วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > On Globalization > กฎหมายใหม่ “โควตาบังคับ” ในเยอรมนี เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน

กฎหมายใหม่ “โควตาบังคับ” ในเยอรมนี เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน

Column: Women in Wonderland

จากรายงาน Global Gender Gap Report ประจำปี 2020 ซึ่งจัดอันดับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศใน 4 ด้าน คือ โอกาสและการมีส่วนร่วมในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และการเมือง จัดทำโดย World Economic Forum พบว่า 2 ประเทศที่ยังคงส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศมากที่สุดยังคงเป็นไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ สำหรับเยอรมนีในปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก จาก 153 ประเทศ

แม้ว่าในปี 2020 เยอรมนีจะอยู่ในอันดับที่ 10 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีขึ้นถึง 4 ลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2018 แต่หากเทียบการจัดอันดับในแต่ละด้านจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา อันดับของเยอรมนีลดลงทุกปี ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลของเยอรมนีเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมมากขึ้น

นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีหญิง 4 สมัยติดต่อกันของเยอรมนี และในการเลือกตั้งครั้งหน้าสิ้นปี 2021 เธอก็ประกาศชัดแล้วว่า จะไม่เล่นการเมืองอีกต่อไป ผลงานที่โดดเด่นของนาง Angela Merkel คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซน ซึ่งเธอสามารถทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีขยายตัวได้ถึง 3% และยังทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าได้เป็นอันดับ 1 ของยุโรป เรื่องนี้ส่งผลให้คนในเยอรมนีมีงานทำมากขึ้น และเยอรมนีก็กลายเป็นเสาหลักที่สำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจในยุโรป

ด้วยผลงานที่โดดเด่น ทำให้นาง Angela Merkel ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำหญิงคนที่ 2 ของโลกที่ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก และทรงอิทธิพลมากสุดด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสาร Forbes จะยกให้นาง Angela Merkel เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน และหากจะดูในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกโดยไม่แบ่งตามเพศ นาง Angela Merkel ก็ถูกจัดให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 4 เป็นรองเพียงแค่ Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน Vladimir Putin ประธานาธิบดีของรัสเซีย และ Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2020 ที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก นาง Angela Merkel ก็สามารถทำผลงานได้ดีและโดดเด่นเช่นกัน ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 สะสมสูงที่สุดในโลก นาง Angela Merkel เป็นผู้นำหญิงที่กล้าออกมาประกาศความจริงที่โหดร้ายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งนี้ว่า ชาวเยอรมันประมาณ 60-70% (ประมาณ 58 ล้านคน) อาจจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 และตอนนี้ยังไม่มีทางรักษา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ชะลอการแพร่ระบาด เพื่อซื้อเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญคิดหาวิธีการรักษาที่ได้ผล ดังนั้นหากประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ปฏิบัติตามคำแนะนำและกฎระเบียบที่ภาครัฐกำหนด เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม ฯลฯ ก็จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่เลวร้ายมาก

นาง Angela Merkel จึงตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศเป็นเวลา 1 เดือน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมลดลง และเวลานี้เยอรมนีก็กำลังเผชิญกับการระบาดในระลอกที่ 2 ซึ่งครั้งนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมากกว่าการระบาดในครั้งแรกถึง 3 เท่า นาง Angela Merkel จึงประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ โดยให้ปิดร้านค้าที่ไม่จำเป็นและโรงเรียนจนถึงวันที่ 10 มกราคม

จากผลงานการชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 สะสมในเยอรมนี ทำให้นาง Angela Merkel ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดผู้นำหญิงประจำปี 2020 ที่จัดการเรื่องการระบาดได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่านาง Angela Merkel จะได้รับการยอมรับจากคนเยอรมัน รวมถึงผู้คนจากทั่วโลกว่า เธอเป็นสุดยอดผู้นำหญิงที่สามารถพาประเทศเยอรมนีฝ่าวิกฤตมาได้ทุกครั้ง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า แม้ว่าเยอรมนีจะมีผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงและเป็นผู้นำหญิงที่ประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงเยอรมันเช่นกัน

มูลนิธิ Allbright ของประเทศสวีเดนและเยอรมนีเปิดเผยตัวเลขว่า ผู้หญิงได้รับการว่าจ้างงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทชั้นนำในอเมริกาเพียงแค่ 28.6% เท่านั้น และ 24.9% ในสวีเดน 24.5% ในสหราชอาณาจักร และ 22.2% ในฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงเพียงแค่ 12.8% เท่านั้นที่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัทชั้นนำในเยอรมนี

ปัญหาความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานทำให้รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจใช้กฎหมาย “โควตาบังคับ” เพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงให้เข้ามาเป็นผู้บริหารหญิงในบริษัทชั้นนำของประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านกฎหมายโควตาบังคับ โดยกฎหมายฉบับนี้จะบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างมากกว่า 2,000 คนขึ้นไป และมีการจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีคณะผู้บริหารมากกว่า 3 คนขึ้นไป จะต้องมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่ในเยอรมนีที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ มีอยู่ด้วยกันประมาณ 70 บริษัท ซึ่งมี 30 บริษัทเท่านั้นที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง

ขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมนีไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ภาคเอกชนในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงาน รัฐบาลเยอรมนีเองก็จะทำด้วยเช่นกัน โดยในองค์กรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่อยู่นั้นจะมีความเข้มข้นในส่วนของโควตาบังคับมากกว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งองค์กรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลเยอรมนีถือหุ้นใหญ่ มีอยู่ด้วยกันประมาณ 90 หน่วยงาน อย่างเช่นการรถไฟแห่งชาติ (the National Railway Operator) และหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศแห่งชาติ (the National Air Traffic Control Agency) เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มักจะมีทีมผู้บริหารมากกว่า 2 คนอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลเยอรมนีจะใช้โควตาบังคับด้วยเช่นกัน โดยหน่วยงานใดที่มีผู้บริหารมากกว่า 2 คนจะต้องมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คนเช่นกัน

การที่รัฐบาลเยอรมนีมีความคิดเรื่องการใช้โควตาบังคับเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานนั้นก็เพราะว่า ในปี 2015 รัฐสภาเยอรมนีได้ผ่านกฎหมายที่ประกาศให้บริษัทชั้นนำต่างๆ มีผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในตำแหน่งหัวหน้างาน ซึ่งกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยเพียงแค่เพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งบริหารเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมเดิมของหลายบริษัทอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีเองก็เชื่อว่ากฎหมายโควตาบังคับนี้น่าจะประสบความสำเร็จเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ประกาศใช้ ต้องรอให้รัฐสภาเยอรมนีเห็นชอบก่อน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเยอรมนีมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการผ่านรัฐสภา เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในยุโรป ประชาชนมีงานทำเพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กลับมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะจำนวนผู้หญิงในระดับบริหารหรือการเป็นหัวหน้างานในระดับสูง ดังนั้นหากเยอรมนีสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็จะแสดงให้เห็นว่าเยอรมนีกำลังจะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่สำหรับโลกในอนาคต

ในขณะเดียวกันการใช้โควตาบังคับก็น่าจะช่วยให้ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงลดลงได้อีกด้วย ตอนนี้ช่องว่างของรายได้ในเยอรมนีอยู่ที่ 20% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 14% นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน ว่ารัฐบาลเยอรมนีต้องรีบแก้ไขปัญหานี้

ดังนั้นกฎหมาย “โควตาบังคับ” จึงน่าจะเหมาะสมในการแก้ไขปัญหานี้ และในสถานการณ์นี้ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หลายบริษัทมีการปลดพนักงานและผู้บริหาร ดังนั้นการเริ่มต้นใช้กฎหมายโควตาบังคับในช่วงนี้อาจจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานได้อีกด้วย

ต้องติดตามต่อว่ากฎหมายโควตาบังคับในเยอรมนี รัฐสภาเยอรมนีจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร และหากรัฐสภาเห็นด้วย จะเริ่มบังคับใช้เมื่อไร หรือในกรณีที่รัฐสภาไม่เห็นด้วย รัฐบาลเยอรมนีอาจมีการปรับลดความเข้มงวดบางข้อลง เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้น่าจะนำเข้ารัฐสภาในเร็ววันนี้

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/global-team-1238048

ใส่ความเห็น