วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > คอมมูนิตี้มอลล์พลิกโฉม “ลอนดอนสตรีท” งัดสูตรใหม่

คอมมูนิตี้มอลล์พลิกโฉม “ลอนดอนสตรีท” งัดสูตรใหม่

 
สงครามคอมมูนิตี้มอลล์ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือดและกลายเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ถูกดัดแปลงสารพัดรูปแบบ ไม่ใช่มีเพียงซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นแม็กเน็ตหลัก และไม่ได้จำกัดคู่แข่งเฉพาะกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ล่าสุด การแตกไลน์ธุรกิจคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ของกลุ่มเอ็มเค กรุ๊ป ภายใต้โครงการ “ลอนดอนสตรีท” กลายเป็นสูตรธุรกิจใหม่ การพลิกเกมกำหนดทำเลและสร้างช่องทางขายของตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ 360 องศา 
 
เปลี่ยนรูปแบบจากการเปิดร้านอาหารและต้องช่วงชิงลูกค้ากับร้านอาหารคู่แข่งในคอมมูนิตี้มอลล์ 1 แห่ง แต่ “ลอนดอนสตรีท คอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์” คือ ยุทธศาสตร์ศูนย์รวมแบรนด์ร้านอาหารในเครือ โดยเอ็มเค กรุ๊ป ตั้งเป้าสร้างยอดขายต่อหัวจากลูกค้ามากกว่า 3 รอบต่อวัน เริ่มตั้งแต่มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และอาจมีมื้ออาหารทานเล่นช่วงพลบค่ำตบท้ายอีกรอบ 
 
ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการลอนดอนสตรีทเป็นก้าวย่างครั้งใหม่ของเอ็มเค กรุ๊ป นอกเหนือจากแผนการขยายสาขาของร้านอาหารในประเทศไทย เพื่อตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำธุรกิจด้านร้านอาหาร (Restaurant Food Chain Expert) แต่ต้องการสร้างลอนดอนสตรีทเป็นคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ ต้นแบบแห่งแรกภายใต้คอนเซ็ปต์การออกแบบสไตล์ลอนดอนชิค และเป็นไอคอนแห่งใหม่บนย่านถนนพัฒนาการ โดยสร้างบรรยากาศที่ไม่เคยมีมาก่อนและตอบโจทย์กระแสความนิยมการรับประทานอาหารสำหรับคนรุ่นใหม่
 
สำหรับ “ลอนดอนสตรีท” สาขานำร่องมีพื้นที่รวม 1.8 ไร่ ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท มีร้านอาหารดัง 5 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เอ็มเคสุกี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ มิยาซากิ เทปปันยากิ ร้านอาหารไทยเลอ สยาม และร้านเลอ เพอทิท คาเฟ่ ซึ่งปรับโฉมใหม่ทั้งหมด ทั้งรูปแบบ แบรนด์ และเมนูอาหารเอ็กซ์คลูซีฟ
 
แม้ที่นี่ไม่มี “ซูเปอร์มาร์เก็ต” อยู่ในโครงการเหมือนคอมมูนิตี้มอลล์ทั่วไป แต่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันมีทั้งเทสโก้โลตัส สาขาพัฒนาการ ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00-23.00 น. และศูนย์บำรุงรักษารถยนต์ครบวงจรแอค (A.C.T.) กลายเป็นจุดแข็งด้านทำเลที่สามารถสร้างทราฟฟิกการใช้บริการระหว่าง 3 พันธมิตร โดยเอ็มเค กรุ๊ปประเมินความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในย่านดังกล่าว รัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนใหญ่มากกว่า 90% เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ไม่มีภาระการผ่อนบ้าน และต้องการบรรยากาศไลฟ์สไตล์โดดเด่นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างสรรพสินค้าอย่างซีคอนสแควร์ หรือพาราไดซ์พาร์ค 
 
ทั้งนี้ ยอดขายต่อหัวของร้านอาหารทั้ง 5 แบรนด์ เริ่มจากเอ็มเคสุกี้จะอยู่ที่ 300 บาทต่อคน ยาโยอิ 250 บาทต่อคน มิยาซากิ เทปปันยากิ 350 บาทต่อคน เลอ สยาม 300-500 บาทต่อคน และเลอ เพอทิท คาเฟ่ เฉลี่ย 120-200 บาทต่อคน โดยตั้งเป้าลอนดอนสตรีทจะสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 600-800 คนต่อวัน และผลักดันยอดขายในทุกมื้อหลัก รวมถึงช่วงเวลาอื่นๆ เช่น การเป็นจุดพักระหว่างการเดินทาง 
 
ฤทธิ์ประเมินว่า ศูนย์ลอนดอนสตรีทจะคืนทุนภายใน 7-10 ปี และหากภายใน 4 เดือนนับจากนี้ รูปแบบคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ได้ผลตอบรับดี เอ็มเค กรุ๊ป จะลุยโครงการใหม่ในย่านบางนา ซึ่งมีที่ดินรวม 6 ไร่ โดยวางรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส มีทั้งคอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนโดมิเนียม และวางคอนเซ็ปต์การก่อสร้างเป็นเมืองสัญลักษณ์สำคัญ เพื่อสร้างแรงดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย  เช่น  หอเอนปิซา เมืองปิซา ประเทศอิตาลี หอไอเฟล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรืออาจเป็นประเทศเยอรมนี เงินลงทุน 300-500 ล้านบาทต่อโครงการ
 
“เราต้องการสร้างไอคอนในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและสร้างบรรยากาศร้านอาหารที่ออกแบบให้แตกต่างกันในแต่ละโครงการ ซึ่งเราวางแผนอย่างน้อยควรมีครบสี่มุมเมืองของกรุงเทพฯ” ฤทธิ์กล่าว 
 
อันที่จริงก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจร้านอาหารพยายามขยายสาขารูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อเพิ่มแม็กเน็ตดึงดูดลูกค้า อย่างโครงการเอ็มพาร์คของค่ายแมคโดนัลด์ ซึ่งพัฒนาร่วมกับสาขาไดร์ฟทรู เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมการซื้อสินค้าระบบไดร์ฟทรูและแก้ปัญหาการหาพื้นที่เช่าในคอมมูนิตี้มอลล์  
 
ปัจจุบัน แมคโดนัลด์ เอ็มพาร์ค มีหลายสาขา เช่น สาขารังสิต สาขาลาดพร้าว สาขากาญจนบุรี สาขานครสวรรค์  
 
ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจอื่นๆ เริ่มหันมาลงทุนโครงการคอมมูนิตี้มอลล์มากขึ้น เช่น บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เตรียมเปิดโครงการ “เดอะ แจส รามอินทรา” ปลายปีนี้ หลังจากเปิด เดอะแจส วังหิน สาขาแรก โดยใช้ศูนย์ไอทีจังชั่นและศูนย์ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่มีมากกว่า 1,000  ร้านเป็นแม็กเน็ตใหม่
 
หรือกรณีกลุ่ม เอส.บี. เฟอร์นิเจอร์ จับมือกับ “เคอีแลนด์” เปิดโครงการ เดอะ คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ เพื่อเจาะกลุ่มครอบครัวบริเวณถนนราชพฤกษ์ ปิ่นเกล้า รัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง นนทบุรี ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยรวมกว่า 1.4 ล้านคน หรือกว่า 500,000 ครัวเรือน และมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรระดับบนเกิดขึ้นจำนวนมาก
 
แม้กระทั่งธุรกิจน้ำมันอย่าง ปตท. ซึ่งเร่งขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างเข้มข้นและร่วมทุนกับกลุ่มเคอีแลนด์ผุดโครงการ “เดอะ คริสตัล พีทีที ชัยพฤกษ์” มีสถานีบริการน้ำมันโฉมใหม่เป็นจุดขาย เพิ่มจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีค่ายอาร์พีซีจี เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมัน “เพียว” ล่าสุด ประกาศเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) จาก 23% เป็น 48% เพื่อรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอมมูนิตี้มอลล์เพื่อขยายสาขาปั๊มน้ำมันชุมชน หลังจากสาขาทดลองที่ถนนรามคำแหง, รังสิต คลอง2 และราชพฤกษ์ ทำยอดขายเติบโตสูงมาก
 
ธงชัย ตันติสาธิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบุกเบิกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ในไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกรูปแบบคอมมูนิตี้ มอลล์ ยังสามารถพัฒนาออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันมีโครงการเปิดให้บริการมากกว่า 100 แห่ง และเปิดใหม่ทุกปี 30-50 แห่ง อย่างไรก็ตาม จะมีเพียง 15-20% ที่ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และมากกว่าครึ่งต้องปิดตัว เพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้า 
 
แน่นอนว่า “ลอนดอนสตรีท” กำลังท้าพิสูจน์สูตรธุรกิจใหม่ “คอมมูนิตี้ฟู้ดมอลล์” ที่มีเดิมพันทั้งเงินทุนก้อนโตและแผนธุรกิจในอนาคตด้วย 
 
 
Relate Story