วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Life > อยู่อย่างไรให้รอดจากโควิดระลอก 4

อยู่อย่างไรให้รอดจากโควิดระลอก 4

ณ เวลานี้ เราคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดในบ้านเรา ยอดติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนตัวเลขเกินครึ่งหมื่นต่อเนื่องมาหลายวัน

ความคาดคิดและคาดหวังของคนส่วนใหญ่คงเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อีกไม่ช้าไม่นานคงจะจบลงเสียที แบบระลอกแรกและระลอกสอง ที่จบลงภายในเวลาไม่กี่เดือน

แต่ทิศทางการแพร่ระบาดจากระลอกสามกลับไม่จบลงง่ายๆ เช่นเดิม กระทั่งเราเดินทางมาสู่ระลอกสี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่า “ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งโลกมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตาอย่างมาก ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้ว 96 ประเทศ ส่วนประเทศไทย 2 เดือนที่แล้ว 85-90 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อที่ตรวจพบคือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พอมิถุนายนถึง กรกฎาคม ทั้งประเทศเป็นเชื้อเดลตา 30 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเร็วมาก เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเดลตา 50 เปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40 เปอร์เซ็นต์ คาดว่า 1-2 เดือน ทั้งไทยและโลกจะเป็นเดลตาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด

“เชื้อตัวนี้ภาพรวมไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น อย่างอัลฟาใช้เวลา 7-10 วัน ถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลตาใช้เวลา 3-5 วัน ดังนั้นคนติดเชื้อมาก เปอร์เซ็นต์ปอดอักเสบจึงมาก ต้องการเตียงผู้ป่วยหนักไอซียูเพิ่มขึ้น ตอนนี้ตึงมากเรื่องเตียง โดยเฉพาะสีแดง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้”

ประเด็นเรื่องการเข้าสู่ระลอก 4 นพ.อุดมกล่าวว่า “ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกว่าเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว”

เมื่อเรายังต้องอยู่ในโลกที่มีโควิดต่อไป คงต้องถึงเวลาที่เราจะกลับมาเรียนรู้เรื่องใหม่ และทบทวนบทเรียนเดิมๆ กันอีกครั้ง เพื่อให้เราอยู่รอดต่อไป

บทเรียนเดิม หรือมาตรการส่วนบุคคลเดิม ที่หลายคนอาจหลงลืมปฏิบัติ

1. ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ทั้ง Medical Mask หรือ Surgical Mask หรือหน้ากากผ้า ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่วิธีการใส่ที่ถูกต้อง รวมไปถึงการไม่หลงลืมดึงหน้ากากลงมาเวลาต้องพูดคุย หรือในบางเคสที่หลายคนเคยพบคือ ดึงหน้ากากอนามัยลงเมื่อจาม ซึ่งนั่นมีโอกาสสูงมากที่จะแพร่เชื้อให้บุคคลอื่น

2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ในระลอกแรกถึงระลอกสอง จะเห็นได้ว่าประชาชนให้ความสำคัญกับมาตรการข้อนี้สูงมาก ทว่า เมื่อเวลาล่วงเลยไป ความใส่ใจต่อสุขอนามัยในตัวเองของหลายคนค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อโควิดยังอยู่ นั่นหมายความว่า เรายังจำเป็นที่จะต้องหมั่นล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งที่จับ สัมผัส สิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ลูกบิด หรือที่จับประตู ราวโหนรถเมล์ ห้องน้ำสาธารณะ และต้องไม่จับสัมผัสหน้า ตา จมูก ปาก หากมือของเรายังไม่ได้ล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง

3. ระยะห่าง แน่นอนว่า นี่อีกเป็นหนึ่งข้อของมาตรการป้องกันตัวเอง เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ใครมีโอกาสติดเชื้อ หรือติดเชื้อแล้วบ้าง ดังนั้น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลจึงยังเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง

4. ตรวจสอบว่าตัวเองอยู่จุดไหนของวงการระบาด อันดับแรก เลือกเสพข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากมีบุคคลใกล้ชิด หรือพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ จากนั้นให้ตรวจสอบความใกล้ชิดเพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น เคยพบปะพูดคุยในรัศมีประมาณเท่าไร เคยจับสัมผัสสิ่งของ หรือเคยนั่งรับประทานอาหารร่วมกันหรือไม่ รวมไปถึงระยะเวลาในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นเวลานานเท่าไร หากใช้เวลาร่วมกับผู้ติดเชื้อนาน 15 นาที ไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่หน้ากาก หากพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงสูง ให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ตรวจสอบอาการของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และควรตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หลังมีการสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก หากผลการตรวจเป็นลบ ยังไม่ควรกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ควรกักตัวจนครบ 14 วัน

แต่ในกรณีที่ไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง อาจมีการพูดคุยกันแต่ไม่เกิน 1 นาที มีการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรตามมาตรฐาน และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ควรสังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน แต่ไม่ต้องกักตัว หรือในกรณีที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อในอาคารที่พักเดียวกัน เช่น คอนโด หรือชุมชนเดียวกัน ควรเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ต้องกักตัว

5. ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อ และอยู่ระหว่างการรอเตียงว่าง หรือรอรถพยาบาลมารับตัวเข้ารับการรักษา การดูแลตัวเองเมื่อต้องพักอยู่ที่บ้าน ในกรณีเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ดูแลตัวเองได้ รับประทานยาลดไข้ หรือยาฟ้าทะลายโจร ดื่มน้ำเยอะๆ อาจรับประทานวิตามินซี และวิตามินดี เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

6. วัคซีนไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นหนทางป้องกันตัวเองอีกหนึ่งทาง หากถึงคิวที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนยี่ห้อใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเรายังต้องคงมาตรการป้องกันตัวเองอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม เพราะหากการ์ดตก มีความเป็นไปได้ว่า เราอาจติดเชื้อโควิดได้ หลายคนที่ยังกังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อถกเถียงและการด้อยค่าของวัคซีนบางยี่ห้อ สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลอาจเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดที่อิงมากับข้อมูลที่มีงานวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์น้อยมาก เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ วัคซีนที่เกิดขึ้นจึงเป็นการพัฒนาจากเชื้อโควิดสายพันธุ์แรก ซึ่งในอนาคตอาจมีการพัฒนาวัคซีนให้สามารถสู้ได้กับทุกสายพันธุ์ ดังนั้นควรเลือกเสพข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยปราศจากข้อพิพาททางการเมืองและผู้แสวงหาผลประโยชน์จากวัคซีน

ภาพการ์ตูนที่ถูกเขียนและเผยแพร่ในระลอกแรก โดยในภาพมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า แพทย์ พยาบาล อสม. ประชาชน ช่วยกันดึงเส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลงมา เป็นภาพที่สื่อว่า ประชาชนจะช่วยกันทำทุกทางไม่ให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ต้องเหนื่อยเพียงลำพัง ถึงเวลานี้ที่ประเทศไทยเข้าสู่ระลอก 4 อาจเป็นเวลาที่เราต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตวิถีใหม่ หรือวิถีชีวิตดั้งเดิม ด้วยการดูแลตัวเอง ยกการ์ดให้มั่น ตั้งการ์ดให้สูง ไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

ใส่ความเห็น