วันเสาร์, มีนาคม 30, 2024
Home > Cover Story > เดือนแห่งการเกษียณ อนาคตของผู้สูงอายุไทย

เดือนแห่งการเกษียณ อนาคตของผู้สูงอายุไทย

เมื่อถึงเดือนกันยายนของแต่ละปี ดูเหมือนว่าบรรยากาศการทำงานของหน่วยงานและองค์กรจำนวนไม่น้อยจะดำเนินไปด้วยท่วงทำนองที่เร่งเร้า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะต้องเร่งใช้จ่ายงบประมาณที่คงค้าง หากยังต้องเร่งจัดวางและเตรียมแผนงานสำหรับการเสนอของบประมาณรอบใหม่ ขณะที่การเปลี่ยนผ่านและพ้นไปของบุคลากรที่กำลังจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี ก็ดูจะทำให้บรรยากาศของแต่ละหน่วยงานระคนไปด้วยความรื่นเริงและเศร้าโศกไปพร้อมกัน

การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรเข้าสู่วัยเกษียณ เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลใจต่อสังคมไทยไม่น้อย เพราะกรณีดังกล่าวส่งผลต่อระบบกลไกทางสังคมที่เคยปลูกสร้างขึ้นจากฐานประชากรแบบพีระมิด และอาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอดีต แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่ดำเนินอยู่นี้กำลังท้าทายรูปแบบการบริหารจัดการและมาตรการทางสังคมใหม่ๆ ซึ่งกลไกภาครัฐที่เล็งผลในระยะสั้นและระยะยาว ได้นำเสนอสู่สาธารณะควบคู่กับความพยายามในการปฏิรูประบบและกฎระเบียบทางราชการเพื่อรองรับกับกรณีดังกล่าวด้วย

ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่าปัจจุบันผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึงร้อยละ 17.52 ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) โดยสมบูรณ์ หรือมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ในระดับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวน 4.6 ล้านคน หรือร้อยละ 42.9 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.6 ล้านคนในปี พ.ศ. 2564

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมโดยรวม เพราะจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 20.5 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด แต่จะมีประชากรวัยแรงงานเพียง 35.18 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีประชากรวัยแรงงานจำนวน 42.74 ล้านคน หรือลดลง 7.6 ล้านคนทำให้โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ

การลดลงของจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานและการเพิ่มของจำนวนประชากรผู้สูงอายุสะท้อนให้เห็นถึงการจัดระบบบริการด้านสุขภาพให้กับประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต้องเผชิญกับปัญหาสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และระบบการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความมั่นคงทางด้านรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่มีฐานะยากจน ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาเรื่องรายได้ การขาดผู้ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการวางแผนรองรับกับสังคมผู้สูงอายุให้ทันท่วงที

สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพราะปัจจุบันพบว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุของโลกสูงขึ้นรวดเร็วเช่นกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านคน ในปี 2015 เป็น 2,000 ล้านคน ในปี 2050 หรือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด

กรณีดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศพยายามผลักดันแนวนโยบายเพื่อเตรียมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตามข้อมูลของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พบว่า แนวทางการรับมือสังคมผู้สูงอายุในต่างประเทศที่นิยมนำมาใช้และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ประกอบด้วยการขยายอายุเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในประเทศสิงคโปร์ ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปีเป็น 67 ปี เกาหลีเกษียณอายุจาก 55 ปี 60 ปี ส่วนญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วนั้นในปี 2568 จะขยายการเกษียณอายุเป็น 65 ปี จากเดิม 62 ปี

ขณะเดียวกันมาตรการว่าด้วยการสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุก็ถูกนำมาใช้ควบคู่กัน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุให้ทำงานต่อ พร้อมกับเงื่อนไขที่ว่าลูกจ้างต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนในประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุโดยจัดตั้งองค์กร “Silver Human Resources Center” เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้ทำงานช่วงสั้นลงหรือทำงานที่ไม่หนักเกินไปนัก

ส่วนประเทศไทย แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาก็เป็นเพียงมาตรการเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จะมีสัญญาณดีอยู่บ้างก็ด้วยการจัดหางานผู้สูงวัย (Smart Job Center) เพื่อส่งเสริมให้มีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่จ้างผู้สูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

แนวความคิดว่าด้วยการเปลี่ยนข้อกำหนดนิยามการเป็นผู้สูงอายุ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับช่วงอายุของบุคคลที่จะได้รับการอุดหนุนด้านสวัสดิการสังคม และการสาธารณสุข ด้วยหวังว่าจะช่วยลดภาระด้านการงบประมาณภาครัฐ ควบคู่กับการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุในวัยที่เพิ่งเกษียณ แต่ยังมีความสามารถและปรารถนาจะทำงานให้มีโอกาสได้ทำงานในองค์กรที่สังกัดหรือองค์กรที่เหมาะสมกับความสามารถต่อไป

ทัศนะดังกล่าวนอกจากจะเป็นประหนึ่งมาตรการที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ในด้านหนึ่งยังเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงว่าด้วยระบบบำนาญ (Pension System) ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ดำรงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของ Working Generation ให้นานขึ้น แทนที่จะผันตัวเองไปสู่การเป็น Retired Generation ที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ได้สร้างความกังวลใจไม่เฉพาะต่อกรณีว่าด้วยความสามารถในการเพิ่มผลผลิตของชาติที่มีแนวโน้มจะลดลงเท่านั้น หากประเด็นว่าด้วยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare Cost) ที่มากขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังได้รับการประเมินว่าอาจเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของชาติในอนาคต

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรสูงอายุในด้านหนึ่ง ได้ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและช่องทางของโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นฐานลูกค้าหลัก ซึ่งตลาดของนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ย่อมมิได้จำกัดเฉพาะเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง global trend และโอกาสในการรุกเข้าเจาะตลาดที่มี niche จำเพาะที่พร้อมจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอนาคตไปด้วยพร้อมกัน

บทบาทและสถานะของผู้สูงอายุในสังคมไทยในวันนี้ อาจจะยังมีความแปลกแยกและถูกผลักออกจากพลวัตทางเศรษฐกิจ-สังคม หากแต่ด้วยข้อเท็จจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้า การหนุนเสริมให้ประชากรผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและเข้าถึงสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน เพื่อให้พวกเขาดำเนินชีวิตและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม แทนที่จะถูกประเมินว่าเป็นภาระของสังคม

สิ่งสำคัญจำเป็นที่กลไกภาครัฐควรให้ความสนใจและจัดวางแผนพัฒนาในเชิงโครงสร้างระยะยาวในการรองรับกับการเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ มากกว่าที่จะดำเนินมาตรการระยะสั้นในลักษณะของเบี้ยยังชีพ ที่อาจไม่ได้หนุนนำให้เกิดพัฒนาการอย่างที่เป็นอยู่

เดือนกันยายนอาจเป็นหมุดหมายที่ทำให้บุคลากรภาครัฐและเอกชนบางแห่งต้องเกษียณอายุ และสิ้นสุดพ้นสภาพจากตำแหน่งแห่งที่ที่เคยดำรงอยู่ แต่ขณะเดียวกันนี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของจังหวะก้าวสู่อนาคตของผู้สูงอายุไทย ขึ้นอยู่กับว่ากลไกรัฐที่เกี่ยวข้องจะประเมินสถานการณ์และกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมเศรษฐกิจของผู้สูงอายุนี้ด้วยวิสัยทัศน์เช่นไร

ใส่ความเห็น