วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ครัวสร้างชาติ ครัวไทยสู่โลก แบบ คสช.

ครัวสร้างชาติ ครัวไทยสู่โลก แบบ คสช.

 
นโยบายสาธารณะจำนวนมาก ที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นเพียงนโยบายขายฝัน หรือประชานิยม และเป็นมรดกของรัฐบาลในชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen of the World) รวมถึงการวาดหวังจะเป็นศูนย์กลางแฟชั่น ศูนย์กลางการบิน ฯลฯ ซึ่งเคยกำหนดให้เเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
 
แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษ และเปลี่ยนพ้นผ่านความเป็นไปมาหลายรัฐบาลจนถึงรัฐบาลยุคสมัยแห่ง คสช. ซึ่งประกาศท่าทีที่พร้อมสนับสนุนให้มีนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกอาหารไทยที่ยังคงให้การส่งเสริมนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย
 
รัฐบาลชุด คสช. วางมาตรการที่จะเข้ามาสานต่อโครงการเพื่อให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในในเวทีโลกมากขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประการ คือ 1. การสร้างนวัตกรรมและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 2. การพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารที่ล้ำสมัย เข้าถึงได้ง่ายและตอบสนองทันต่อเหตุการณ์ 3. การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหารสู่สากล และ 4. การพัฒนาสมรรถนะสถาบันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ โดยมีแผนดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 
 
ขณะที่เพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปีนี้ว่ามีมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปีนี้สถาบันเร่งผลักดันโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยทั้ง 3 โครงการมุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยเน้นให้ไทยเป็น “ครัวคุณภาพของโลก” 
 
ทั้งนี้คณะกรรมการติดตามนโยบายด้านอาหารไทยและครัวไทยสู่ครัวโลก ได้หารือเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 2 ปี 2555-58 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยในด้านคุณภาพการผลิต มาตรฐานสินค้าและคุณค่าโภชนาการ โดยจะส่งเสริมผู้ประกอบการใน 3 กลุ่มคือ 1. ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 2. ผู้ผลิตอาหารส่งออก ให้ยกระดับการผลิตสินค้าพร้อมรับประทานมากขึ้น และ 3. ผู้ผลิตเครื่องปรุงรส
 
ขณะเดียวกันผลงานที่ถือเป็นความสำเร็จของภาครัฐ ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วคือผลงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ได้แก่โครงการ Thai Delicious หรือศาสตร์แห่งรสชาติอาหารไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”     
 
โดยโครงการนี้ ได้พัฒนานวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถกำหนดมาตรฐานด้านรสชาติอาหารไทยให้ได้คุณภาพที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิมของไทย ภายใต้แนวคิด “อาหารไทยไม่ว่าครัวที่ไหน ก็ต้องมีรสชาติไทยเดียวกัน” 
 
ที่สำคัญและน่าสนใจในโครงการนี้ ก็คือความพยายามพัฒนาสูตรอาหารไทยและผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง 11 รายการ ได้แก่เมนู ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น ผัดไทย แกงมัสมั่น ข้าวซอย ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แกงเหลือง และซอสไก่กอและ ผ่านการชิมจากเชฟ ชุมพล แจ้งไพร เชฟมือหนึ่งด้านอาหารไทย และเป็นหนึ่งในเชฟประจำรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย
 
ทั้งนี้คาดว่า โครงการนี้จะช่วยกระจายเมนูอาหารไทยไปสู่ครัวโลกได้ ภายใต้รสชาติมาตรฐานเดียวกันและตลาดและความนิยมอาหารไทยในต่างแดนจะกว้างขึ้น และเป้าหมายการเป็นครัวโลกอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
 
อีกด้านของความพยายามที่ปรากฏ อยู่ที่ความเคลื่อนไหวของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้ริเริ่มโครงการไทยดิลิเชียสเพื่อใช้เป็นกลไกในการดำเนินงานภายใต้โครงการ “นวัตกรรมครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานด้านรสชาติอาหารไทยให้ได้คุณภาพที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิมด้วยการนำองค์ความรู้ด้านคหกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และการทดสอบทางประสาทสัมผัสมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน
 
การขยายผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการไทยดิลิเชียส สู่ร้านอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น พบว่านอกจากร้านอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ยังพบว่านักธุรกิจญี่ปุ่นมีความต้องการลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยในลักษณะแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น บริษัท ยามาโมริ จำกัด และบริษัท ซากุระ ดินนิ่ง จำกัด
 
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดอาหารไทย
 
ขณะที่การประกาศรุกตลาดต่างประเทศของผู้ประกอบการด้านอาหารค่ายต่างๆ ของไทยก็ใช้กลยุทธ์การช่วงชิงพื้นที่ในตลาดโลก อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร องค์กรตัวอย่าง จิ๊กซอว์การเป็น “ครัวของโลก” อย่างชัดเจน ภายใต้การนำของอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร ที่มีการเติบโตของธุรกิจการส่งออกสินค้าพร้อมรับประทานขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก และทุกผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต 
 
ตามแนวคิด From Farm to Table ตลอดช่วงของการผลิตและการจำหน่าย ขอบเขตการประกันคุณภาพไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องความปลอดภัยของอาหารเท่านั้น หากแต่คำนึงถึงคุณภาพด้านรสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการคัดเลือกวัตถุดิบของผู้ผลิต คุณภาพของขบวนการผลิต การขนส่ง และการจำหน่ายสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค
 
การจะก้าวสู่การเป็นครัวของโลกได้ ผู้ประกอบการด้านอาหารจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผลักดันยอดส่งออกอาหารของไทยได้ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องรักษาฐานตลาดส่งออกเดิมให้ได้ รวมถึงเร่งพัฒนาการเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งประเทศส่งออกหลักที่สำคัญ เช่น อเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ อย่างแอฟริกา รัสเซีย ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เพราะมีกำลังซื้อสูง และเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารสำคัญของโลก
 
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนลงทุนระยะ 3 ปี (2557-2559) วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยแบ่งเงินลงทุน 60% สำหรับขยายกำลังการผลิตใน 12 ประเทศที่มีการลงทุนอยู่แล้ว อาทิ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน รัสเซีย อินเดีย ตุรกี อังกฤษ อีก 40% จะลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเน้นขยายสินค้าแบรนด์ของบริษัท และเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยอีก 10 ปีข้างหน้าซีพีเอฟตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาท
 
นอกจากเน้นคุณภาพ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” เป็นอันดับแรก ด้วยเชื่อว่าการสร้างคนเก่งและคนดี มีวัฒนธรรมในการทำงานแบบเดียวกัน จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจโลกของซีพีเอฟได้อย่างแน่นอน
 
ขณะที่ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแช่แข็งและอาหารทะเลระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งคนไทยจะรู้จักในแบรนด์ ปลาเส้นตรา Fishoและปลาทูน่ากระป๋องตรา Sealect 
 
จากก้าวเล็กๆ ของโรงงานปลากระป๋องสายพันธุ์ไทยที่ก้าวอย่างมั่นใจสู่ครัวโลก ภายใต้การกุมบังเหียนของธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ใน 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า, กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง, กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง, กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน, กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยระยะยาวตั้งเป้าจะมียอดขายโตถึง 5,000  ล้านเหรียญ และในปี 2020  ตั้งเป้าไว้ที่ 8,000 ล้านเหรียญในปี 2020
 
ด้าน ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ลุยตลาดโลก โดยได้เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจชาวโปแลนด์ ด้วยการจัดตั้งบริษัท ส.ขอนแก่น (โปแลนด์) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหาร ‘แซ่บ เรสเตอรองต์’ ในกรุงวอร์ซอร์ ประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยพื้นเมืองสไตล์ฟาสต์ฟู้ด ที่เน้นนำเสนอเมนูอาหารไทยยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ข้าวราดแกงเขียวหวาน ส้มตำ ไก่ย่าง เป็นต้น
 
โมเดลธุรกิจดังกล่าวถือเป็นแผนแม่บทด้านการลงทุนของ ส. ขอนแก่น ฟู้ดส์ ต่อการขยายการลงทุนดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยพื้นเมือง ‘แซ่บ เรสเตอรองต์’ ในตลาดยุโรป ซึ่งบริษัทฯ มีแผนนำโมเดลไปขยายธุรกิจร้านอาหารในประเทศต่างๆ แถบยุโรปเพิ่มขึ้น 
 
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ได้พาเหรดสู่เวทีครัวโลก และรวมถึงตลาดอาเซียนที่กำลังจะขยายเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนที่ดำเนินไปอย่างคึกคักจากผู้ประกอบการหลายราย 
 
คาดการณ์กันว่าภายในปี 2560 ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารถึง 2 ล้านล้านบาท และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี
 
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถส่งออกอุตสาหกรรมอาหารได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงขึ้นอีกปีละ 10% โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ    
 
หนทางครัวไทยสู่ครัวโลกเริ่มมีสีสันมากยิ่งขึ้นจากการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่พร้อมเสิร์ฟเมนูไทยไปสู่ครัวโลก ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารหลักของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 800,000 ล้านบาทต่อปี 
 
อาหารไทยเป็นที่รู้จักและโด่งดังทั้งในเรื่องรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ นโยบายส่งเสริมเพื่อนำครัวไทยก้าวสู่ครัวโลก โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานอาหารไทย จะประสบผลสำเร็จแค่ไหนคงต้องติดตามดู