วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > ไบเทคเร่งขยายมิกซ์ยูส ปรับใหญ่เปิด Food Destination

ไบเทคเร่งขยายมิกซ์ยูส ปรับใหญ่เปิด Food Destination

หลังฉลองใหญ่ครบรอบ 20 ปี ล่าสุด กลุ่มภิรัชบุรีเร่งขยายอาณาจักรมิกซ์ยูส “ไบเทค” อย่างเข้มข้น เพราะไม่ใช่แค่เกมสู้ศึกการแข่งขันย่านบางนาที่มีบิ๊กโปรเจกต์รอบด้าน แต่ยังรวมถึงการช่วงชิงตลาดไมซ์ที่มีเม็ดเงินมากกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ ทั้งศูนย์อิมแพ็ค เมืองทองธานีของกลุ่มบางกอกแลนด์และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของกลุ่มทีซีซีกรุ๊ปต่างทุ่มทุนยกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อยกระดับการเป็นหนึ่งในผู้นำศูนย์เอ็กซิบิชั่นชั้นนำของประเทศและภูมิภาคเอเชีย

ปิติภัทร บุรี กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี เปิดเผยว่า ช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4 จนถึงต้นปี 2563 เป็นการ Revamp ปรับปรุงสถานที่ที่ไบเทค โดยมีโครงการเปลี่ยนชั้น Basement สร้าง Food Destination ในย่านสุขุมวิท-บางนา และวางแผนขยายอีกหลายเฟส มีพื้นที่รีเทลเกือบ 8,000-10,000 ตารางเมตร จากเดิมเป็นเพียงฟู้ดคอร์ต เพื่อปั้นจุดขายใหม่ มีร้านอาหารหลากหลายมากขึ้น และไม่ใช่มากินอย่างเดียว แต่ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ชีวิตอยู่ในไบเทคอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง

“ผมอยากให้มองไบเทคเป็นมิกซ์ยูส ไม่ใช่แค่จัดงานนิทรรศการ ตอนนี้กลุ่มภิรัชบุรีมีอาคารสำนักงาน ภิรัชทาวเวอร์แอทไบเทค ภิรัชคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ซึ่งการใส่รีเทลเหมือนการเพิ่มโอกาส เพื่อทำให้ไบเทคมีความเฟรนด์ลี่มากขึ้น และการทำโครงการไม่ใช่เจาะเฉพาะทาง อยากให้ครอบครัวหรือคนมาดูงานอยู่ได้นานมากขึ้น มาดูงานช่วงเช้า กินข้าวเที่ยงต่อ ตอนบ่ายไปดูอีกงานได้ อยู่ได้ตลอดทั้งวัน”

ขณะเดียวกัน อาณาจักรไบเทคยังมีพื้นที่รอการพัฒนามากถึง 75% ซึ่งสามารถต่อจิ๊กซอว์ต่างๆ เพื่อสร้างอาณาจักรมิกซ์ยูสสมบูรณ์แบบ แต่ปิติภัทรยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนทำให้กลุ่มภิรัชบุรีต้องวางแผนธุรกิจรอบคอบมากขึ้นและเริ่มปรับใหญ่ด้วยการ Revamp ทุกพื้นที่ของไบเทคให้มีศักยภาพสูงสุดก่อน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ตอกเสาเข็มก่อสร้างเมื่อปี 2538 และเปิดให้บริการเมื่อปี 2540 ฝ่าฟันธุรกิจช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จนได้รับการจัดอันดับจากผู้จัดงานทั่วโลกให้เป็น 1 ใน 5 ของศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมที่ดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก จากผลสำรวจในนิตยสารซีอีไอฉบับ Industry Survey ปี 2549

ปัจจุบันไบเทคมีพื้นที่จัดแสดงสินค้าและการประชุมกว่า 70,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 10 ฮอลล์นิทรรศการ (Event Hall) 6 แกรนด์ฮอลล์ (Grand Convention Hall) 28 ห้องประชุม (Meeting Room) สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานสูงสุดถึง 40,000 คนต่อวัน มีการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุม ทั้งงานด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การเจรจาธุรกิจและการค้า อีเวนต์ไลฟ์สไตล์และความบันเทิง มากกว่า 400 งานต่อปี และมียอดผู้ใช้บริการร่วมชมงานรวมกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี

ปนิษฐา บุรี พี่สาวของปิติภัทร ในฐานะกรรมการผู้จัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายผลักดันไบเทคขยับขึ้นสู่การเป็นอันดับ 1 ของตลาดนิทรรศการและการประชุม โดยก่อนหน้านี้ มีการลงทุนพัฒนาพื้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ระยะที่ 2 ตามมาสเตอร์แพลนที่วางไว้ 5 ระยะ เป็นการเพิ่มชนิด Double space and Double capacity จากเดิม 35,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร รวมทั้งขยายพื้นที่ไปฝั่งทิศตะวันตกติดกับรถไฟฟ้า BTS เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อดึงคนเข้าศูนย์มากขึ้น

ผลจากการลงทุนเฟส 2 ทำให้สัดส่วนการเข้าใช้พื้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมขยายตัวมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 52% แบ่งเป็นการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13% การจัดประชุม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 53% และกิจกรรมพิเศษ โดยเฉพาะรูปแบบคอนเสิร์ต ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 85% นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าระยะยาวที่จัดต่อเนื่องทุกปีและมีสัญญาระยะยาวแล้ว เช่น บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ บริษัท ยูบีเอ็ม และบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี

ด้านโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี ล่าสุด อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาโครงการเลเชอร์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ หรือศูนย์รวมสถานที่พักผ่อน และบันเทิงครบวงจร พื้นที่ 600 ไร่ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี มูลค่าการลงทุนรวม 5,000-6,000 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี โดยตั้งเป้าสร้างแหล่งท่องเที่ยว-ความบันเทิง และพัฒนาให้เป็นทัวริสต์เดสทิเนชั่นแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ คาดแล้วเสร็จและเปิดภายใน 2-3 ปีนี้ พร้อมๆ กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี

ขณะที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อิมแพ็คฯ เปิดให้บริการศูนย์การค้าคอสโม บาซาร์ พื้นที่รวมกว่า 80,000 ตารางเมตร ซึ่งแม็กเน็ตหลักๆ ได้แก่ โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ซีนีม่า ซิตี้ 5 โรง ซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลู และศูนย์ออกกำลังกาย Jetts 24 Hour Fitness เพิ่มรูปแบบบริการมิกซ์ยูสและรองรับไลฟ์สไตล์เทรนด์ใหม่ 24 ชั่วโมง

ณ วันนี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีพื้นที่จัดแสดงงานในร่มมากกว่า 150,000 ตารางเมตรประกอบด้วยอาคารหลัก 5 อาคาร ได้แก่ อาคารอิมแพ็ค อารีน่า ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และอาคาร เดอะ พอร์ทอล มีห้องจัดงาน 58 ลานกิจกรรมกลางแจ้ง 2 แห่ง ได้แก่ ลานแอคทีฟ สแควร์ และลานริมทะเลสาบเมืองทองธานี

ส่วนบริการเพื่อการท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้ง เช่น อาคารเดอะ พอร์ทอล, อาคารคอสโม บาซาร์, เอาท์เล็ต สแควร์ ร้านอาหารคุณภาพในเครืออิมแพ็ค 10 ร้าน ร้านค้าและร้านอาหารนานาชาติอีกกว่า 30 ร้านค้า ที่พักในพื้นที่เดียวกับศูนย์ฯ 2 แห่ง คือ โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค โรงแรมมาตรฐาน 4 ดาว ขนาด 380 ห้อง และ ไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค โรงแรมมาตรฐาน 3 ดาว ขนาด 587 ห้อง สถานออกกำลังกาย อิมแพ็ค สปอร์ต คลับ และสนามโกคาร์ท อิมแพ็ค สปีด พาร์ค ที่จอดรถกลางแจ้ง 5 แห่ง และในร่ม 3 อาคาร รองรับรถยนต์ได้ถึง 15,000 คัน

ฟากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งบริษัทเอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือทีซีซีกรุ๊ป ประกาศปิดปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 และใช้งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่จากเดิม 20,000 ตารางเมตร เป็น 70,000 ตารางเมตร ใกล้เคียงกับไบเทค บางนา โดยปรับความทันสมัยทั้งหมด เพื่อเป็น “เซ็นทรัล บิสิเนส ดิสทริกต์” หรือศูนย์เอ็กซิบิชั่นดาวน์ทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในใจกลางเมือง คาดใช้เวลารีโนเวต 3 ปีและกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2565

แน่นอนว่า ช่วงจังหวะการลุยลงทุน สมรภูมิธุรกิจศูนย์ประชุมเริ่มร้อนเดือดต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการต่อยอดขยายแนวรบรอบด้าน 360 องศา ซึ่งโจทย์ใหญ่อยู่ที่ “มิกซ์ยูส” ของฝ่ายไหนจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากกว่ากัน

ใส่ความเห็น