วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ประกันโควิดทะลุหมื่นล้าน บทเรียน “เจอ ไม่จ่าย” ทุบธุรกิจ

ประกันโควิดทะลุหมื่นล้าน บทเรียน “เจอ ไม่จ่าย” ทุบธุรกิจ

นับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประกาศผลักดัน “กรมธรรม์โควิด” อย่างเร่งด่วนและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยม มีประชาชนแห่ซื้อถล่มทลายถึงขั้นเว็บล่ม เนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดและจ่ายเบี้ยประกันไม่กี่ร้อยบาท หากเจอติดเชื้อ จ่าย จบ ได้เงินชดเชยหลักแสนทันที

แน่นอนว่า หลายบริษัทสามารถกอบโกยยอดขายกรมธรรม์โควิด เนื่องจากช่วงปี 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลักสิบ ยอดเคลมจึงน้อยมาก และรัฐบาลเริ่มกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายฝ่ายต่างคาดการณ์จะไม่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในปี 2564

แต่ที่สุด เกิดคลัสเตอร์การระบาดใหม่จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และคลัสเตอร์เรือนจำนราธิวาส รวมทั้งรัฐบาลไม่มีคำสั่งควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงสงกรานต์ จนเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ในประเทศอังกฤษ (B117) ซึ่งระบาดเร็วขึ้น 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

14 เมษายน 2564 ยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งทะลุหลักพันเป็นครั้งแรก มีนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาระบุอัตราขยายเชื้อ (Reproductive rate) ของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มไต่อันดับสูงสุด เฉลี่ยผู้ติดเชื้อ 1 ราย จะแพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่น 2.27 ราย

ไม่หยุดแค่นั้น ในเวลาต่อมา เกิดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “เดลต้า” แทรกซึมและแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทุบสถิตินิวไฮเกินหลักหมื่นต่อวันทุกวันและยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามติดๆมากกว่า 200-300 รายต่อวัน โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง 9 กันยายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดสะสม 1,309,687 ราย เสียชีวิตสะสม 13,637 ราย

ด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทยระบุว่า การแพร่ระบาดโควิด -19 ที่รุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้การต่ออายุและซื้อกรมธรรม์โควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากชะลอตัวไปในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงต่อกรมธรรม์จากปี 2563 เนื่องจากลูกค้าหลายรายไม่คาดคิดถึงการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยช่วงเดือนเมษายน-1 พฤษภาคม 2564 มีการซื้อประกันภัยโควิด-19 รวม 7.7 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกัน 2,700 ล้านบาท

เมื่อรวมกับยอดการทำประกันในไตรมาสแรก 1.3 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกันรับ 800 ล้านบาท ทำให้ยอดการทำประกันโควิด 5 เดือนแรกอยู่ที่ 9 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกันรวมทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ซึ่งเริ่มเปิดตัวกรมธรรม์โควิดจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ที่มีอยู่ราว 9.3 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกันรวมทั้งสิ้น 4,100 ล้านบาท และหากรวมตัวเลขทั้งหมดจะอยู่ที่ 18.3 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกัน 7,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 200-300 คนต่อวัน ขณะที่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation ความปั่นป่วนเกิดขึ้นทันที เนื่องจากเงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดให้ผู้เอาประกันต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

แม้มีการออกประกาศคำสั่งปลดล็อกทันควันเพื่อให้โรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลอยู่ในข่ายที่ลูกค้าประกันสุขภาพหรือประกันโควิดสามารถเข้ารักษาและเบิกในฐานะคนไข้ได้เสมือนคนไข้ในโรงพยาบาล รวมถึงสามารถใช้เอกสารการตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR แทนใบรายงานหรือรับรองจากแพทย์ เพื่อรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ แต่จำนวนผู้ป่วยที่พุ่งสูงกว่าที่คาดไว้หลายร้อยเท่าทำให้บริษัทประกันตั้งตัวไม่ทัน

ไม่ว่าจะเป็นกรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บอกเลิกประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 กับลูกค้ากลางคัน หรือกรณีผู้เสียหายหลายร้อยคน เดินทางไปร้องเรียนหน้าบริษัทประกันภัย 2 แห่ง คือ บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพราะยังไม่ได้รับเงินสินไหมทดแทนโควิด-19

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ยอดเคลมประกันภัยโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเจอจ่ายจบหรือรูปแบบอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นมากจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมมียอดกว่า 9,000 ล้านบาท และเดือนกันยายนนี้จะเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท จากยอดขายประกันโควิดราว 18 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งยอดจ่ายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บางบริษัทจากหลักสิบเพิ่มเป็นหลักร้อยหรือหลักพันต่อวันทำให้ประสบปัญหาการจ่ายสินไหมทดแทนล่าช้า และเตรียมพนักงานหรือขั้นตอนตรวจสอบไม่ทันกับยอดที่เข้ามา

หากดูยอดเคลมประกันภัยโควิด-19 ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท เดือนกรกฎาคมเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ของธุรกิจประกันภัยในอนาคต โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องทางการเงินเตรียมพร้อมการจ่ายสินไหม หลายบริษัทมีการเพิ่มทุน บางรายขายหุ้น บางรายขายสินทรัพย์ถาวร เพื่อเร่งจ่ายสินไหมทดแทน

ที่สำคัญ แม้ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 15,000-18,000 ราย แต่ต้องติดตามหลังผ่อนคลายการเปิดกิจการต่างๆ เช่น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกหรือไม่ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันโควิด-19 มีระยะเวลาคุ้มครองยาว 1 ปี จนถึงปี 2565

นั่นทำให้บริษัทประกันทุกแห่งต่างเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง ทั้งการหยุดขายกรมธรรม์รูปแบบ เจอ จ่าย จบ เพราะค่ารักษาพยาบาลของโควิด-19 สูงมาก ลดวงเงินชดเชยจาก 1 แสนบาท เหลือ 50,000 บาท กำหนดเงื่อนไขชดเชยค่ารักษาพยาบาลเฉพาะอาการขั้นโคม่า

การกำหนดจำนวนการขายและปิดการขายทันทีเมื่อถึงเป้าหมาย การกำหนดระยะเวลารอคอย 14 วัน จากเดิมคุ้มครองทันที การปรับเบี้ยประกันสูงขึ้น หรือเหมารวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพโรคร้าย ซึ่งคิดเบี้ยประกันสูงกว่าเดิมมาก ห้ามเดินทางต่างประเทศ 1 ปี ถ้าเดินทางการประกันจะสิ้นสุด หรือบางบริษัทกำหนดไม่รับประกันบุคลากรทำงานทางการแพทย์

แต่เหนือสิ่งอื่นใด บริษัทประกันต้องเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและบริการอย่างจริงใจ เพราะปัญหาเคลมยาก จ่ายยาก กำหนดเงื่อนไขมากมาย เป็นข้อหาใหญ่ที่ยังสลัดไม่หลุดตั้งแต่อดีตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ใส่ความเห็น