วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > Cover Story > ทุเรียนพุ่งแรง ปัง ปัง ไลฟ์สด 6 ชั่วโมง โกย 16,000 กิโล

ทุเรียนพุ่งแรง ปัง ปัง ไลฟ์สด 6 ชั่วโมง โกย 16,000 กิโล

ธุรกิจหลายรายต้องปิดกิจการเซ่นพิษโควิดระลอก 3 แต่ราชาผลไม้ไทย “ทุเรียน” กลับสร้างยอดขายถล่มทลาย ทำราคาพุ่งพรวด และพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ผู้คนทำมาหากินฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งเปิดแผงหน้าร้าน แผงท้ายกระบะ และขายผ่านช่องทางออนไลน์ “ไลฟ์สด” ชนิดที่แม่ค้าบางคนสามารถทำสถิติขาย 6 ชั่วโมงโกยยอดจองซื้อสูงถึง 16 ตัน หรือ 16,000 กิโลกรัม

ยังไม่นับรวมการขายผ่านกลุ่มโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส ซึ่งใช้วิธีทำข้อตกลงกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกรายใหญ่ในภาคตะวันออก เพื่อนำไปจำหน่ายในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการส่งขายบริษัทผู้ส่งออก ซึ่งหันมาใช้วิธี Pre-order ทั้งในตลาดจีน ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะตลาดจีนสั่งออร์เดอร์สูงมาก จนเป็นหนึ่งในผลไทยหลักที่ปลุกยอดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ราคาทุเรียนในปีนี้ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อน เฉลี่ย กก. ละ 130-140 บาท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากจีนเพิ่มสูงมาก หลังเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวจากโควิด บวกกับความต้องการในประเทศยังมีต่อเนื่อง เห็นได้จากล้งที่รับซื้อทุเรียนมีจำนวนเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัว

ที่สำคัญ สวนทุเรียนทุกแห่งกลายเป็นจุดเช็กอินของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าไปจองตัดสดจากสวน เพื่อนำมาจำหน่ายให้ลูกค้า ออร์เดอร์ล้นทะลัก ไม่พอจำหน่าย เนื่องจากหากคิดส่วนต่างจากสวนมาถึงมือผู้บริโภคสามารถสร้างรายได้และกำไร โดยเฉพาะลูกค้าในเมืองใหญ่ ทำให้การขายทุเรียนกลายเป็นอาชีพทำเงิน และการไลฟ์สดสามารถกระตุ้นการซื้อได้อย่างดี ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ยุค New Normal ที่ทุกคนต้องลดความเสี่ยงอยู่กับบ้าน และ Work from Home

แพรชมพู แก้วพระคงคา เจ้าของเพจ “ทุเรียนน้องพะแพง ไลฟ์สดเจ้าแรกของชุมพร” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 160,000 คน และใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ สร้างรายได้จากการไลฟ์สดขายทุเรียนวันละไม่ต่ำกว่า 10 ตัน แถมเคยทุบสถิติไลฟ์สดรวดเดียว 6 ชั่วโมง กวาดยอดจองซื้อ (F) สูงถึง 16 ตัน ชนิดที่ต้องใช้เวลาแพ็กสินค้า 3 วัน 3 คืน ก่อนส่งลูกค้า

จริงๆ แล้ว แพรชมพูไม่ได้ทำสวนทุเรียน ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ชอบค้าขายตั้งแต่เด็ก และต้องดิ้นรนทำมาหากิน ส่งตัวเองเรียนหนังสือจนจบ เริ่มตั้งแต่ขายอาหาร ขายกับข้าว ของสด ปลา ในตลาด กระทั่งมีทุนเปิดร้านขายเสื้อผ้าในตลาดนัด ก่อนจะมาทดลองขายทุเรียนกลายเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน

“เราเป็นวัยรุ่นทั่วไป เปิดร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น ขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด เผอิญมีเพื่อนเปิดแผงทุเรียนอยู่ด้วย และแฟนช่วยเพื่อนขนทุเรียนจากภาคใต้ไปส่งตลาดจันทบุรี เผอิญตอนนั้นเกิดโควิดรอบแรก ทางการสั่งปิดร้านเสื้อผ้า ห้ามเปิดขาย เราไม่มีรายได้ และชอบไลฟ์สดเลยตัดสินใจกับเพื่อนลองไลฟ์สดขายทุเรียนในชุมพรผ่าน Facebook ส่วนตัวก่อน”

“ตอนนั้นช่วงเดือนเมษายนปี 2563 คือ ก่อนหน้านั้นไลฟ์สดขายเสื้อผ้า ยอดลูกค้าเข้ามาดูประมาณ 50 คน สูงสุด 70 คน แต่พอเปลี่ยนมาไลฟ์สดขายทุเรียน วันแรกลูกค้าเกือบร้อยคน เพิ่มขึ้นทันทีจนตอบข้อความไม่ไหว และเริ่มสร้างเพจ ยังจำได้ไลฟ์สดผ่านเพจวันแรกมีคนดู 3,000 คน ขายได้ 600 กิโล”

เธอเล่าว่า ระยะแรกของการไลฟ์สดใช้วิธีเลือกทุเรียนใกล้สุกและวิ่งจัดส่งตามบ้านในจังหวัดชุมพร ประมาณวันละ 10 กก. ใช้เวลาไม่นาน ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขยายจากฐานลูกค้าร้านเสื้อผ้า กลุ่มเพื่อนเฟซบุ๊ก กลุ่มลูกค้าในจังหวัด และขยายไปต่างจังหวัด จากจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้กลายเป็นส่งทั่วประเทศ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ

“เราทำได้ มีผู้ติดตามหลักแสนเพราะเริ่มก่อนใคร แรกๆ มีคนสงสัยส่งทุเรียนได้หรือ จะเสียไหม ลองผิดลองถูก เพราะเริ่มจากวิ่งรถส่งตามบ้าน ต่อมาใช้ลังเบียร์ส่งไปรษณีย์ เกิดปัญหาเสียหาย ต้องเคลมคืนลูกค้า ไม่ได้กำไรเลย เราจึงรีบแก้ปัญหา พัฒนาระบบขนส่งจนสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้า ตอนนี้กล้าพูดได้ว่า เพจเราทำได้ แต่ตอนนี้มีปัญหาใหม่ คือ ทุเรียนไม่พอขาย ลูกค้าบ่นเอฟไม่ทันตลอด”

ทุกวันนี้แพรชมพูไลฟ์สดทุกวัน แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนทุเรียนจากสวน ซึ่งตัดสดและส่งมาที่โกดังทันที หากจำนวนไม่มาก อาจไลฟ์ 2 วันครั้ง และไม่ใช่เน้นขายจำนวนมากอย่างเดียว เพราะต้องการเน้นคุณภาพ ทั้งคุณภาพสินค้าและระบบขนส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แพรชมพูยอมรับกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า ปีนี้กระแสทุเรียนมาแรงมาก ปีก่อนเริ่มเปิดเพจใช้เวลาไม่นานบูมเลย มีจำนวนผู้ติดตามเพจประมาณ 1 แสนคน ขายได้เยอะ แต่ปีนี้ยิ่งแรง ผู้ติดตามเพิ่มเป็น 160,000 คน ยอดขายพุ่ง 10-20 เท่า และมีเพจขายทุเรียนเปิดเยอะมาก จากปีก่อนไม่กี่เจ้า ปีนี้มากถึงหลักหมื่นเพจ

สำหรับเพจของเธอ 2 เพจ คือ ทุเรียนน้องพะแพง ไลฟ์สดเจ้าแรกของชุมพร กับเพจ พะแพง จัดหั้ย มีฐานลูกค้าเหนียวแน่นมาก ซึ่งเธอเคยถามลูกค้า ส่วนใหญ่ติดใจแม่ค้า คุยเก่ง และจุดขายสำคัญอีกข้อ คือ ลูกค้าสามารถซื้อทุเรียนได้ตลอดทั้งปีจากเครือข่ายสวนในชุมพรที่ดีลกันมานาน ดังนั้น หากถามเรื่องคู่แข่ง เธอบอกว่า ทุกคนมีสิทธิ์ไลฟ์ขาย อยู่ที่ว่าใครจะทำได้นานกว่ากันและทุเรียนมีคุณภาพจริง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอย่างแพรชมพูที่พลิกวิกฤตโควิดเปิดเพจและประสบความสำเร็จในวัยเพียง 21 ปี แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ใช้ช่วงเวลาว่างงานมาหารายได้กับราชาผลไม้ เพื่อฝ่าพิษเศรษฐกิจตกต่ำช่วงโควิด

“โค้ชจ้อ” ยุทธพงษ์ มาลัยไธสง ผู้ฝึกสอนของทีมมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตเอฟซี เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยสั่งปิดสนามฟุตบอลตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และไม่สามารถเปิดสอนนักเตะทุกระดับ ทั้งระดับสโมสรฟุตบอลมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ทีมสิงห์ร่มเกล้า และทีมเกษมบัณฑิตเอฟซี รุ่นอายุ 14-16 ปี

เขาเล่าว่า โควิดรอบแรกเมื่อปี 2563 รับเนื้อปลาแซลมอนมาขายผ่านเพจเฟซบุ๊ก แต่ปีนี้ราคาเนื้อปลาแซลมอนสูงมากและกระแสโควิดทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่งดทานปลาดิบ จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาจับ “ทุเรียน” เป็นสินค้าตัวใหม่ เปิดทั้งแผงร้านค้าย่านนวลจันทร์และจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม การเลือกราชาผลไม้ต้องอาศัยการศึกษามาก ตั้งแต่การเลือกสวน การเคาะลูกเพื่อประเมินความสุกของเนื้อ ต้องระวังกรณีสอดไส้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ต้นทุนการขนส่งและราคาขายในตลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่

“ผมเตรียมไว้ 2 แผน แผนแรกเน้นขายส่งตลาดอีสาน ต้องศึกษาราคาหน้าสวนกับราคาขายที่กรุงเทพฯ ราคาขายในตลาดอีสาน หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่การส่งไปอีสานรอบแรก 2 ตัน กลับเจอปัญหา เพราะลูกค้าขายส่งมีเจ้าประจำเสียบแทน ขณะที่เราเป็นมือใหม่ ถ้าเปลี่ยนขายรายย่อย เขาไม่มีกำลังซื้อ ซื้อได้แค่วันละ 100-200 โล และทุเรียนยิ่งไว้นานน้ำหนักยิ่งลง ผมต้องงัดแผน 2 ขนกลับกรุงเทพฯ เปิดขายแบบเลือกสดหน้าร้านกับแกะเนื้อแพ็กสำเร็จรูป ซึ่งได้ราคาสูงกว่าและมีลูกค้าต้องการบริโภคมาก”

ทั้งนี้ ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาโค้ชจ้อลงทุนเดินทางไปสวนทุเรียนในจันทบุรีทุกสัปดาห์ เพื่อเลือกซื้อและขนกลับกรุงเทพฯ เที่ยวละ 500-600 กก. เผื่อจากออร์เดอร์ที่คาดว่าจะขายได้ 200 กก. แต่ต้องถือว่า สามารถสร้างรายได้ดีระดับหนึ่งกับยอดขายเฉลี่ยวันละ 100 กก. ราคาขายเฉลี่ยราคา กก. ละ 160 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยให้ครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้

โค้ชจ้อย้ำทิ้งท้ายว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่โดนทดสอบมากและเตือนให้ทุกคนต้องหาช่องทางอื่นรองรับทุกวิกฤต แม้สร้างรายได้ไม่มากเหมือนเดิม แต่ช่วยให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นมรสุมต่างๆ เพื่อรอสถานการณ์ประเทศไทยกลับมาเหมือนเดิมและจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

ใส่ความเห็น