วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > New&Trend > ภูเก็ต แซนด์บอกซ์: ได้ผล หรือ พลาดเป้า?

ภูเก็ต แซนด์บอกซ์: ได้ผล หรือ พลาดเป้า?

โครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ในฐานะต้นแบบสำหรับการเปิดประเทศของไทย แต่โครงการนี้ก็มาพร้อมกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ หลายประการ ซึ่งถ้าการปฎิบัติและผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ โครงการก็จะถูกยกเลิก ซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ให้ความเห็นว่า ข้อกำหนดที่มีความซับซ้อนสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา เช่น การขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry: COE) ขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องวัคซีน และข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อแบบ PCR ที่ต้องตรวจหลายครั้ง อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามาลดลง

นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย รายงานว่า ในปี 2562 เฉพาะภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกาะแห่งนี้ราว 3.93 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของรายได้จากการท่องเที่ยวในภูเก็ต ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตมีทั้งหมดราว 4 ล้านคน ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่า 400,000 คน โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวในภูเก็ตมีเพียง 358,891 คน ซึ่งต่างกันเกือบ 86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงเปิดตัวโครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

“พื้นที่ในป่าตอง กะรน และกะตะ ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักกำลังถูกทิ้งร้าง โรงแรม ร้านอาหาร และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างปิดให้บริการชั่วคราว นอกจากนี้ สถานบันเทิงยามค่ำคืนในภูเก็ตยังถูกจำกัดเวลาให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. ซึ่งก็มีลูกค้าเพียงไม่กี่โต๊ะเท่านั้น พื้นที่ค้าปลีกต่าง ๆ ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าเพราะผู้เช่าหลายรายย้ายออก และเจ้าของพื้นที่มีความยากลำบากในการหาผู้เช่ารายใหม่ แม้แต่ในสนามบิน มีเพียงร้านอาหารที่เป็นแบรนด์เท่านั้นที่ยังอยู่รอด” นางสาวประกายเพชร มีชูสาร หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดินแหล่งพักตากอากาศ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ซึ่งประจำอยู่ที่ภูเก็ต ให้ข้อมูล

ตลาดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ตลาดโรงแรม ซึ่งปัจจุบันอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก

นางสาวประกายเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ได้ทำให้เกิดความหวังในกลุ่มผู้ประกอบการ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ตและเกาะอื่น ๆ ที่กำลังเฝ้าติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิด แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี รายงานว่ามีธุรกิจมากกว่า 300 แห่งเข้าร่วมในโครงการ SHA Plus โดยที่ SHA คือการรับรองว่าธุรกิจนั้นมีมาตรการด้านสาธารณสุข และ Plus หมายถึงพนักงานมากกว่า 70% ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการขยายระยะเวลากักตัวจาก 7 วันเป็น 14 วัน ผู้ประกอบการในท้องถิ่นจึงมองว่า โครงการมีศักยภาพน้อยลง และกังวลว่าการที่ต้องพำนักอยู่นานขึ้นอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามาภูเก็ตลดลง รวมทั้งโรงแรมบางแห่งจะชะลอการกลับมาเปิดให้บริการจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม

แม้ข่าวล่าสุดจะรายงานว่ามีผู้ยื่นขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศเกือบ 8,000 ราย แต่น่าเสียดายว่าก่อนที่โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์จะเริ่มต้นขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ยกเลิกเที่ยวบินและการจองโรงแรมเนื่องจากการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศและกระบวนการอื่น ๆ มีความล่าช้า โดยก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่านักท่องเที่ยวมากกว่า 100,000 คนจะเดินทางเข้ามาภูเก็ตในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

ซีบีอาร์อีเชื่อว่าความสมดุลระหว่างมาตรการด้านความปลอดภัยและการปฏิบัติตามโครงการได้จริง ตลอดจนการจัดการขั้นตอนการต้อนรับอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 โดยรวมของประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ไทยยังอยู่ใน “รายชื่อประเทศที่ต้องระมัดระวังในการเดินทาง” สำหรับบางประเทศ หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ ก็จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ภูเก็ต แซนด์บอกซ์อาจเป็นโครงการนำร่องที่ดีและเป็นโอกาสในการเรียนรู้สำหรับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ ที่กำลังจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเนื่องจากเราอาจต้องอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปอีกระยะ เราทุกคนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นภูเก็ตกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวเป็นวิถีใหม่นี้ก็ตาม

ใส่ความเห็น