วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > หลุมพรางของโซเชียลมีเดีย อิทธิพลด้านลบที่เกิดกับผู้ใช้งาน

หลุมพรางของโซเชียลมีเดีย อิทธิพลด้านลบที่เกิดกับผู้ใช้งาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว เมื่อรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันไม่อาจตัดขาดโลกโซเชียลมีเดียได้ เมื่อเหล่าวิศวกรผู้ออกแบบ นักพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมเมอร์ ได้ย่อส่วนและรวบรวมความสะดวกสบายมาไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

แม้โลกโซเชียลจะมีข้อดีนานัปการ ทั้งการย่นระยะทางการสื่อสารระหว่างบุคคลที่อยู่คนละฟากฝั่งโลกให้เหมือนอยู่ใกล้กัน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทว่า อีกด้านหนึ่งที่เหล่านักพัฒนาไม่ได้สร้างไว้คือ เครื่องมือป้องกันกับดักหรือหลุมพรางที่เกิดขึ้นในโลกคู่ขนานแห่งนี้ เพราะปัจจุบันโลกเสมือนที่ว่า ไม่เพียงแต่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม อีกแง่มุมหนึ่งคือ มีข่าวสารปลอมว่อนอยู่ทั่วทุกซอกมุมบนโลกอินเทอร์เน็ต

มิติด้านบวกที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ชาญฉลาดคือ ค้นคว้าหาข้อมูล สำหรับการวิเคราะห์ แยกแยะ และประมวลผลด้วยมันสมองของแต่ละบุคคล ภายใต้พื้นฐานการหาข้อเท็จจริง

ขณะที่มิติด้านลบ คือ สร้างข้อมูลและปั่นกระแสเพื่อให้ผู้ใช้งานบางส่วนเชื่อข้อมูลเหล่านั้นโดยปราศจากการวิเคราะห์ใดๆ นี่อาจเป็นหลุมพรางที่เกิดในโลกโซเชียล

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมาจากกรอบความเชื่อเดิมที่เป็นเสมือนรากเหง้าในอุดมคติของแต่บุคคล อันนำมาสู่การ “เลือก” และ “คลิก” เพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้นๆ

กำเนิดผู้พิพากษาบนโลกโซเชียล
อิทธิพลในแง่ลบที่ตามมาหลังจากหลุมพรางของโซเชียลเริ่มทำงานคือ เปลี่ยนผู้คนให้กลายเป็นประหนึ่งผู้พิพากษาทางสังคมภายในเวลาอันรวดเร็ว หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย มักตัดสินชีวิตของบุคคลอื่นจากข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนโลกออนไลน์ ความง่ายดายของการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้งานแชร์ข้อมูลเดิมๆ ซ้ำๆ พร้อมกับความคิดเห็นแบบเปิดเผยที่ขาดการตระหนักถึงผลที่จะตามมาต่อชีวิตผู้อื่น เพียงเพราะ “เห็นเขาแชร์กัน” และต้องการที่จะมีส่วนร่วมในกระแสสังคมในขณะนั้น ท้ายที่สุดความจริงปรากฏและพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดของบุคคลเพียงไม่กี่คน เราจะพบวลีซ้ำซากที่บ่งบอกถึงความมักง่ายอันไร้สามัญสำนึกว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

อ่านน้อยลง พาดหัวยืนหนึ่ง
หลุมพรางของโซเชียลมีเดียที่สร้างอิทธิพลแง่ลบ ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย กลายเป็นนักอ่านที่มีโควตาไม่เกิน 2 บรรทัด

แม้ว่าหลายปีก่อน จะมีคำพูดว่า คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด และผลสำรวจการอ่านของประชากรในปี 2561 ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน ตัวเลขดังกล่าวอาจต้องแยกแยะระหว่างการอ่านเอาเรื่อง การอ่านหนังสือทั่วไป เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย ประวัติศาสตร์ ทว่า การอ่านบนโลกออนไลน์ดูจะยังไม่มีอะไรแตกต่าง

เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้โซเชียลในประเด็นต่างๆ นั้น จะเป็นไปในทิศทางที่แสดงถึงความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ภายใต้ข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหมดในเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนสื่อนั้นๆ

แน่นอนว่า มุมหนึ่งเราอาจรู้สึกตลก ว่าทำไมบุคคลคนนี้ ไม่เข้าใจ แสดงถ้อยคำด่าทอต่อว่า หรือแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักและน่าเป็นกังวลคือ การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ “การอ่านน้อย”

ขาดการวิเคราะห์ข้อมูล
คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตผ่านทุกอุปกรณ์สูงถึง 9 ชั่วโมง 01 นาทีต่อวัน และใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมีเดียสูงถึง 2 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 24 นาที

การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ใช้งานเท่านั้น แต่สร้างผลกระทบวงกว้างต่อสังคมโลก เพราะต้องยอมรับว่าโลกโซเชียลไม่ต่างอะไรกับการสื่อสารทางเดียว เมื่อสารถูกสร้างขึ้นจากผู้สร้าง ในขณะที่ผู้รับทำหน้าที่เพียงรับรู้ข้อมูล อาจมีการส่งต่อหรือไม่ก็ได้ และมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย เลือกที่จะรับสารแต่เพียงแง่มุมเดียว ทำให้เกิดการครอบงำความคิด แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะไม่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ว่าข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดเป็นเท็จ มีเพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถวิเคราะห์ได้ แต่เมื่อระบบความคิดที่ถูกครอบงำจากข้อมูลเพียงด้านเดียวแล้ว ผู้ใช้งานคงไม่ต่างอะไรกับปัญญาประดิษฐ์ ที่จะหลงเชื่อข่าวปลอม ข้อมูลเท็จที่ถูกเผยแพร่ในโลกโซเชียลอย่างง่ายดาย

ขยายวงความแตกแยก
แม้สังคมไทยในปัจจุบันจะอยู่ในภาวะแตกแยก โดยเฉพาะในแง่การเมืองที่มีความเห็นแตกและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทว่า เทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็พบความแตกแยกทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง และโลกเสมือนที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย

ต้องยอมรับว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดูจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมีการเปิดเผยความคิดเห็นผ่านทางโลกออนไลน์ เพราะข้อความที่ถูกถ่ายทอดออกมากลายเป็นสิ่งปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความเกลียดชัง ความไม่พอใจที่มีต่ออีกฝ่าย

ในขณะที่เราใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ค้นหาข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสินค้าที่ต้องการ ขณะเดียวกันตัวเราเองอาจเป็นเหมือนสินค้าของแอปพลิเคชันนั้นๆ ก็เป็นได้

แม้เราจะยอมรับโดยดุษณีว่า เทคโนโลยีที่มีอยู่บนโลกในยุคนี้ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ทว่าเทคโนโลยีเดียวกันก็สร้างปัญหาให้เราและสังคมเช่นเดียวกัน ถ้าเพียงแต่เราไม่ตกหลุมพรางกับดักของโลกออนไลน์ ที่สร้างอิทธิพลด้านลบให้แก่ผู้ใช้งานที่ก้มหน้าเชื่อข้อมูลที่ได้รับอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ใส่ความเห็น