วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ภาระหนี้ครัวเรือน แผลเรื้อรังสังคมไทย

ภาระหนี้ครัวเรือน แผลเรื้อรังสังคมไทย

ปัญหาว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนของสังคมไทยเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งติดตามมาด้วยภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้รายได้ของแต่ละครัวเรือนหดหาย ท่ามกลางค่าใช้จ่ายปกติและภาระหนี้ที่ยังดำรงอยู่ทำให้เกิดการสั่งสมของปัญหากลายเป็นบาดแผลที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

บาดแผลทางเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นจากผลของการแพร่ระบาด COVID-19 นอกจากจะอยู่ที่ประเด็นว่าด้วยประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐแล้ว ข้อเท็จจริงว่าด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องทยอยปิดหรือเลิกกิจการ ก่อให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และนำไปสู่ปัญหาการว่างงานติดตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง และจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในอนาคต ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับบาดแผล จากปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ได้สะสมมาก่อนหน้า และกลายเป็นบาดแผลเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการรักษาเยียวยาอย่างจริงจัง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ก็คือหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหาใหม่ของเศรษฐกิจไทย เพราะก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยก็อยู่ที่ระดับร้อยละ 80.2 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่แล้ว และเมื่อมีการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จึงได้ปรับตัวสูงขึ้นไปสู่ระดับที่ร้อยละ 83.8 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในระดับสูงสุดของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา หลังจากเคยเร่งตัวต่อเนื่องในช่วงปี 2552 จนถึง 2558 จนไปสู่ระดับร้อยละ 81.2 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยและค่อนข้างทรงตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่ควรพิจารณานับจากนี้อยู่ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะยังปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสข้างหน้า และมีการคาดหมายว่า GDP ของไทยจะหดตัวลงจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 88 ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะไปสู่จุดสูงสุดใหม่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ระดับประมาณร้อยละ 90 ของ GDP เลยทีเดียว

วิกฤตหนี้ครัวเรือนไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นภาพสะท้อนที่ตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงินและปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย ที่ขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาภาครัฐและสถาบันทางการเงินจะมีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มธุรกิจ

ภาระหนี้ครัวเรือนที่ดำเนินอยู่นี้จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เพราะในระยะต่อไปเมื่อระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ความน่ากังวลต่อประเด็นว่าด้วยหนี้ครัวเรือนในห้วงเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของหนี้ในปัจจุบัน แต่กลับเป็นความเปราะบางของภาระหนี้ที่ได้สะสมไว้มากในช่วงก่อนหน้า โดยประเด็นที่น่ากังวลสะท้อนจากข้อเท็จจริงที่ว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคในรูปสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถ และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาการบริโภคผ่านการก่อหนี้มาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาหนี้ของกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นมากที่สุดจากวิกฤต COVID-19 พบว่ามีหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงกว่า 1 ใน 4 นอกจากนั้น ยังต้องจับตาปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของครัวเรือนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จึงจำเป็นต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่น่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ไม่ถูกนับอยู่ในฐานข้อมูลที่ใช้คำนวณหนี้ครัวเรือนของทางการอีกด้วย

ข้อมูลว่าด้วยอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.95 จากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง แรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น โดยเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.15 สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 2.79 และ 2.73 ตามลำดับ ขณะเดียวกันแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นในไตรมาสนี้เช่นกันที่ร้อยละ 9.4 และ 7.9 ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงงานที่มีการศึกษาสูงและอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมจำนวน 4.88 แสนคน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนภาคบังคับที่ร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งการว่างงานในระบบที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าแรงงานในระบบเมื่อตกงานจะเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกระบบเพิ่มขึ้น และจะมีผลต่อผลิตภาพแรงงานด้วย

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นบาดแผลเรื้อรังที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยหนทางในการจัดการจึงอยู่ที่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีการประสานงานของทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กระบวนการลดทอนหนี้ครัวเรือนของภาคครัวเรือนเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะสั้นอาจต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูรายได้และงบดุลของครัวเรือน ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุกโดยเฉพาะกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย

บางทีนี่อาจเป็นเวลาที่สังคมไทยจะต้องร่วมถกแถลงปัญหาเชิงโครงสร้างว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง แทนที่จะซุกไว้ใต้พรมอย่างที่เคยดำเนินผ่านมา

ใส่ความเห็น