นหลังให้บริการทุกรอบ และจัดเตรียมแอลกอฮอล์ทั่วบริเวณ, T : Testing วัดอุณหภูมิลูกค้าและพนักงานทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ อุณหภูมิไม่สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส และ T : Thai Cha Na ต้องเช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้งเมื่อเข้าใช้บริการ

ต้องยอมรับว่า สยามอะเมซิ่งพาร์คถูกสั่งปิดชั่วคราวหลายรอบตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มจากช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 หยุดให้บริการกว่า 5 เดือน และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่กลับมาเปิดบริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2563

วันที่ 2 มกราคม 2564 ถูกสั่งปิดชั่วคราวอีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอก 2 จากคลัสเตอร์สมุทรสาคร ประมาณ 1 เดือน จากนั้นเปิดให้บริการได้ไม่กี่เดือน ถูกสั่งปิดรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบันนานกว่า 5 เดือน

บริษัทขาดรายได้และต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยยอมตัดขายที่ดินแปลงหนึ่งกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโซนพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ “ไดโนโธเปีย” โซนท่องป่าแอฟริกา และแกรนด์แคนยอนเอ็กซ์เพรส เพื่อนำเม็ดเงินมาหมุนเวียนพยุงธุรกิจอย่างน้อยอีก 5 ปี

จิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารจัดการโครงการบางกอกเวิลด์ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด ทายาทสาวของไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ กล่าวว่า บริษัทเจอปัญหาเข้ามาต่อเนื่อง เป็นวิกฤตระดับโลก เรื่องเศรษฐกิจถือว่าหนักมาก ๆ แต่เชื่อหลังวิกฤตผ่านไปจะเจอฟ้าที่สดใสมาตลอด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมโครงการบางกอกเวิลด์ที่น่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2565 หลังสถานการณ์ทุกอย่างฟื้นตัวแล้ว เติมเต็มสยามอะเมซิ่งพาร์คและเป็นมรดกธุรกิจชิ้นสุดท้ายในชีวิตการทำงานของผู้เป็นพ่อ

แน่นอนว่า กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์เป็นความหวังของสวนสยามและอีกหลายธุรกิจที่กำลังต่อสู้เพื่อพลิกฟื้นอีกครั้ง

ใส่ความเห็น