วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > On Globalization > อบเชย: Cinnamon

อบเชย: Cinnamon

 
ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับเครื่องยาสมุนไพรที่ชื่อ อบเชย หรือ cinnamon กันอยู่บ้างใช่ไหมคะ เพราะนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาโดดเด่น เป็นส่วนประกอบในสูตรตำราอาหารคาวหวานหลากหลาย บรรดาคอกาแฟก็คงได้ลิ้มชิมรส cinnamon ผ่านกาแฟ cappuccino  ถ้วยโปรดกันมาไม่น้อยเช่นกัน
 
แต่ความเป็นมาและเป็นไป รวมถึงความสำคัญของอบเชย: Cinnamon นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวข้างต้นนี้เท่านั้นนะคะ หากยังมีมิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของศรีลังกาด้วย
 
cinnamon เป็นสมุนไพรที่มนุษย์รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานาน ซึ่งสามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงในอารยธรรมโบราณ หรือแม้กระทั่งมีการบันทึกการใช้ประโยชน์ของ cinnamon ไว้ในมหาคัมภีร์ของชาวฮีบรู กันเลยทีเดียว
 
ขณะที่ในอารยธรรมกรีกและอารยธรรมอียิปต์ หรือกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ก็กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของ cinnamon โดยในครั้งนั้น cinnamon ถูกขับเน้นในมิติของเครื่องหอมสำหรับบูชาเทพเจ้า และมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องบรรณาการสำหรับเจ้าผู้ครองแคว้น ซึ่งทำให้อบเชยกลายเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงไปโดยปริยาย
 
แม้ว่า cinnamon จะเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีมูลค่าราคาแพง แต่แหล่งที่มาของสินค้านำเข้าสู่อารยธรรมโบราณชนิดนี้กลับถูกปกปิดเป็นความลับจากเหล่าพ่อค้าคนกลางจากดินแดนอาระเบีย ที่สัญจรและทำการค้าอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อผลในการผูกขาดการค้าเครื่องเทศนี้ต่อไป
 
ความลึกลับในแหล่งกำเนิดของ cinnamon ในครั้งนั้นติดตามมาด้วยเรื่องราวความยากลำบากกว่าจะได้สินค้าชนิดนี้มา ถึงขนาดที่มีการผูกโยงเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์ว่าด้วยการใช้ cinnamon สร้างรังของเจ้านกยักษ์ ซึ่งทำให้กว่าจะได้ cinnamon มาจำหน่ายเป็นสินค้าต้องผจญและเสี่ยงภัยจากสิ่งมีชีวิตในจินตนาการนี้ ซึ่งผลักให้ cinnamon มีสนนราคาแพงตามไปด้วย
 
ความพยายามที่จะเสาะหาแหล่งที่มาของ cinnamon เป็นเรื่องราวที่ค้างคาจิตใจของผู้คนในโลกตะวันตกมาเนิ่นนาน แม้แต่มาร์โค โปโล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำพาความรู้จากตะวันออกไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้โลกตะวันตก ยังไม่กล้าที่จะระบุอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับ cinnamon นี้เลย
 
ความลึกลับเกี่ยวกับ cinnamon นี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหาว่าด้วยการกีดกันทางการค้าตั้งแต่ยุคโบราณ เพราะกลุ่มพ่อค้าผู้ผูกขาดการค้าเครื่องเทศต่างพยายามหาทางเข้าถึงแหล่งที่มาของ cinnamon และเริ่มขยายความสนใจไปสู่การแสวงหาเส้นทางอื่นๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่เอเชียของมหาอำนาจตะวันตกในเวลาต่อมา
 
ความกระจ่างเกี่ยวกับ cinnamon เริ่มคลี่คลายเมื่อกองเรือโปรตุเกสเดินทางมาถึงศรีลังกาในช่วงปี 1518 โดยในครั้งนั้นกองเรือโปรตุเกสถึงกับระบุในบันทึกการเดินทางว่า กลิ่นหอมของอบเชยขจรไกลไปถึงนอกชายฝั่ง และผืนแผ่นดินแห่งนี้อุดมด้วยต้น cinnamon สุดลูกหูลูกตา
 
บันทึกข้อความที่ว่านี้ ดูจะไม่ใช่สิ่งเกินเลยเพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า  5 ศตวรรษ แต่พื้นที่ใจกลางเมืองหลวงโคลัมโบของศรีลังกา ยังมีพื้นที่ที่ถูกเรียกขานว่า Cinnamon Garden เป็นประจักษ์พยานอยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ โดยเฉพาะโรงแรมหรูกลางเมือง ซึ่งก็ใช้ชื่อ Cinnamon เพื่อบ่งบอกถึงรากฐานความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองและประวัติการณ์ยาวไกล
 
การมาถึงของโปรตุเกส ได้เปลี่ยนวิถีและกระบวนการผลิต cinnamon ให้เป็นไปในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น พร้อมกับการเข้าครอบครองผูกขาดกิจการค้า cinnamon นี้ไว้เอง ด้วยการสร้างป้อมปราการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของโปรตุเกสเหนือดินแดน Ceilao ในภาษาของพวกเขา ก่อนที่จะรู้จักในนาม Ceylon ในเวลาต่อมา
 
โปรตุเกสสามารถผูกขาดการค้าเหนือดินแดน Ceilao ไว้อย่างยาวนานกว่า 100 ปี ก่อนที่ชาวดัตช์จะแทรกตัวเข้ามาในปี 1638 และร่วมมือกับเจ้าผู้ครองอาณาจักร Kandy ช่วยกันผลักดันโปรตุเกสให้ต้องถอยร่นพ้นไปจากเกาะ แล้วก็ถึงเวลาที่ดัตช์จะกลายเป็นผู้ผูกขาดการค้า cinnamon รายใหม่ไปในที่สุด
 
กัปตันเรือชาวดัตช์บันทึกในรายงานกลับสู่แผ่นดินแม่ระบุว่า นอกจากชายหาดของเกาะแห่งนี้จะอุดมด้วย cinnamon แล้ว คุณภาพของ cinnamon ที่นี่ยังนับเป็น cinnamon คุณภาพดีที่สุดจากโลกตะวันออก ก่อนที่บริษัท Dutch East India จะเข้ามารื้อสร้างระบบการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว cinnamon ให้สนองตอบต่อความต้องการของตลาดและโอกาสทางการค้าที่ขยายตัวได้มากขึ้น พร้อมกับเริ่มเพาะปลูกกล้าไม้รุ่นใหม่เองด้วย
 
ความไพบูลย์ของการค้า cinnamon โดย Dutch East India บนดินแดนศรีลังกา เริ่มได้รับผลกระทบสั่นคลอน เมื่ออังกฤษขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนแห่งนี้ ในช่วงปี 1739 ก่อนที่ลอร์ดบราวน์ (Lord Brown) แห่ง British East India จะจัดตั้งไร่  Anjarakkandy Cinnamon Estate เพื่อปลูกและผลิต cinnamon ในเชิงพาณิชย์ อย่างเป็นระบบในปี 1767 และทำให้ Anjarakkandy Cinnamon Estate กลายเป็นแหล่งผลิต cinnamon แหล่งใหญ่ที่สุดของเอเชีย
 
อังกฤษสามารถครอบครองศรีลังกาและสถาปนาตนเองเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือดินแดนแห่งนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จหลังผลักกองกำลังดัตช์ให้ตกมหาสมุทรอินเดียไปในปี 1796 แต่ความสำคัญในมิติของการผูกขาดการค้า cinnamon ได้เข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอยเสียแล้ว เพราะตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา พ่อค้าโปรตุเกสและดัตช์ได้ส่งให้ cinnamon แพร่กระจายและขยายพันธุ์ไปสู่แหล่งเพาะปลูกอื่นๆ 
 
ขณะที่กาแฟ ชา น้ำตาล และช็อกโกแลต จากซีกโลกต่างๆ เริ่มทยอยเข้ามาเป็นสินค้าหลักบนเรือสินค้าเพื่อนำกลับไปหล่อเลี้ยงความต้องการบริโภคของผู้คนในดินแดนเจ้าอาณานิคมในยุโรปแทนที่เครื่องเทศและสมุนไพรโบราณที่เคยเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนานเสียแล้ว
 
ความสำคัญของ Cinnamon ในฐานะที่เป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมบนดินแดนศรีลังกาจึงเริ่มเสื่อมถอยลง และกำลังจะต้องเปิดทางให้กับพืชพันธุ์ชนิดใหม่ ที่เจ้าอาณานิคมคาดหวังว่าจะสร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำให้ผุดพรายแทรกกายขึ้นมาจากผืนดินแห่งนี้แทน
 
แม้ว่าที่อยู่ที่ยืนของอบเชย หรือ cinnamon จะถูกบีบให้ตีบแคบ แต่ cinnamon จากศรีลังกาก็ยังได้ชื่อว่าเป็น cinnamon คุณภาพดีและมีสนนราคาแพงที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งพร้อมจะส่งกลิ่นหอมรัญจวนให้ได้นึกย้อนถึงวันเวลาที่รุ่งเรืองและมนต์ขลังของพืชพันธุ์ชนิดนี้อยู่ทั่วทุกมุมโลกนะคะ